top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

4 เทคนิคจิตวิทยาสัมภาษณ์งานให้ทัชใจ สัมภาษณ์อย่างไรให้ได้งาน



สิ่งที่ตื่นเต้นและยากที่สุดในการสมัครงาน ก็คงหนีไม่พ้น “การสัมภาษณ์งาน” เพราะนักจิตวิทยาองค์กรหลายคนมักจะมีผู้มาปรึกษาอยู่เสมอว่า ต้องสัมภาษณ์งานอย่างไรให้ได้งาน เนื่องจากหลายคนเป็นคนเก่ง ฉลาด บุคลิกดี มีความสามารถ แต่พอสอบสัมภาษณ์ตกม้าตายเสียอย่างนั้น หากคุณเองก็เป็นหนึ่งในคนที่มีปัญหากับการสัมภาษณ์งาน มีปัญหาในการพูด การสื่อสาร ในบทความจิตวิทยานี้ ดิฉันได้ไปค้นหาข้อมูลทางด้านจิตวิทยาองค์กรมาว่า เราต้องมีเทคนิคในการสัมภาษณ์งานอย่างไรถึงจะได้งาน มาฝากกันค่ะ


Nolan Church ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาองค์กร และผู้เชี่ยวชาญด้านการสรรหาบุคลากรให้แก่ Google และ DoorDash กล่าวว่า ผู้สมัครงานหลายคนที่มาสอบสัมภาษณ์งานมักจะมีการซ้อมการสัมภาษณ์มากันเป็นอย่างดีแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาจริงกลับพบว่า ผู้สมัครงานหลายคนพูดเยอะ พูดยาว แต่ไม่มีใจความสำคัญ พูดนานแต่ไม่เข้าประเด็นเสียที


จนทำให้กรรมการสอบสัมภาษณ์เบื่อ และเสียคะแนน ซึ่งผู้สมัครที่ทำคะแนนในการสัมภาษณ์ได้ดี และสร้างความประทับใจให้กับกรรมการ มักจะเป็นผู้ที่พูดหรือแสดงทัศนคติสด ใหม่ เช่น ในการสัมภาษณ์พนักงาน Google คนที่ผ่านการสอบสัมภาษณ์เข้ามาเป็นพนักงานได้นั้น ต้องสามารถแสดงวิสัยทัศน์ให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ หรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่กรรมการ


ซึ่งก็คือผู้บริหารองค์กรรู้สึกว้าว! และเกิดไอเดียใหม่ ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในการสัมภาษณ์งานหรือแสดงทัศนะดังกล่าว ผู้สัมภาษณ์ต้องแสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ หากแสดงออกมาในเชิงข่มผู้อื่น ใช้คำพูดเชิงลบ หรือมั่นหน้ามากเกินไป ก็อาจถูกเขม่นและเสียคะแนนได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ Church ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาองค์กรของเราจึงได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคจิตวิทยาในการสัมภาษณ์งานให้ทัชใจ สัมภาษณ์อย่างไรก็ได้งานมาฝากกัน 4 เทคนิค ดังนี้ค่ะ


1. เล่าสตอรี่ของตนเองให้เข้าถึงง่าย ชัดเจน เป็นรูปธรรม

เมื่อคุณต้องไปสอบสัมภาษณ์เพื่อเข้าทำงานที่ไหนสักที่ ขอให้คิดว่าความสามารถของคุณเป็นสินค้าที่ต้องการจะเสนอขาย และเหล่ากรรมการคุมสอบคือลูกค้า ที่แน่นอนว่าควักกระเป๋าซื้อของยากมาก แล้วทีนี้ให้คิดในมุมกลับกัน ถ้าคุณคือลูกค้า หรือกรรมการคุมสอบสัมภาษณ์เอง คุณมีความต้องการที่จะซื้อสินค้า หรืออยากเห็นทัศนคติ วิสัยทัศน์ของพนักงานที่จะเข้ามาทำงานด้วยในรูปแบบไหน


ดังนั้นแล้วการมีเรื่องราว หรือ Story จึงเป็นสิ่งจำเป็น และไม่ถือว่าเป็นการพูดนอกเรื่องค่ะ แต่เป็นการนำเรื่องให้น่าสนใจ และดึงอารมณ์ผู้ฟังให้มีความสนใจติดตามการแสดงวิสัยทัศน์ของเราต่อไป แทนที่เราจะแนะนำตัวแบบปกติธรรมดาว่าชื่ออะไร จบอะไร เป็นคนที่ไหน ให้ลองนึกเชื่อมโยงสิ่งที่เราเคยทำ กับตำแหน่งงานที่เรากำลังสมัครว่ามีอะไรที่สามารถเชื่อมโยงกันได้บ้าง


เช่น หากคุณสมัครงานในตำแหน่งเอนิเมเตอร์ (Animator) คุณสามารถเล่าความรู้สึกประทับใจเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องแรกของคุณ และเล่าเกี่ยวกับความฝันว่าอยากสร้างตัวการ์ตูนของคุณเองเป็นแบบไหน หรือคุณสมัครงานในตำแหน่งที่ต้องทำเอกสารเป็นหลัก ก็อาจเล่าถึงงานอดิเรกที่ต้องใช้ความละเอียด และความอดทน ไม่ว่าจะเป็นปักผ้า อ่านหนังสือ เขียนบทความ เป็นต้น รับรองเลยค่ะว่าเมื่อเรามีสตอรี่ เรื่องราวของเราจะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป


2. แสดงความเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึก และผิดพลาดเป็น

ในยุคสมัยที่ AI (Artificial Intelligence) หรือเรียกหรู ๆ ว่า “ปัญญาประดิษฐ์” เข้ามาแย่งพื้นที่ในการทำงานของเราไปมากพอสมควร และมีแนวโน้มว่าจะมาแย่งเราทำงานในอีกหลาย ๆ อาชีพ แต่สิ่งที่เรา ซึ่งเป็นคนธรรมดา แต่ไม่สามัญเพราะเรามีของ จะสามารถไปต่อสู้แย่งชิงพื้นที่การทำงานคืนมาจาก AI ได้นั้น ก็คือ ใช้ความเป็นมนุษย์เข้าสู้ค่ะ เพราะถึงแม้ว่า AI จะทำงานออกมาได้ดี ได้เร็ว และละเอียดขนาดไหน


แต่สิ่งที่ AI ไม่มีเหมือนมนุษย์ ก็คือ “ความรู้สึก” ลองนึกถึงตอนที่คุณต้องติดต่อกับหน่วยงานไหนสักที่ผ่านการพูดคุยกับ Chatbot คุณจะรู้สึกได้เลยว่าจากเดิมที่เราคุยด้วยอารมณ์ปกติ เราจะหัวร้อนขึ้นมาก เพราะ Chatbot ไม่สามารถตอบสนองได้ตามที่เราต้องการ และถ้าคุณกำลังโมโหด้วยแล้วละก็ การคุยกับ Chatbot นั้นเป็นอะไรที่ชวนให้เราปาโทรศัพท์มือถือมากค่ะ นั่นก็เพราะ Chatbot หรือ AI ไม่มีทักษะที่เรียกว่าการรับรู้ความรู้สึก การสร้างปฏิสัมพันธ์ และยังขาดศิลปะในการพูด


ซึ่งไม่แปลกใจเลยค่ะว่าเพราะอะไรพนักงานขายบ้างคน หรือผู้ที่ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานที่มีความเป็นมนุษย์ คือมีความรู้สึก และ “มีใจ” ให้บริการ จะสามารถทำงานได้ดี และรับมือกับลูกค้าอารมณ์ร้ายได้ดีกว่า AI


3. แสดงทัศนะหรือความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับงานที่ต้องการจะทำ รวมไปถึงไอเดียใหม่ ๆ ในการพัฒนางานด้วย

ทีนี้ก็มาถึงหมัดเด็ด หมัดน็อกที่จะทำให้คะแนนการสอบสัมภาษณ์พุ่งกระฉูด ก็คือ การแสดงความรู้ ความสามารถ ศักยภาพ ความชำนาญ และความเชี่ยวชาญต่องานที่เราจะไปทำให้กรรมการได้เห็นค่ะ โดยเราอาจพูดถึงสิ่งที่เราเคยทำมาก่อน แล้วเล่าถึงปัญหาที่พบเจอ เล่าเทคนิคการแก้ปัญหา


รวมไปถึงแนวความคิดที่จะพัฒนางานที่เราจะทำให้มีปัญหาน้อยที่สุด หรือสามารถแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด โดยเทคนิคการใช้ความเชี่ยวชาญนี้จะเป็นข้อได้เปรียบสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ หรือผู้ที่มีตำแหน่งสูง ๆ ที่ต้องการจะสูงขึ้นไปอีก แต่สำหรับเด็กจบใหม่ หรือผู้ที่เรียนรวดเดียวจนจบปริญญาโท หรือปริญญาเอกแล้วมาสมัครงานนั้นก็ไม่ต้องกังวลค่ะ


เพราะจุดแข็งของผู้ที่จบมาใหม่ ๆ เลย ก็คือ ทฤษฎีและองค์ความรู้ของเราจะแน่นมาก เราสามารถขายความรู้ รวมไปถึงความกระตือรือร้น และความสู้งาน ความใฝ่เรียนรู้งาน และไฟในการทำงานที่พร้อมมอดไหม้ปัญหาให้กรรมการได้เห็น และชิงคะแนนมาได้เช่นกันค่ะ


4. อย่าลืมพูดถึงการพัฒนาตัวเองในอนาคต และการนำความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ในการทำงาน

และเทคนิคสุดท้ายที่นักจิตวิทยาองค์กรแนะนำ ก็คือ เมื่อพูดถึงตัวตนของเรา เรื่องราวของเรา ความสามารถในปัจจุบันของเราแล้ว ก็อย่าลืมพูดถึงแนวทางการพัฒนาตัวเอง หรือจุดมุ่งหมายอย่างเป็นรูปธรรมในการทำงานของเราให้เหล่ากรรมการรับทราบด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาของโลก ผู้ที่ปรับตัวได้เร็วกว่าก็ก้าวไปข้าวหน้าได้ไวกว่า


เช่นเดียวกับผู้ที่มีความยืดหยุ่น พร้อมเรียนรู้มากกว่า ก็จะพาองค์กรให้อยู่รอดในสังคมได้มากกว่าคนที่ไม่มีใจจะเปลี่ยนตัวเอง นอกจากการแสดงภาพเป้าหมายในอนาคต หรือแนวทางการพัฒนาตนเองของเราจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในแง่การพัฒนาองค์ความรู้ และการเสริมศักยภาพให้องค์กรแล้ว ตัวเราเองยังได้ประโยชน์ในแง่ที่ว่าสร้างการจดจำให้กรรมการรับทราบว่าเรามีความสนใจอะไร เมื่อมีการอบรม หรือทุนเรียนต่อ กรรมการก็จะนึกถึง และแจ้งข่าวทำให้เรามีโอกาสดี ๆในชีวิตค่ะ


ถึงแม้ว่าการสัมภาษณ์งานจะมีความยาก เพราะเราไม่สามารถเดาใจกรรมการสอบสัมภาษณ์ได้ แต่ดิฉันอยากลองชวนให้มองว่าสิ่งเหล่านั้นคือความท้าทาย และเป็นโอกาสที่เราจะได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทัศนคติกับผู้คนที่มีความเชี่ยวชาญ และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่าเรา ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ได้เรียกเข้าทำงานในองค์กรนั้น แต่เราก็ได้ฝึกฝนตัวเอง และได้พาตัวเองไปเรียนรู้โลกกว้างผ่านการพูดคุยกับกรรมการ หรือผู้สมัครสอบคนอื่น ๆ ค่ะ



สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง : THE STANDARD WEALTH. (2566, 28 สิงหาคม). ศิลปะแห่งการสัมภาษณ์งาน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2566 จาก

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1038818410732174&set=a.947319763215373

 

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page