top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

4 เหตุผลที่ฝนตกทีไรหมดไฟทุกที และ 4 เทคนิคเพิ่มพลังในวันฝนตก



เมื่อถึงฤดูฝน นอกจากฝนตกจะนำความชุ่มฉ่ำ จนบางทีก็เฉอะแฉะ และเจิ่งนองมาให้เราแล้ว ยังมาพร้อมปัจจัยเอื้อต่าง ๆ ที่ทำให้เราอยากจะลางานเสียเหลือเกิน ทั้งอาการไข้หวัด ไอ จาม น้ำมูกไหลที่มาพร้อมสายฝน หรือสภาพการจราจรติดขัด การเดินทางที่ยากลำบาก ไปจนถึงสภาพอากาศ และบรรยากาศน่านอน และชวนหมดพลัง ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้ เราจะชวนคุณมาเรียนรู้เทคนิคจิตวิทยาในการเพิ่มพลังในวันฝนตกกันค่ะ


ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า เพราะอะไรเมื่อฝนตกแล้วเรารู้สึกหมดไฟ หมดพลัง ความรู้สึกไร้แรงขับเคลื่อนนั้นเกิดจากฝนตกจริง ๆ หรือเราอุปทานไปเองกันแน่นะ โดย Tecsia Evans ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาชาวสหรัฐอเมริกา ได้ให้เหตุผลไว้ว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้ Serotonin ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ควบคุมการตื่นตัว ความง่วงและการนอนหลับแปรปรวน โดยเมื่อแดดออก Serotonin จะถูกหลั่งออกมาอย่างมาก ทำให้เรารู้สึกกระปี้กระเป่า ตื่นตัว มีไฟในการทำสิ่งต่าง ๆ


แต่เมื่อฝนตกท้องฟ้ามืดครึ้ม Serotonin จะหลั่งออกมาน้อยลงมาก ทำให้เรารู้สึกง่วง เซื่องซึม เฉื่อย ไม่อยากทำอะไร ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาทางจิตวิทยา ของสถาบันสังคมวิทยา ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2013 พบว่า ในสภาพอากาศที่มีแดดจัด ผู้ที่ตอบแบบสำรวจจะมี “ความพึงพอใจในชีวิต” มากกว่าผู้ที่ตอบแบบสำรวจในวันที่ฝนตก หรือมีพายุ นั่นจึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาสามารถสรุปเหตุผลว่าเพราะเหตุใดเราจึงหมดไฟในวันฝนตกมาได้ 4 ข้อด้วยกัน ดังนี้ค่ะ


1. เมื่อฝนตกร่างกายจะหลั่งสาร Melatonin ออกมามากขึ้น


จากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ และจิตวิทยา พบว่า ในฤดูฝนมีบรรยากาศที่มืดครึ้มทั้งตอนกลางวันและตอนกลางคืน ส่งผลให้ร่างกายมีระดับปริมาณของ Melatonin ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมเวลาชีวิต หรือควบคุมการนอน มีปริมาณสูงขึ้น ทำให้เรารู้สึกง่วง เพลีย อยากนอนตลอดเวลา และทำให้นาฬิกาชีวิตแปรปรวน คือ หลับ – ตื่นไม่เป็นเวลา ซึ่งจะส่งผลต่อความจำทั้งระยะสั้น และระยะยาว และสภาวะอารมณ์ในระยะยาวได้


2. ความถี่ของเสียงฝน ทำให้เราง่วง


จากงานวิจัย พบว่า เสียงฝนมีความถี่เสียงอยู่ที่ 0 – 20 kHz ซึ่งเป็นช่วงเสียงที่ทำให้สมองของเราผ่อนคลาย หากเราอยู่เงียบ ๆ ในวันที่ฝนตก เราจะได้ยินเสียงฝนชัดเจน และพอเราจดจ่อกับการฟังเสียงฝน หรือได้ยินเสียงฝนประมาณ 10 – 15 นาที สมองของเราจะเคลิบเคลิ้ม ผ่อนคลาย และพ่ายแพ้ต่อความง่วงในที่สุด


3. ประจุลบในอากาศทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย


ในวันที่ฝนตก ความชื้นในอากาศทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประจุบวกและประจุลบระหว่างก้อนเมฆบนฟ้า และประจุไฟฟ้าบนพื้นดิน ส่งผลให้มีประจุไฟฟ้า โดยเฉพาะประจุลบเป็นจำนวนมากอยู่ในอากาศ และแน่นอนว่าเราซึ่งเป็นวัตถุที่อยู่ระหว่างฟ้าและดิน จึงได้รับประจุลบในอากาศไปเต็ม ๆ ทีนี้เมื่อร่างกายได้รับประจุลบอย่างต่อเนื่อง จนสะสมในร่างกายในปริมาณที่มากขึ้น ประจุลบจะทำปฏิกิริยากับสมอง ทำให้สมองเฉื่อย ผ่อนคลาย และง่วงนอน


4. ออกซิเจนในอากาศน้อยลง ส่งผลให้เรารู้สึกหมดพลัง


เมื่อฝนตก พื้นที่ที่มีฝนตกจะอยู่ในสภาวะความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้ออกซิเจนในอากาศเบาบางลง เหมือนกับว่าเรากำลังเดินขึ้นดอย หรือภูเขาสูง เราจะเริ่มหายใจลำบาก อึดอัดหน้าอก คัดจมูก รู้สึกเหมือนเป็นหวัดตลอดเวลา จนทำให้ร่างกายและสมองได้รับออกซิเจนน้อยลง เมื่อเราอยู่ในสภาวะออกซิเจนเบาบางเป็นเวลานาน สมองจะเริ่มรักษาความปลอดภัยให้ตัวเองโดยการทำงานช้าลง เราก็จะเฉื่อยขึ้น ซึมมากขึ้น และง่วงมากขึ้นเพื่อให้ร่างกายใช้พลังงานน้อยลงนั่นเอง


แล้วทีนี้เราจะสามารถเพิ่มพลังในวันฝนตกได้อย่างไร จิตวิทยามีคำตอบค่ะ โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ให้ข้อแนะนำในการเพิ่มพลังในวันฝนตกทั้งพลังกายและพลังใจ 4 เทคนิค ดังนี้ค่ะ


1. ทำกิจกรรมที่กระตุ้นสมอง


ถ้าไม่อยากให้สมองง่วง ร่างกายเราก็ต้องตื่นค่ะ เมื่อฝนตกแล้วหมดไฟ เราก็ต้องเติมไฟโดยการทำกิจกรรมที่คึกตัก ตื่นเต้น และสนุกสนาน เช่น เต้นแอโรบิค ออกกำลังกาย เล่นเกมที่ตื่นเต้น ดูภาพยนตร์/ซีรีส์/การ์ตูนที่สนุก หากเรารู้สึกตื่นเต้น หรือสนุก สมองจะหลั่งสาร Adrenaline ทำให้ร่างกายตื่นตัว และมีพลังค่ะ


2. สร้างบรรยากาศให้สดใส


นักจิตวิทยาแนะนำว่าหากเราต้องการห้องนอนที่เหมาะสมกับการนอนเราต้องจัดบรรยากาศให้ผ่อนคลาย เงียบสงบ และมีแสงสลัว ดังนั้นถ้าหากเราต้องการบรรยากาศที่เพิ่มพลังในวันฝนตก เราก็ควรทำตรงข้ามกับที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ ใช้สีสด ๆ ทำให้เราตื่นตัว ทั้งสีแดง สีส้มสดก็ช่วยปลุกไฟได้ดี รวมถึงกลิ่นผลไม้รสเปรี้ยว เช่น น้ำหอมกลิ่นส้ม น้ำหอมกลิ่นเบอรี่ น้ำหอมกลิ่นผลไม้ จะช่วยให้เราสดชื่น และกระปี้กระเป่า และถ้าหากได้เพลงมันส์ ๆ สนุก ๆ ด้วยละก็ รับรองเลยค่ะเราจะยืดเวลาง่วงจากฝนตกไปได้สักพักใหญ่เลย


3. ขยับร่างกายให้มากขึ้น


เมื่อนิ่งเป็นหลับ เราก็ต้องหมั่นขยับเพื่อให้ร่างกายตื่น โดยการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เราอยู่ในท่านอน หรือท่านั่งเอน โดยเปลี่ยนอิริยาบถไปยืน วิ่ง หรือเต้น เพื่อให้ร่างกายได้ออกพลัง และที่น่าแปลกก็คือเมื่อเราปลดปล่อยพลังไปกับกิจกรรมที่สนุก เช่น เต้น ร้องเพลง เล่นเกม เล่นกีฬา เรากลับได้พลังกลับมาในรูปแบบของการตื่นตัวค่ะ


4. ฝึกการหายใจ


มาถึงเทคนิคเพิ่มพลังในวันฝนตกข้อสุดท้าย ที่แม้ว่าฟังแล้วจะดูเหมือนชวนทำสมาธิ แล้วจะไม่ง่วงกว่าเดิมหรือ ต้องขอบอกเลยว่าการฝึกหายใจนั้นเป็นการเพิ่ม หรือรักษาระดับออกซิเจนในสมองได้อย่างดีเลยค่ะ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเมื่อฝนตกออกซิเจนจะลดลง ส่งผลให้ร่างกายปิดระบบตัวเองด้วยความง่วง เพื่อพักผ่อนและใช้พลังงานน้อยลง ดังนั้นหากเราฝึกการหายใจให้เป็น คือ หายใจเข้าลึก หายใจออกยาว ช้า ๆ และสม่ำเสมอ เราจะสามารถรักษาระดับออกซิเจน และคงภาวะตื่นตัวไว้ได้ค่ะ


ด้วยความที่เราใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น และเมื่อถึงฤดูฝนก็รุนแรงจนท่วม จึงหลีกเลี่ยงผลกระทบที่มาพร้อมสายฝนไม่ได้ แต่เราสามารถตั้งรับและเพิ่มพลังในวันฝนตกให้เรารู้สึกสดชื่นได้นะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง : 1. นภสร ทองหล่อ. (12 มิถุนายน 2565). ไขข้อสงสัย "สภาพอากาศ" มีผลต่ออารมณ์อย่างไร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2566 จาก https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1009511

2. Sabai arom. (18 สิงหาคม 2566). 4 เหตุผล ทำไมเราถึงง่วง ซึม ในวันฝนตก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2566 จาก https://www.facebook.com/SabaiAromNaturals/

 

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page