สอนลูกให้รับมือกับการถูกแกล้งได้อย่างไร?
จากข่าวที่กำลังเป็นกระแสในสังคมออนไลน์ เรื่องรุ่นพี่มัธยมแกล้งรุ่นน้องประถมอย่างรุนแรง พร้อมถ่ายคลิปไว้ด้วยนั้น ย่อมทำให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองที่ลูกหลานกำลังอยู่ในวัยเข้าโรงเรียน หรือมีลูกหลานอยู่ในวัยเรียนก็ตามเกิดความกังวลใจว่าเรื่องราวเช่นในข่าวจะเกิดกับลูกหลานของเรา แล้วถ้าอย่างนั้นเราจะมีวิธีสอนเด็ก ๆ ของเราให้รับมือกับการถูกกลั่นแกล้งได้อย่างไร?
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่าการกลั่นแกล้ง (Bullying) เป็นการแสดงออกของความก้าวร้าว (Aggressive) ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์โดยพื้นฐานอยู่แล้ว (Sigmund Freud) แต่มนุษย์มีความก้าวร้าวไว้เพื่อป้องกันตัว หากนำมาใช้เพื่อความสนุกสนานโดยการกลั่นแกล้งผู้อื่นนั้นถือว่าบุคคลนั้นมีปัญหาในการควบคุมตนเอง ผู้เขียนจึงได้ศึกษางานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการรับมือการถูกกลั่นแกล้งและสรุปออกมาเป็นวิธีการรับมือต่อการถูกแกล้ง ดังนี้
1. เปิดโอกาสให้ลูกได้พูดถึงการถูกแกล้ง
โดยคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองอาจเริ่มต้นโดยการที่ตนเองเล่าประสบการณ์การถูกแกล้งให้เด็กๆฟัง พร้อมทั้งอธิบายให้เด็กๆเข้าใจว่าเหตุการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องปกติสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากเด็ก ๆ เปิดเผยถึงเรื่องที่ตนเองถูกแกล้งก็จะเป็นโอกาสที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองจะได้รับฟัง พร้อมทั้ง ได้ดูแลความรู้สึกของเด็กๆ รวมถึงได้หาวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น นำเรื่องไปปรึกษากับคุณครูที่โรงเรียนเพื่อหาวิธีการที่โรงเรียนจะรับรู้เรื่องนี้และให้การช่วยเหลือเด็ก หรือขอพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กที่แกล้งลูกหลานเราเพื่อหาแนวทางแก้ไขอย่างสันติ เป็นต้น
2. กำจัดต้นเหตุของการถูกแกล้ง
โดยต้นเหตุ ณ ที่นี้หมายถึงปัจจัยที่เป็นสิ่งกระตุ้นภายนอกเช่นเครื่องประดับรูปร่างหน้าตาหากเด็กๆ ถูกแกล้งเพื่อข่มขู่เรื่องทรัพย์สิน ในกรณีที่น้องเป็นเด็กเล็กคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองอาจแก้ไขด้วยการฝากเงินค่าขนมของน้องไว้กับคุณครู สำหรับน้องๆที่เป็นเด็กโตอาจต้องให้น้องงดพกของมีค่าไปโรงเรียน หรือสนับสนุนให้โรงเรียนมีล็อกเกอร์เก็บของที่ใช้รหัสในการเปิด เป็นต้น หากน้อง แกล้งเพราะเรื่องรูปร่างหน้าตา คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองอาจสนับสนุนให้น้องมีความภูมิใจในตนเอง และควรแนะนำให้น้องบอกเรื่องที่ถูกแกล้งต่อคุณครูเพื่อหาทางแก้ไขก่อนปัญหาจะลุกลาม
3. แนะนำให้เด็กๆ ทำกิจกรรมหรือไปไหนมาไหนโดยมีเพื่อนอยู่ด้วย
การที่เด็ก ๆ อยู่รวมกันเป็นกลุ่มตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะเป็นการลดความเสี่ยงต่อการถูกแกล้งได้ ทั้งนี้ กลุ่มเพื่อนดังกล่าวต้องมีความเข้มแข็งพอที่จะรับมือกับการถูกกลั่นแกล้งได้ เช่น มีเพศชายรวมอยู่ในกลุ่ม มีรุ่นพี่อยู่ในกลุ่ม หรือมีสมาชิกกลุ่มที่มีลักษณะเด่นบางอย่างที่ทำให้ไม่ถูกแกล้ง เช่น เรียนเก่ง ผู้ปกครองเป็นคณะกรรมการโรงเรียน เป็นต้น
4. ฝึกการแสดงออกทางอารมณ์เชิงบวกให้แก่เด็กๆ
เป้าหมายของการแกล้ง คือ การทำให้ผู้ที่ถูกแกล้งแสดงอารมณ์ทางลบแต่ตอบโต้ทางกายไม่ได้ เช่น โกรธ โมโห หงุดหงิด แต่ทำได้เพียงด่า ร้องไห้ ย่อมเป็นที่ถูกใจต่อผู้แกล้ง ดังนั้น เพื่อตัดวงจรการถูกแกล้ง คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจึงควรสนับสนุนให้เด็กแสดงออกทางอารมณ์อย่างมีสติ และโต้ตอบเชิงบวก เช่น หากถูกล้อว่าอ้วน แต่เดิมเด็กจะโกรธ ตอบโต้คนที่แกล้ง จนนำไปสู่การถูกทำร้ายร่างกายให้ปรับเปลี่ยนการตอบโต้ของลูกหลานเรา เป็น ตอบผู้แกล้งว่า “ขอบคุณนะที่บอก” แล้วเดินหนีไป เมื่อทำเช่นนี้ผู้แกล้งก็อาจจะต่อปากต่อคำอีกเล็กน้อยก็จะเบื่อไปเอง ซึ่งวีการตอบโต้เชิงบวกนี้จะลดการถูกแกล้งลงไปได้มากทีเดียว
5. อย่าปล่อยให้เด็กๆ ต้องต่อสู้กับการถูกแกล้งตามลำพัง
การที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองแนะนำให้เด็กออกไปเผชิญหน้า หรือแก้ปัญหาการถูกแกล้งด้วยตนเองยิ่งทำให้ปัญหาลุกลามบานปลาย จากเรื่องเด็กแกล้งกันอาจนำไปสู่อาชญากรรมเด็กได้ ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองควรทำ ก็คือ การพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กที่แกล้งลูกหลานของเราอย่างจริงจังเพื่อหาทางออกอย่างสันติ โดยควรมีคุณครูหรือนักจิตวิทยาโรงเรียนเข้าร่วมพูดคุยด้วยเพื่อป้องกันความขัดแย้ง และเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมมากที่สุด
เพราะทุกก้าวของชีวิตคือจิตวิทยา
iStrong บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า
Contact : https://www.istrong.co/service
อ้างอิง :
1. เฉลิมเกียรติผิวนวล. 2560. จิตวิเคราะห์ของฟรอยด์. กรุงเทพฯ: ร้านหนังสือออนไลน์รีดเดอรี่. 2. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อ้างถึงใน Patcharee Bonkham. 2560. 5 ป้อง 5 หยุด ลดปัญหาเด็กแกล้งกัน. สืบค้นจาก http://www.thaihealth.or.th 3. ปรานี ปวีณชนา. เด็กแกล้งกัน (Bullying) ผลร้ายต่อทั้งคนโดนแกล้งและคนแกล้ง. สืบค้นจาก http://www.manarom.com
Comments