top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เหตุผลที่เราโหยหาอดีต และวิธีรับมือเมื่อความคิดถึงทำร้ายเรา



“เราจะคิดถึงคนที่สำคัญเมื่อต้องจากกันไป เราจะคิดถึงวันที่สวยงามเมื่อเวลาผ่านไป จะคิดถึงเวลาที่เรามีกันเมื่อเธอต้องไป และตอนนี้รู้ไหมว่าฉันคิดถึงเธอมากแค่ไหน ไม่เคย ไม่เคย จะลืม” เมื่อความคิดถึงทำร้ายเรา เพราะเราโหยหาอดีต ก็จะเกิดความรู้สึกตามเนื้อเพลง “ไม่เคย” ของ 25 Hours ที่บางครั้งก็เจ็บปวด บางครั้งก็ให้ความรู้สึกโหยหาความสวยงามในอดีตที่ผ่านไป ซึ่งภาวะโหยหาอดีต หรือในภาษาจิตวิทยาเรียก Nostalgia คือสภาวะทางจิตใจที่เราคิดถึงเหตุการณ์ในอดีต หรือบุคคลที่เราเคยรู้จักในอดีตอย่างรุนแรง จนกระทบต่อความรู้สึกในปัจจุบัน โดยในบทความนี้จะขอพาทุกท่านมารู้จักกับภาวะโหยหาอดีตและวิธีรับมือเมื่อความคิดถึงทำร้ายเราค่ะ


ภาวะโหยหาอดีต หรือ Nostalgia เคยถูกเข้าใจว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะผ้สูงอายุ หรือผู้ที่สูญเสียบุคคลที่รักไปอย่างกระทันหัน แต่ในปัจจุบันนี้พบว่า ภาวะโหยหาอดีต พบได้ตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ไปจนถึงสูงอายุ ในคนทุกเพศเลยค่ะ ซึ่งการศึกษาทางจิตวิทยาเกี่ยวกับภาวะโหยหาอดีตนั้น มีการศึกษาอย่างจริงจังเมื่อปลายศตวรรษที่ 17 โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา Hans Johannes Höfer ซึ่งได้พบว่า ทหารรับจ้างกลุ่มหนึ่งมีอาการป่วยที่แสนประหลาด คือ เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดปกติ อาหารไม่ย่อย และมีไข้ขึ้นสูง


ทั้งนี้ Höfer พบว่าสาเหตุของอาการป่วยเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากสภาวะร่างกาย และเกิดจากสภาวะจิตใจที่โหยหาอดีต คิดถึงบ้านเกิด คิดถึงความสงบสุขก่อนช่วงสงครามนั่นเอง ต่อมาเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ยกระดับภาวะโหยหาอดีตขึ้นมาเทียบเท่าภาวะซึมเศร้าเลยทีเดียว เพราะผู้ที่มีภาวะดังกล่าวมักจะเกิดความรู้สึกที่เรียกว่า “ความคิดถึงทำร้ายเรา” ก็คือ คิดถึงเรื่องราวหรือบุคคลในอดีตแบบปล่อยวางไม่ได้ และย้อนเวลากลับไปก็ไม่ได้เช่นกัน จึงทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะโหยหาอดีตส่วนใหญ่เป็นทุกข์อย่างมาก โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้แนะนำวิธีรับมือกับความคิดถึงทำร้ายเรา ดังนี้ค่ะ


1. มองหาความเชื่อมโยงด้านบวกของอดีตและปัจจุบัน

ตัวดิฉันเองบ่อยครั้งมักจะนึกย้อนไปถึงสมัยที่ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า แล้วคิดว่าถ้าเรายังอยู่กันเป็นครอบครัวครบจนวันนี้ชีวิตเราจะเป็นยังไง จะดีกว่านี้ไหม แต่เมื่อมามองความเชื่อมโยงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วกับความเป็นจริงในปัจจุบัน ก็คิดขึ้นได้ค่ะว่า ถ้าชีวิตในอดีตของดิฉันเปลี่ยน แม่คงมีความสุขน้อยกว่านี้ ดิฉันคงไม่ได้แต่งงานกับสามีที่พร้อมเข้าใจทุกอย่าง และคงไม่ได้มีลูกสาวที่น่ารักแบบนี้ ซึ่งนั้นย้ำเตือนว่าสิ่งใดเกิดขึ้นแล้วย่อมดีเสมอ เพราะเราห้ามไม่ให้มันเกิดไม่ได้ แต่เราสามารถปรับตัว และใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่มีได้ และสามารถพาชีวิตไปสู่จุดที่มีคความสุขได้ค่ะ ใดใดในชีวิตของเราล้วนเป็นเรากำหนดนั่นเอง


2. ใช้เวลาในปัจจุบันให้คุ้มค่า

เราคิดถึงเรื่องราวในอดีต เพราะเรารู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมีคุณค่าต่อเรา ไม่ว่าจะด้านไหนก็ตามซึ่งเรื่องราวในอดีตก็ได้ส่งผลมาถึงเราในปัจจุบัน ดังนั้น หากเราโหยหาเรื่องราวดี ๆ ในอดีต หรือรู้สึกผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ลองใช้เวลาในปัจจุบันเพื่อทำสิ่งนั้นดูนะคะ เช่น กลับไปหาคนที่เราไม่ได้พบเจอมานาน ขอโทษคนที่เราเคยทำผิด ลงเรียนในสายที่อยากเรียน ไปทำกิจกรรมที่อยากทำ ถึงแม้ว่าเราจะกลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่เราก็สามารถทำให้ปัจจุบันของเราดีขึ้นได้ และยังสามารถทำให้อนาคตของเราเอง และคนรอบข้าง รวมถึงคนอื่น ๆ ดีขึ้นได้ด้วยค่ะ


3. ใช้เวลาในการสร้างประโยชน์ให้สังคม

การสร้างประโยชน์ให้สังคมสามารถทำได้หลากหลายตามความชอบ ตามความถนัด และความสะดวกเลยค่ะ ทั้งบริจาคเงิน เขียนบทความดี ๆ ที่มีประโยชน์ ไปสอนหนังสือให้เด็กห่างไกล ช่วยเหลือหมา แมว ช่วยคนไร้บ้าน ดูแลเด็กกำพร้า ช่วยเหลือคนในสังคม การทำประโยชน์แบบไหนที่เราสะดวกเราสามารถทำได้ทั้งนั้นเลยค่ะ เพราะการทำประโยชน์ให้สังคมจะทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และทำให้เวลาในปัจจุบันของเรามีความหมาย และจะมีความหมายต่อเราในอนาคตค่ะ


4. ใส่ใจคนที่อยู่กับเราในปัจจุบัน

บ่อยครั้งที่ได้พบเจอปัญหาว่า เราคิดถึงคนที่เราเคยรัก คนที่เราผูกพันในอดีต จนลืมสนใจและไม่ให้ความสำคัญกับคนที่รักเรา ดูแลเรา อยู่กับเราในปัจจุบัน จนคนที่อยู่กับเราในปัจจุบันทนไม่ไหว และเดินจากเราไป แล้วก็เกิดความรู้สึกวนลูปใหม่ เพราะฉะนั้นอย่าให้เกิดวงจรทำร้ายตัวเองเช่นนั้นเลยค่ะ เราคิดถึงคนในอดีตได้ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับคนที่อยู่กับเราในปัจจุบันด้วย เพราะเราย้อนเวลากลับไปหาคนในอดีตไม่ได้ และในอนาคตก็ไม่แน่ไม่นอน ดังนั้นคนในปัจจุบันจึงสำคัญที่สุดค่ะ


ภาวะโหยหาอดีต หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายที่มุ่งทำร้ายจิตใจของเราแต่เพียงอย่างเดียว เพราะการที่เราคิดถึงอดีตนั้น เป็นสิ่งยืนยันว่าเรามีตัวตนในการที่เราได้สร้างรอยประทับไว้ในอดีตและยังย้ำเตือนเราว่า ชีวิตของเรามีคุณค่า มีความหมาย ทำให้เราตระหนักได้ว่า เราควรใช้เวลาในชีวิตของเราต่อไปย่างไรให้ดีกว่าเดิมค่ะ


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 


 สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8 


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง : Clay Routledge. Why do we feel nostalgia?. [Online]. From

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์กับคนอ่าน


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page