top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 วิธีสร้างการยอมรับในครอบครัว เมื่อลูกเปิดตัวว่าเป็น LGBT



การเปิดตัวว่าเป็น LGBT หรือเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หากเป็นประเทศในแถบยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา หรือแคนนาดา สังคมจะร่วมยินดีและมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนเราจะมีสิทธิเลือกชีวิตตนเอง แต่ในประเทศไทย ถึงแม้ว่า LGBT ไม่ใช่เรื่องใหม่ และรัฐเองก็พยายามสร้างการยอมรับในสังคมผ่านการออกกฎหมายต่าง ๆ เช่น พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 หรือร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. .... เป็นต้น แต่ในทางปฏิบัติกลับยังพบการไม่ยอมรับบุคคลที่เป็น LGBT อยู่ในหลายสังคม เช่น การรับเข้าทำงาน การเรียนต่อบางสาขา แต่ไม่มีอะไรปวดใจเท่ากับไม่มีการยอมรับในครอบครัวค่ะ เพราะครอบครัวควรจะเป็น Safe Zone ของสมาชิกทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะลูก หลาน แต่ถ้าครอบครัวยังไม่สนับสนุนลูก หลาน หรือไม่มีการยอมรับในครอบครัว ก็จะทำให้ลูก หลานที่เปิดตัวว่าเป็น LGBT จะเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นใจ และสูญเสีย Self-esteem ได้ ดังเช่นที่ครูลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ Hello! Thailand ไว้ว่า

"เราเป็นลูกชายคนโตในตระกูลคนจีนที่โตมามาในสังคมที่ตีกรอบค่อนข้างเยอะว่าการเป็นเกย์หรือเป็นตุ๊ดคือความวิปริตผิดเพศ บอกเลยว่าตอนนั้นเราคือเด็กเก็บกดคนหนึ่งจริง ๆ คุยได้แต่กับคุณแม่คนเดียว”

และจากงานวิจัยเชิงจิตวิทยาโดยมหาวิทยาลัยบูรพา เรื่อง การเสริมสร้างการยอมรับของพ่อแม่ที่มีบุตรข้ามเพศด้วยการบูรณาการปรึกษาครอบครัวโดยมีทฤษฎีเป็นฐาน เมื่อปี 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับในครอบครัวของบุคคลที่เป็น LGBT ก็คือ คุณลักษณะพ่อแม่ การรับรู้ของพ่อแม่ อิทธิพล ของสังคม และความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ของ 4 นักแสดงเกี่ยวกับประเด็นว่าจะรู้สึกอย่างไร หรือทำอย่างไรหากลูกเป็น LGBT โดยนักแสดงที่มีภาพลักษณ์ชัดเจนว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว มีคุณลักษณะเปิดกว้าง มีการรับรู้เกี่ยวกับ LGBT ในเชิงบวก และให้ความสำคัญกับอิทธิพลทางสังคมน้อย จะมีแนวโน้มที่จะมีการยอมรับในครอบครัวสูงค่ะ เช่นบทสัมภาษณ์ของคุณคุณนุ้ย เชิญยิ้ม ที่กล่าวถึงการเปิดตัวว่าเป็น LGBT ของลูกชายวัยรุ่น ว่า

"หัวอกคนเป็นพ่อแม่เมื่อลูกเดินเข้ามาเปิดใจแบบนี้แล้ว ก็เข้าใจเพราะมองว่า หากลูกไม่ได้ทำผิดอะไร ก็ไม่ใช่ปัญหา”

หรือ บทสัมภาษณ์ของคุณฮารุ สุขประกอบ ที่กล่าวว่า “รับได้ ถ้าอยากเป็นอะไรก็ให้เป็นให้สุดเลย” ซึ่งแน่นอนว่า ลูกที่โตมาในครอบครัวที่ยอมรับเขา ให้คุณค่าในตัวเขาไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ย่อมมีความสุข และมีสุขภาพจิตแข็งแรง รวมถึงมีภูมิต้านทานทางจิตใจที่ดี ดิฉันในฐานะแม่คนหนึ่ง และอดีตนักจิตวิทยาที่ใช้ศาสตร์จิตวิทยาในการเลี้ยงลูก จึงขออนุญาตนำเทคนิคที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำในการสร้างการยอมรับในครอบครัว สำหรับลูกที่เป็น LGBT มาฝากกันค่ะ


1. พูดคุยกับลูกอย่างเปิดใจ


หากเราไม่เข้าใจในสิ่งที่ลูกเป็น สิ่งแรกที่ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การพูดคุยกับลูกอย่างเปิดใจค่ะ รับฟังทุกสิ่งที่ลูกพูด รับรู้ทุกความรู้สึกที่ลูกสื่อ หากสงสัยก็ถามลูกด้วยเหตุและผลถามโดยใช้ความรู้สึก ไม่ใช่อารมณ์ เมื่อเราใช้ใจคุยกันอย่างจริงใจ และเต็มใจ เชื่อแน่ค่ะว่าเราจะเข้าใจกัน และมีการยอมรับซึ่งกันและกันได้ไม่ยากเลยค่ะ


2. หากไม่เข้าใจในสิ่งที่ลูกเลือก ลองหาข้อมูลเพื่อศึกษา


ถึงแม้ว่าเรื่อง LGBT จะไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วในสังคมไทย แต่ก็ไม่ใช่ว่าพ่อ แม่ทุกคนจะยอมรับได้ เพราะฉะนั้นหากคุณพ่อ คุณแม่ไม่เข้าใจในเพศสภาพที่ลูกเลือก ก็สามารถเข้าไปหาข้อมูลใน google หรือสอบถามจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญได้เช่นกันค่ะ แต่ถ้าหากไม่สบายใจ หรือกังวลใจในเพศสภาพที่ลูกเป็นขอแนะนำให้หาที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้นะคะ คุณพ่อ คุณแม่น่าจะได้แนวทาง หรือเข้าใจในเพศสภาพของลูกได้มากขึ้นค่ะ


3. ทำความเข้าใจก่อนว่าลูก ก็คือลูก ไม่ใช่สมบัติที่เราเป็นเจ้าของ


ถึงแม้ว่าเราจะเป็นผู้ให้กำเนิดลูก เป็นคนเลี้ยงดู สั่งสอน เป็น Role Model แรกของลูก แต่เราก็ไม่ใช่เจ้าของชีวิตของลูกค่ะ ลูกมีชีวิตของเขาเอง มีสิทธิที่จะเลือกชีวิตของเขาเอง ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างเช่น การเลือกอาหาร เสื้อผ้า จนไปถึงการเลือกสถานศึกษา สายการเรียน อาชีพ หรือเรื่องละเอียดอ่อน เช่น ศาสนา ความเชื่อ การเมือง และเพศสภาพค่ะ


4. ยอมรับว่าชีวิตลูกเป็นของลูก ความห่วงใยเป็นของเรา


จากข้อก่อนหน้าที่ลูกมีสิทธิที่จะเลือกทางเดินชีวิตของเขาเอง และนั่นหมายความว่าลูกก็ต้องยอมรับในผลของสิ่งที่เลือกด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่พ่อ แม่อย่างเราทำได้ก็คือ แสดงความห่วงใยอย่างเขา อยู่เคียงข้างเขา เป็นที่พึ่ง ที่ปรึกษา และทุกอย่างที่จะสนับสนุนลูกของเราได้ค่ะ


5. ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลงไป ลูกยังเป็นลูกของเราเสมอ


และสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้ ก็คือ ไม่ว่าลูกของเราจะเลือกเส้นทางชีวิตอย่างไรมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ลูกของเรา ก็ยังเป็นลูกของเราเสมอ เมื่อเราได้เป็นพ่อ เป็นแม่ เราจะเป็นไปจนตลอดชีวิตที่เหลือของเรา ไม่สามารถลาออกได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำหน้าที่ดูแลลูก ปกป้องลูกจากสิ่งที่จะทำอันตรายเขา สนับสนุนลูก รักลูกอย่างถูกทาง และอยู่เคียงข้างลูกในทุกสถานการณ์ค่ะ


สำหรับคนที่ออกมาเปิดตัวต่อครอบครัวหรือสังคมว่าเขาเป็น LGBT นั้น ต้องใช้ความกล้าอย่างมากนะคะ เพราะการเปิดตัวในสังคมไทยมีความเสี่ยงสูง ทั้งเรื่องการยอมรับ ความสัมพันธ์กับคนอื่น และผลกระทบในเรื่องการงาน หรือการเรียน แต่เมื่อเขากล้าที่จะเปิดตัว ครอบครัวเองก็ควรที่จะกล้าสนับสนุนและเคียงข้างเขา เพราะถ้าพ่อ แม่ ไม่สนับสนุนลูก ก็ไม่มีใครแล้วค่ะที่จะสนับสนุนเขาได้เท่าเรา ดังเช่นที่คุณเขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อ a day ไว้ตอนหนึ่งว่า “ตอนจะบอก (แม่) เรากลัวมากเพราะเคยเห็นฉากเปิดตัวในหนัง มันยิ่งใหญ่มากเลย แต่พอบอกคุณแม่จริง ๆ คุณแม่ชิลล์มาก บอกว่า อ๋อเหรอ แค่นี้ใช่ไหม ฉันรู้อยู่แล้ว ฉันรักเธอ” ซึ่งคำพูดของคุณแม่นั้น เป็นคำง่าย ๆ แต่อบอุ่นมากเลยค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ : จะทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าลูกไม่อยากเป็นเหมือนเพศกำเนิด (https://www.istrong.co/single-post/if-you-know-that-your-child-is-lgbt)


อ้างอิง :

1. วรารัตน์ ประทานวรปัญญา เพ็ญนภา กุลนภาดล และดลดาว ปูรณานนท์, (มกราคม - เมษายน 2563), การเสริมสร้างการยอมรับของพ่อแม่ที่มีบุตรข้ามเพศด้วยการบูรณาการปรึกษาครอบครัวโดยมีทฤษฎีเป็นฐาน, วารสารพยาบาลทหารบก, ปีที่ 21 (1), หน้า 385.

2. พัฒนา ค้าขาย, (มปป.), คุยกับ ‘เขื่อน ภัทรดนัย’ ในวันที่ใช้ชีวิตอย่างไม่ต้องขออนุญาตใคร, [ออนไลน์], สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2565 จาก https://adaymagazine.com/koen-pattaradanai

3. Hello! Thailand, (มิถุนายน 2564), เปิดใจ ‘ครูลูกกอล์ฟ’ กับการปลดล็อกสู่อิสรภาพเต็มที่กับตัวตนในฐานะ LGBTQ+, นิตยสาร Hello ฉบับเดือนมิถุนายน 2564.

4. undubzapp, (13 ธันวาคม 2018), “เพศไหนก็รัก” 4 พ่อแม่ดาราคนดังรับได้ หากลูกโตขึ้นขอเลือกเพศเอง, [ออนไลน์], สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2565 จาก https://undubzapp.com

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page