top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 เทคนิคเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหา เพราะปัญหาทำให้ฉันเติบโตจนจำเวอร์ชันเดิมไม่ได้



“ปัญหาทำให้ฉันเติบโตจนจำเวอร์ชันเดิมไม่ได้” ท่อนฮุคในเพลงฮิตที่ติดหูหลายคนที่ได้ฟังจนเกิด Earworm หรือภาวะเพลงติดหูจนนำออกจากสมองได้ ซึ่งถ้าตัดประเด็นดราม่าทั้งหลายออกไปก่อน ท่อน “ปัญหาทำให้ฉันเติบโตจนจำเวอร์ชั่นเดิมไม่ได้” ก็ถือว่าเป็นประโยคสอนใจ จนสามารถนำมาใช้เป็นคติในการใช้ชีวิตได้เลยทีเดียว นั่นก็เพราะโลกในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จนบังคับให้คนเรา “โต” เร็วกว่าที่ธรรมชาติกำหนด เช่น เด็กเล็กก็สามารถเข้าถึงสื่อ และรับรู้ข่าวสารบ้านเมืองได้ หรือวัยรุ่นเห็นความสำคัญของการเมืองว่ามีความสัมพันธ์กับชีวิตในอนาคตของพวกเขา


จึงให้ความสนใจกับสถานการณ์การเมืองอย่างมาก และคนเราไม่ว่าวัยไหนก็สามารถสร้างรายได้ได้แล้ว เพียงแค่คุณมีอินเทอร์เน็ต และเครื่องมือสื่อสาร และเมื่อคนเราโตก่อนวัย ความรับผิดชอบทั้งหลายก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนั้นหมายความว่าปัญหาต่าง ๆ ก็สามารถเข้ามาหาเราได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาจากสภาพสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ต่างก็ฝากบทเรียนสำคัญ ทำให้เราต้องเร่งพัฒนาตนเองเพื่อให้วุฒิภาวะเติบโตมากพอที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้


ดังนั้นเพื่อสนับสนุนให้ทุกท่านมีภาวะ “ปัญหาทำให้ฉันเติบโตจนจำเวอร์ชันเดิมไม่ได้” แทนที่จะเสียโอกาสในชีวิตไปเพราะปัญหา หรือยอมแพ้ให้กับปัญหาจนต้องหยุดอยู่ที่เดิมจนไม่สามารถเติบโตหรือพัฒนาได้ ดิฉันจึงได้นำข้อเสนอแนะของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 3 เทคนิคในการเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหา มาฝากกัน ดังนี้ค่ะ


1. มีความยืดหยุ่น

การยืดหยุ่น (Flexibility) ในทางจิตวิทยา หมายถึง ความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงความคิด และสภาพจิตใจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยความยืดหยุ่นจะมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการปรับตัว (Adaptation) ซึ่งในทางจิตวิทยา หมายถึง ความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เมื่อสภาพเศรษฐกิจแย่ก็หางานทำเพิ่ม หรือประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น หรือมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน เป็นต้น นั่นหมายความว่ายิ่งคุณมีความยืดหยุ่นมากเท่าไร คุณก็สามารถปรับตัวได้ดีมากขึ้นเท่านั้น


ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงแนะนำเทคนิค Resilience หรือการเพิ่มความยืดหยุ่นทางจิตใจ ให้เรานำไปปรับใช้ในการเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหา  3 วิธี คือ


(1) พัฒนาความมั่นคงทางอารมณ์ โดยการรู้ทันความรู้สึก และสามารถจัดการความรู้สึกทางลบได้อย่างรวดเร็ว 

(2) เสริมสร้างกำลังใจ และใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง และ

(3) อย่ายอมแพ้ต่อปัญหา โดยการเชื่อมั่นในตนเอง และหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ 


2. มีวิธีใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ในการรับมือกับปัญหา

คำกล่าวที่ว่า “ปัญหาทำให้ฉันเติบโตจนจำเวอร์ชั่นเดิมไม่ได้” จะไม่สามารถเป็นจริงได้หากเราไม่มีวิธีใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ในการรับมือกับปัญหา เพราะปัญหารูปแบบใหม่เกิดขึ้นทุกวัน และในบางครั้งเป็นปัญหาใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ในพริบตา เช่น Covid – 19 ที่ทำให้เราต้องมีวิถีชีวิตใหม่ที่ไม่เรียกว่า New Normal หรือตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่สามารถเปลี่ยนสถานะทางการเงินและสถานะทางสังคมของใครหลาย ๆ คนได้ภายในวันเดียว


ซึ่งความสามารถในการแก้ปัญหาโดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์นั้น ในทางจิตวิทยา เรียกว่า Creative Problem Solving หรือการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ คือ การปรับกระบวนการคิดของเราโดยใช้องค์ความรู้ใหม่ เทคนิคใหม่ เทคโนโลยีใหม่ หรือเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่แตกต่างจากเดิมด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และลดอัตราการเกิดปัญหาซ้ำเดิมลง เพื่อให้เราสามารถเอาชนะปัญหาได้อย่างอยู่หมัดนั่นเอง


3. การยอมรับปัญหาอย่างเข้าใจ

และเทคนิคการเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหาเทคนิคสุดท้ายที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การยอมรับปัญหาอย่างเข้าใจ เทคนิคนี้ถือว่าเป็นเทคนิคที่ยากที่สุด เพราะเมื่อเราพบปัญหาใหญ่ในชีวิต หรือปัญหาที่เปลี่ยนชีวิตของเราไปเลย เช่น สูญเสียบุคคลสำคัญในครอบครัว สูญเสียบุคคลที่รัก หรือตกงาน ประสบอุบัติเหตุ ล้วนเป็นการยากถึงยากมากที่เราจะทำยอมรับปัญหาเหล่านั้นได้ แต่ยิ่งเราทำใจยอมรับปัญหาได้ช้าเท่าไร เราก็จะปล่อยให้ตัวเองจมลงไปในปัญหา จนเกิดอารมณ์ทางลบ แล้วนำไปสู่การเจ็บป่วยทางจิตเวช


หรือการเจ็บป่วยทางกายที่เกิดจากสภาพจิตใจย่ำแย่ได้ ดังนั้นการยอมรับปัญหาอย่างเข้าใจจึงเป็นประตูที่เปิดทางไปสู่การเติบโต และการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขแม้บางอย่างในชีวิตจะไม่เหมือนเดิมค่ะ โดยเทคนิคนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยามีข้อแนะนำว่า


(1) ทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติของชีวิต

(2) หากปัญหาเกิดจากเราก็ยอมรับและแก้ปัญหาจากต้นเหตุ

(3) หากแก้ไขคนเดียวไม่ได้ ควรขอความช่วยเหลือจากคนที่สามารถช่วยเหลือเราได้ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเร็วที่สุด

(4) เรียนรู้จากปัญหา


“ปัญหา” เป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการพบเจอในชีวิต แต่เมื่อเรายังต้องใช้ชีวิต จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องพบปัญหา เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงในชีวิตย่อมนำมาซึ่งปัญหา ดังนั้นความสามารถในการแก้ปัญหา จึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังที่ Charles Darwin ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่อยู่รอดไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด แต่คือผู้ที่ปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด” ดังนั้นไม่ว่าเราจะเจอสักกี่การเปลี่ยนแปลง หากเรามีความสามารถในการแก้ปัญหาที่ดี เราจะสามารถผ่านทุกอุปสรรคไปได้อย่างสวยงาม เพราะปัญหาทำให้ฉันเติบโตจนจำเวอร์ชั่นเดิมไม่ได้ค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ : 1. 6 วิธีปลุกพลังใจเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา (https://www.istrong.co/single-post/the-way-for-confrontation-with-the-problem)

2. จิตวิทยาการเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง (https://www.istrong.co/single-post/survive-from-changing-situations)


อ้างอิง : 1. ศศิมา สุขสว่าง. (2020, 8 มีนาคม). การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ Creative Problem Solving คืออะไร [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.sasimasuk.com

2. อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช. (2020, 30 เมษายน). การประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาของตนเอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/competence-evaluation

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page