5 เทคนิคจิตวิทยา ขี้เกียจอย่างไรให้งานประสบความสำเร็จ
ว่าด้วยเรื่องของความ “ขี้เกียจ” หรือสภาวะหมดแรง หมดไฟ หมดใจที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่าง จนไม่สามารถทำงาน หรือทำกิจกรรมในชีวิตได้ ซึ่งทางเราได้เสนอบทความเพื่อเอาชนะความขี้เกียจมาหลายบทความ แต่เราก็ทราบดีค่ะ ว่าความขี้เกียจเอาชนะยากเหลือเกิน เพราะหลายครั้งหลายทีเราก็ขี้เกียจไม่ไหวเช่นกัน
ไหน ๆ ความขี้เกียจก็มีอยู่ในตัวเราทุกคนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นบทความจิตวิทยาวันนี้จึงขอนำเสนอแนวทางการใช้ประโยชน์จากความขี้เกียจ นั่นก็คือ เทคนิคจิตวิทยา ขี้เกียจอย่างไรให้งานประสบความสำเร็จ มาฝากกันค่ะ เพื่อให้ความขี้เกียจพาเราไปสู่จุดหมาย คือ งานประสบความสำเร็จ โดยรายละเอียดของแต่ละเทคนิค มีดังนี้ค่ะ
1. ทำงานอยู่บนความเป็นจริง และเสร็จทันตามกำหนด
หากคุณเป็นคนขยัน คุณจะทำงานโดยมีความคาดหมายให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และเวลาในการทำงาน แต่การทำงานเช่นนั้นเราจะเหนื่อยมาก เครียดมาก และใช้เวลานาน ซึ่งแทบทุกครั้งเราจะส่งงานตามกำหนดเวลาแบบเส้นยาแดงผ่าแปด หรืองานเสร็จทันแบบฉิวเฉียดชนิดที่ว่าหายใจแทบไม่ทัน นานเข้าเราก็จะเหนื่อยล้า และเกิดอาการ Burnout Syndrome นาน ๆ ไปก็กลายเป็น Brownout Syndrome
อย่ากระนั้นเลยค่ะ เราลองมาใช้วิธีการทำงานแบบคนขี้เกียจ คือ ทำงานให้ครบถ้วน ถูกต้อง ภายในเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องไปเคร่งกับงานว่าต้องสมบูรณ์แบบ เป็น No.1 ของที่ทำงาน เมื่อเราเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการทำงาน แล้วเราจะปล่อยวางกับงานได้มากขึ้น และงานจะเสร็จทันเวลาแบบที่เราไม่เหนื่อยจนเกินไป
2. ทำงานทีละอย่าง
ในการทำงานตามสไตล์ของคนขยัน เรามักจะทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกันในเวลาเดียวกัน และสุดท้ายงานจะไม่เสร็จสักอย่าง แถมมีความเครียด ความกดดัน และเสียประวัติเพราะทำงานไม่สำเร็จอีกต่างหาก ดังนั้นเมื่อเราควบคุมจำนวนงานที่เข้ามาหาเราไม่ได้ เราก็จัดตารางงาน
โดยทำงานทีละอย่างเรียงลำดับงานตามความเร่งด่วน และความสำคัญ รวมถึงแบ่งงานให้ย่อยลงไป เพื่อไม่ให้รู้สึกหนัก และเหนื่อยเกินไปในการทำงานแต่ละชิ้นงาน เช่น ในการสรุปประชุม คุณสามารถแบ่งงานออกเป็น เตรียมข้อมูลประกอบการสรุปประชุม →ร่างสรุปประชุม→เสนอหัวหน้างานตรวจสอบ→แก้ไข→เวียนให้ผู้เข้าร่วมประชุมตรวจสอบ→จัดทำสรุปประชุมตัวจริงเสนอผู้บริหาร เป็นต้น
เมื่อคุณแบ่งขั้นตอนการทำงานเช่นนี้ คุณจะรู้สึกว่าไม่เหนื่อยมากกับการทำงาน เพราะรู้สึกว่างานในแต่ละขั้นเล็กลง สามารถทำให้เสร็จได้โดยง่าย และสามารถทำงานได้เป็นขั้นเป็นตอน ลดความผิดพลาดอีกด้วย
3. ปล่อยให้ความคิดได้โลดแล่น
ถ้าการทำงานแบบคนขยัน คือ ทำงานอย่างหนักโดยยึดกฎ ระเบียบ หลักการตามกรอบ หรือแนวทางเดิมที่ทำต่อ ๆ กันมา แล้วเรารู้สึกว่าหัวไม่แล่น ความคิดตัน งานไม่แปลกใหม่ ไม่สร้างสรรค์ งานที่ออกมาไม่น่าเป็นที่พอใจ ลองใช้วิธีแบบคนขี้เกียจดูบ้างไหมคะ วิธีนั้นก็คือ นั่งเหม่อ ๆ สัก 15 – 30 นาที แล้วปล่อยให้ใจลอย คิดอะไรไปเรื่อย
เพื่อให้ความคิดได้โลดแล่น โบยบิน ให้อิสระกับความคิด หรือพูดอย่างง่าย ๆ คือ ปล่อยให้ตัวเองคิดอะไรเรื่อยเปื่อยบ้าง เพื่อที่เราจะได้มีจินตนาการ หรือเกิดไอเดียใหม่ ๆ หรือหาแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่น เกิดความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ แล้วงานของเราก็สามารถพัฒนาเกินขีดจำกัด
4. อย่าลืมพักเบรกระหว่างทาง
หากคุณเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานจนไม่อยากทำต่ออีกแล้ว แต่ก็ต้องฝืนทำเพื่อให้งานประสบความสำเร็จ ผลงานที่ออกมาก็จะฝืน ๆ ไม่มีชีวิตชีวา และคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานของเรา เพราะเราทำงานภายใต้ภาวะความเครียด และความกดดันสูง แต่ถ้าเราใช้วิธีแบบขี้เกียจ ๆ คือ พักเบรกชั่วโมงละ 5 นาที
เช่น ลุกไปเม้ามอยบ้าง เข้าห้องน้ำ เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง หรือรับประทานของอร่อย ๆ สิ่งเหล่านี้จะสามารถเยียวยาและฟื้นฟูพลังกาย พลังใจ และพลังสมองของเราให้กลับมาสดชื่นขึ้นได้ค่ะ หรือหากตอนพักเที่ยงพอมีเวลาเหลือ การงีบกลางวัน (แบบ Shut drown ตัวเองเลยจริง ๆ) ไม่เกิน 20 นาที จะสามารถช่วยให้สมองปลอดโปร่ง จิตใจแจ่มใสขึ้นได้อย่างน่ามหัศจรรย์เลยค่ะ
5. เมื่อสำเร็จแล้วอย่าลืมให้กำลังใจตัวเอง
เมื่อเราสามารถมุ่งมั่นทำงานจนงานประสบความสำเร็จได้แล้ว ก่อนจะลงมือทำงานต่อไปตามแบบคนขยัน ขอให้พักสักครู่เพื่อใช้เวลาในการชื่นชมผลงาน และให้กำลังใจตนเองก่อนแบบคนขี้เกียจ เพราะเมื่อเราให้กำลังใจตนเองด้วยการชื่นชม หรือให้รางวัลตามสมควรแก่ตนเอง เราจะรู้สึกดี มีกำลังใจ ภาคภูมิใจในตนเอง
และมีแรงใจฮึดสู้ในการทำงานต่อไป แต่ถ้าเราไม่ชื่นชมตนเอง หรือไม่ให้กำลังใจตนเองก่อนแล้วฝืนเริ่มทำงานต่อไป จิตใจเราจะห่อเหี่ยว ไฟในการทำงานก็จะมอดลง จนอาจหมดแรงใจในการทำงานต่อไป สุดท้ายงานก็อาจจะไม่สำเร็จก็เป็นได้
“ความขี้เกียจ” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และบางคนก็มีความขี้เกียจฝังอยู่ในร่างเลยทีเดียว ซึ่งในทางจิตวิทยามีชื่อเรียกว่า “ภาวะแรงจูงใจต่ำ” หรือ Low Motivation ซึ่งเป็นภาวะที่เราเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากทำอะไร หรืออยากทำน้อย ๆ ให้งานเสร็จไว ๆ ดังนั้นหากเราใช้จุดเด่นของความขี้เกียจ คือ เน้นความเร็วในการทำงาน และ 5 เทคนิคจิตวิทยาข้างต้นมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เราก็สามารถทำให้งานประสบความสำเร็จได้ค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
[1] Amarin HOW-TO. (2566, 11 มีนาคม). 7 ศิลปะแห่งการผัดวันประกันพรุ่ง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566 จาก
https://www.facebook.com/amarin.howto/photos/a.241610745872521/6431952996838234/
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments