5 วิธีเยียวยาจิตใจเมื่อเราเกิดมีปัญหากับพ่อแม่
หากคุณผู้อ่านท่านใดกำลังเผชิญปัญหากับพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นทะเลาะกัน ไม่เข้าใจกัน ก็ขอให้อุ่นใจได้ว่าคุณไม่ใช่คนเดียวค่ะที่กำลังอยู่ในสถานการณ์น่าปวดหัวนี้ เพราะปัญหาความไม่เข้าใจกันของคุณพ่อ คุณแม่ กับลูก ๆ เป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไป และปัญหานี้จะรุนแรงเป็นพิเศษในครอบครัวที่
พ่อ แม่ที่กำลังเข้าสู่วัยทอง และลูก ๆ กำลังเข้าสู่วัยรุ่น นั่นก็เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทุกระบบ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและส่งผลกระทบไปยังจิตใจ ทำให้หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนง่าย เป็นวัยที่กำลังทดลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างเพื่อค้นหา “ตัวตน” ของตัวเอง เช่น ย้อมผม สักรอยสัก แต่งตัวล้ำ ๆ และแน่นอนค่ะว่า สิ่งเหล่านี้ย่อมไปขัดใจคุณพ่อคุณแม่อย่างแน่นอน แล้วยิ่งคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังเข้าสู่วัยทองด้วยแล้ว การแสดงความไม่พอใจยิ่งชัดเจนไปใหญ่ เพราะเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และการปรับตัวเข้ากับสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้ไปส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ทำให้มีอารมณ์แปรปรวน และรุนแรงพอ ๆ กันกับลูก ๆ พูดง่าย ๆ ก็คือ ในขณะที่ลูกเผชิญปัญหาของลูกอยู่นั้น พ่อ แม่ ก็กำลังต่อสู้กับปัญหาของตัวเองอยู่เช่นกัน และเมื่อทั้งสองฝ่ายที่มีความเครียดสูงมาปะทะกัน ก็พังทั้งคู่ แล้วตรงนี้นี่เองที่นักจิตวิทยาจะเข้าไปให้ข้อแนะนำ หรือหาทางช่วยเหลือครอบครัว เพื่อไม่ให้เกิดการแตกแยกขึ้น
Alfred Adler นักจิตวิทยาผู้เป็นตำนานได้เขียนไว้ในทฤษฎีของเขาว่า เด็กและวันรุ่นที่เติบโตมาในครอบครัวที่ระเบิดอารมณ์ใส่กัน หรือทะเลาะกันเป็นประจำ จะกลายเป็นคนที่มีปมด้อย แล้วจะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความมั่นคงทางใจ ไม่กล้าลงมือทำ ไม่กล้าเริ่มต้น มีอารมณ์เปราะบาง มีภูมิคุ้มกันทางใจน้อย และเมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็วก็จะสะสมจนกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด โรควิตกกังวล เป็นต้น
ดังนั้น ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมข้อแนะนำของนักจิตวิทยาที่ได้เสนอแนวทางการรักษาตัวให้รอดจากโรคซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตที่จะตามมาจากปัญหาครอบครัว ตามนี้เลยค่ะ
1.หาที่หลบภัยในบ้าน
หากคุณผู้อ่านไม่สามารถหลบหลีกสถานการณ์ออกจากบ้านได้ตลอดเวลา สิ่งที่ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ได้ ก็คือ การหา safe zone ให้ตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะนิยมใช้ห้องส่วนตัวเป็น safe zone ค่ะ เพราะสามารถแยกตัวออกมาลำพังจากพ่อ แม่ได้ แต่หากคุณผู้อ่านท่านใดไม่มีห้องส่วนตัว ก็สามารถหามุมสงบให้ตัวเองได้ โดยเลือกห้องที่เงียบ ไม่ค่อยมีคนในบ้านมายุ่ง สามารถล็อกห้องได้ เช่น ห้องเก็บของ ห้องพระ เพื่อให้เราได้มีที่พักจากเสียงดุด่า ให้ได้มีช่วงเวลาที่กลับมาทบทวนอารมณ์ ความรู้สึก และความนึกคิดของเราได้ค่ะ
2.หาที่ปรึกษา
เมื่อเราเจอสถานการณ์ที่ยากจะหาทางออก ทางที่ดีที่สุด คือ หาคนที่เราไว้ใจช่วยรับฟัง และแนะนำทางสว่างให้เราได้ค่ะ ซึ่งที่ปรึกษาของเราอาจจะเป็นเพื่อนสนิท ญาติสนิท พี่ น้อง ครู อาจารย์ หรือนักจิตวิทยาก็ได้นะคะ ขอแค่คน ๆ นั้นพร้อมรับฟังเราโดยไม่ตัดสิน
3.หากิจกรรมทำเพื่อไม่ให้ไปหมกหมุ่นอยู่กับคำพูด หรือการกระทำของพ่อแม่
หากโลกที่เราอยู่มันโหดร้าย เราก็ต้องสร้างโลกใหม่ที่ทำให้เรามีความสุขค่ะ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ฟังเพลง เล่นดนตรี วาดภาพ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เราเพลิดเพลิน ใช้สมาธิกับมัน เพื่อให้ตัดจากความวุ่นวาย และเรื่องร้อนใจที่เจอสักครู่ นอกจากนั้นแล้วการที่เราได้ทำงานอดิเรกยังช่วยฝึกสมาธิ และช่วยเปิดโลกทัศน์ของเราได้อีกด้วยค่ะ
4.วางแผนอนาคตเพื่อเดินไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า
หากบ้านที่อยู่ตอนนี้ร้อนจนไม่มีความสุข ทางออกที่ดีกว่าหนีออกจากบ้าน คือการตั้งใจเรียนในสิ่งที่เราชอบ และหมั่นฝึกฝนตนเอง เพื่อถึงวันหนึ่งที่เราต้องหางานทำเอง เราจะได้มีโอกาสได้ทำงานที่เรารัก และเมื่อเรามีงานทำเราก็สามารถวางแผนเก็บเงินได้ และสามารถออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ในที่สุดค่ะ
5.อย่าเก็บทุกคำพูดทุกการกระทำของพ่อ แม่ มาคิด
เพราะทุกครั้งที่ท่านดุด่า ประชดประชัน หรือทำพฤติกรรมไม่ดีใส่เรา นั่นไม่ใช่เพราะเราไม่ดี แต่เป็นเพราะพ่อแม่อารมณ์ไม่ดีค่ะ ฉะนั้น อย่าลดคุณค่าของตัวเองลง หรือประชดท่านกลับด้วยการทำร้ายตัวเองเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยค่ะ
และหากคุณผู้อ่านได้ทำทั้ง 5 ข้อที่ว่ามาแล้วยังรู้สึกไม่ดีขึ้น สามารถขอรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญของเราผ่าน iStrong ได้เสมอนะคะ พวกเราพร้อมให้คำปรึกษาและเคียงข้างทุกท่านค่ะ
iStrong ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษานักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย Contact : https://www.istrong.co/service
อ้างอิง :
สุริยเดว ทรีปาตี. พัฒนาการและการปรับตัวในวัยรุ่น. (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.nicfd.cf.mahidol.ac.th/th/images/documents/3.pdf
ศรีเรือน แก้งกังวาล. 2551. ทฤษฎีจิตวิทยาบุคลิกภาพ (รู้เขา รู้เรา). พิมพ์ครั้งที่ 15. กรุงเทพฯ : หมอชาวบ้าน. หน้า 49 – 50.
Commentaires