เราจะอยู่อย่างไร? กับคนเป็นโรคซึมเศร้าที่มีการทำร้ายตนเอง
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนนะคะว่า ไม่ใช่คนเป็นโรคซึมเศร้าทุกคนจะมีการทำร้ายตนเอง และไม่ใช่คนที่ทำร้ายตัวเองทุกคนจะเป็นโรคซึมเศร้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ค่ะว่าคนเป็นโรคซึมเศร้ามีความน่าห่วงใยในเรื่องการทำร้ายตนเองอยู่เหมือนกัน จึงอยากจะพูดถึงวิธีการดูแลคนเป็นโรคซึมเศร้าที่มีการทำร้ายตนเอง โดยเฉพาะคนเป็นโรคซึมเศร้าที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น
การทำร้ายตนเอง ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Nonsuicidal Self-Injury (NSSI) หมายถึง การทำให้ร่างกายของตนเองบาดเจ็บตั้งแต่ระดับเนื้อเยื่อ (tissue) ของร่างกาย โดยไม่ได้มีเจตนาทำให้ตนเองเสียชีวิต เช่น กรีดแขน เผาผิวหนัง ดึงเส้นผม ทำให้ฟกช้ำ การแกะเกาจนเกิดแผล การทุบศีรษะของตนเอง เป็นต้น โดยสาเหตุของการทำร้ายตนเองเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น
- มีความภาคภูมิใจในตนเองอยู่ในระดับที่น้อย (Low Self-esteem)
- เคยถูกทารุณกรรมทางจิตใจหรือทางเพศ (Previous emotional, physical or sexual abuse)
- เคยมีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก (Childhood trauma)
- มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งรังแก (Experience of bullying)
- ขาดทักษะในการจัดการกับปัญหาอย่างเหมาะสม (Immature problem solving skills)
- มีประวัติสูญเสียหรือพลัดพรากกับบุคคลอันเป็นที่รัก (Loss of a parent or significant person)
- ประสบปัญหาในการเข้ากับเพื่อนหรือคนในครอบครัว (Difficulty with peer and/or family relationships)
เราจะอยู่อย่างไร? กับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าที่มีการทำร้ายตนเอง
1. ทำความเข้าใจเบื้องหลังของการทำร้ายตนเองให้ถูกต้อง
หลายคนอาจเข้าใจว่าคนที่ทำร้ายตนเองแต่ไม่ตั้งใจให้ตัวเองเสียชีวิต เป็นการเรียกร้องความสนใจ แต่จริง ๆ แล้วเบื้องหลังของการทำร้ายตัวเองนั้นไม่ใช่การเรียกร้องความสนใจเลยค่ะ แต่เป็นพฤติกรรมที่สะท้อนถึงความต้องการได้รับความช่วยเหลือ แต่คนที่ทำร้ายตัวเองไม่ทราบว่าจะสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือได้อย่างไร รวมไปถึงการไม่รู้ว่าจะจัดการกับอารมณ์หรือปัญหาของตัวเองอย่างไร จึงพยายามแก้ปัญหาเท่าที่ตนเองจะนึกวิธีขึ้นมาได้ หลายคนเลือกทำร้ายตนเองในร่มผ้า ทำให้ผู้อื่นมองไม่เห็นหรือไม่ทันสังเกต หลายคนพบว่าหลังจากทำร้ายตนเองแล้ว อารมณ์ที่รุนแรงมันลดลง จึงคิดไปว่านี่คือวิธีการจัดการกับปัญหาที่ได้ผลสำหรับตนเอง เมื่อพบว่าทำแล้วได้ผล เขาก็จะลงมือทำอีกเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะทำแล้วรู้สึกดีขึ้นดังนั้น การทำร้ายตนเองจึงไม่ใช่การเรียกร้องความสนใจ แต่เป็นความพยายามที่จะจัดการกับอารมณ์ที่รุนแรงของตนเอง ด้วยตนเองเท่านั้น
2. ส่งเสริมให้คนที่ทำร้ายตนเองมีทักษะในการสื่อสารมากขึ้น
อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า คนที่ทำร้ายตนเองนั้น ไม่ได้ต้องการให้ตนเองเสียชีวิต แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะบอกกับคนรอบข้างอย่างไร หรือไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากใคร จึงพยายามคิดหาวิธีจัดการกับอารมณ์ที่รุนแรงของตัวเอง ซึ่งหลายคนพบว่าการทำร้ายตนเองนั้นได้ผล เช่น หลังจากที่กรีดแขนแล้ว ความรู้สึกผิดลดลงหรือหายจากการรู้สึกผิด เป็นต้น คนรอบข้างจึงควรช่วยส่งเสริมให้พวกเขากล้าที่จะสื่อสารความต้องการของตนเองออกมาให้มากขึ้น โดยอาจทำได้หลายวิธี เช่น
- ลดการต่อว่า ตำหนิ หรือซ้ำเติม เพื่อให้พวกเขากล้าเข้าหาคนอื่นมากขึ้นในเวลาที่ตนเองมีปัญหา
- แสดงออกให้พวกเขารู้ว่ามีคนห่วงใยและยินดีให้ความช่วยเหลือเสมอ โดยทำได้ทั้งภาษาพูดและภาษากาย
- หลีกเลี่ยงการถามว่า “ทำไม” เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกว่าพวกเขาทำผิด แต่เปลี่ยนเป็นการสะท้อนความรู้สึกแทน เช่น “ฉันรับรู้ได้นะว่าเธอกำลังรู้สึกแย่ มีอะไรเกิดขึ้นกับเธอบ้าง เล่าให้ฉันฟังได้นะ”
3. พาทำกิจกรรมเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความคิดอยากทำร้ายตนเอง
บ่อยครั้งที่การอยู่คนเดียวหรืออยู่เฉย ๆ จะนำไปสู่การคิดวกวน หรือหมกมุ่นอยู่กับความคิดของตนเองมากเกินไป แต่มันก็เป็นการยากเกินไปสำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าที่จะลุกขึ้นไปทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยลำพัง การพาคนที่เป็นโรคซึมเศร้าไปทำกิจกรรมโดยทำไปด้วยกัน จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดช่วงเวลาที่เขาจะอยู่กับความคิดของตนเอง เพราะต้องทำโน่นทำนี่ ต้องขยับเคลื่อนไหวร่างกาย โดยกิจกรรมที่เลือกนั้นอาจจะลองสอบถามคนที่เป็นโรคซึมเศร้าก่อนว่าพอจะทำอะไรได้ ไม่เลือกกิจกรรมที่ยากสำหรับพวกเขาจนเกินไป เช่น ชวนเดินเล่นสัก 20 นาทีเพื่อเป็นการออกกำลังกายไปในตัว เป็นต้น
4. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อพบว่าคนใกล้ชิดมีการทำร้ายตนเอง โดยพวกเขาอาจจะเป็นบุตรหลาน เพื่อน ลูกศิษย์ ฯลฯ คนรอบข้างมักมีความรู้สึกกังวล ไม่สบายใจ หรือไม่รู้ว่าตนเองควรจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือคนที่ทำร้ายตนเอง การไปขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก็เป็นอีกหนึ่งในทางออกที่ดี เพราะหลายคนนั้นมีเจตนาที่ดีแต่มีเทคนิควิธีที่จำกัด ทำให้ความหวังดีกลายเป็นยิ่งไปทำร้ายเขาอย่างไม่ได้ตั้งใจ เช่น อยากให้เขาเลิกทำร้ายตัวเอง จึงพูดไปว่า “ทำไมถึงทำแบบนี้? ไม่สงสารพ่อแม่บ้างเลยเหรอ เขาอุตส่าห์อุ้มท้องเลี้ยงดูมาจนโต” ดังนั้นการมาพบผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้มีเทคนิควิธีในการสื่อสารที่เหมาะสมกับคนที่ทำร้ายตนเองเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญจะช่วยปลอบประโลมจิตใจของคนใกล้ชิด ให้มีพลังใจในการกลับไปดูแลให้ความช่วยเหลือคนที่ทำร้ายตนเองอีกด้วย
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ประสบการณ์การทำงาน 8 ปี)
และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง
Comments