top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

พัฒนาการสื่อสารภายในทีมให้ดีและมีประสิทธิภาพด้วยเทคนิค HORENSO



จากการศึกษาของประภาพรรณ คลังกลาง พบว่า อุปสรรคใหญ่ในการสื่อสารภายในทีม คือ พฤติกรรมการสื่อสารในองค์กร และบรรยากาศในการสื่อสาร ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาทางจิตวิทยาองค์กรของแพมาลา วัฒนเสถียรสินธุ์ ที่พบว่า  ปัญหาการสื่อสารภายในทีมมักเกิดจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน การสื่อสารที่คลาดเคลื่อน รวมถึงทัศนคติทางลบที่คนในทีมมีต่อกัน ซึ่งการสื่อสารภายในทีมที่มีปัญหานี้ก็ได้ส่งผลเสียมหาศาลต่อองค์กร


ดังจะเห็นได้จากรายงานสถานะของการสื่อสารทางธุรกิจประจำปี 2023 ของ Grammarly ที่รายงานว่า ในแต่ละปีองค์กรเอกชนในประเทศสหรัฐอเมริกาต้องสูญเสียเงินเนื่องจากมีการสื่อสารภายในทีมผิดพลาดมากถึง 12,506 ดอลล่าห์ต่อพนักกงาน 1 คน และจากรายงานของ  Forbes เมื่อปี 2023 ก็พบว่า พนักงานในประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 49% ให้ข้อมูลว่าการสื่อสารภายในทีมที่ผิดพลาดส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาลดลง 


โดยปัญหาดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกองค์กรทั่วโลกต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาองค์กรชาวญี่ปุ่น จึงได้คิดเทคนิคจิตวิทยาที่มาช่วยปรับการสื่อสารภายในทีมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเรียกเทคนิคจิตวิทยาการสื่อสารภายในทีมนั้นว่า “HORENSO” ค่ะ


HORENSO เป็นเทคนิคการสื่อสารที่มีพื้นฐานมาจากปรัชญาญี่ปุ่น โดยมีความหมายถึง การรายงาน การติดต่อ และ การปรึกษา ซึ่งการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ต้องประกอบด้วยสามส่วนนี้ จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้ เพราะเมื่อเรามีการรายงานความคืบหน้า ปัญหา อุปสรรค ภายในทีม ให้ทีมรับรู้ ในทีมก็จะมีการติดต่อสื่อสาร และมีการให้คำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหา ลดอุปสรรค และผลักดันงานให้ไปสู่เป้าหมายได้ในที่สุด โดย HORENSO มีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้


HOukoku : การรายงาน

การรายงาน คือ การอธิบายให้ทีมรับทราบร่วมกันถึงความก้าวหน้าของงานที่ทำอยู่ ปัญหา อุปสรรค และความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างชัดเจน ครบถ้วน ตรงไปตรงมา 


REnraku : การติดต่อ

การติดต่อ คือ การพูดจาสื่อสารที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน สั้น กระชับ ได้ใจความ และสื่อสารได้ตรงตามจุดประสงค์


SOudan : การปรึกษา

การปรึกษา คือ การแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนะ ความคิดเห็น ต่อการดำเนินภารกิจของทีมให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประสิทธิผล ด้วยการใช้เวลาและงบประมาณที่เหมาะสม


ทั้งนี้ ทั้ง 3 เทคนิคของ  HORENSO จะต้องยึดหลักคำถาม 7 ข้อ ที่เรียกว่า “5W2H” ได้แก่

  • What คือ การตั้งคำถามเพื่อกำหนดวิธีการทำงาน โดยเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ในการทำงานว่า เรากำลังทำอะไรในตอนนี้

  • Who คือ การตั้งคำถามเพื่อกำหนดผู้รับผิดชอบในภาระงาน โดยการตั้งคำถามว่าใครจะเป็นแม่งาน หรือในการทำงานนี้มีใครรับผิดชอบในส่วนไหนบ้าง 

  • Where คือ การตั้งคำถามเพื่อระบุสถานที่ในการปฏิบัติงาน หรือดำเนินภารกิจ โดยต้องตั้งคำถามว่างานที่กำลังทำกันอยู่นี้ควรจะทำที่ไหนจึงจะเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด 

  • When คือ การตั้งคำถามเพื่อกำหนดระยะเวลาในการทำงาน ตั้งแต่เริ่มงานจนจบงาน เพื่อกำหนดกรอบเวลาในการทำงานให้ชัดเจน 

  • Why คือ การตั้งคำถามเพื่อหาวัตถุประสงค์ในการทำงาน โดยเป็นการตั้งคำถามว่าทำสิ่งนี้ เพื่ออะไร หรือได้ประโยชน์อะไรจากการทำงานนี้ 

  • How คือ การตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน โดยเป็นการตั้งคำถามว่าในการทำงานนี้มีขั้นตอนการทำงานกี่ขั้นตอน และทำอย่างไรบ้าง 

  • How much คือ การตั้งคำถามเพื่อกำหนดงบประมาณของการทำงานนี้ โดยเป็นการตั้งคำถามว่าในการทำงานนี้ให้สำเร็จต้องใช้เงิน วัสดุอุปกรณ์ หรือทรัพยากรอื่น ๆ ขององค์กรเท่าไร จึงจะคุ้มค่าที่สุด


ซึ่งทรัพยากรสำคัญในการทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายตามแนวคิด HORENSO ประกอบด้วย 5 ทรัพยากรหลัก ที่เรียกว่า “4M1E” ได้แก่

  • Men คือ ทรัพยากรบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรล้ำค่าที่สุดขององค์กร เนื่องจากคนที่ทำงานเก่ง ทำงานดี มีประสิทธิภาพ และเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ดีนั้นหายากมาก กว่าจะสร้างผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ชำนาญงานแต่ละคนในองค์กรต้องใช้เวลา และงบประมาณมาก ดังนั้นทรัพยากรบุคคล จึงถือว่าเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนองค์กร 

  • Machine คือ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกล เทคโนโลยี หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ช่วยให้ทีม หรือ บุคลากรในองค์กรสามารถทำงานได้สำเร็จ 

  • Material คือ ผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการ หรืองานที่ทีม หรือบุคลากรในองค์กรผลิตออกมา หรือการสร้างมูลค่าให้แก่องค์กรในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง 

  • Method คือ วิธีการทำงานที่ได้มาจากการตั้งคำถาม How ในข้างต้น ซึ่งเป็นวิธีดำเนินการที่ทำให้งานออกมาดี บรรลุวัตถุประสงค์ สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ 

  • Environment คือ บรรยากาศในการทำงาน จากงานวิจัยที่กล่าวถึงในตอนต้นว่าบรรยากาศในการทำงานส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการสื่อสารภายในทีม และประสิทธิภาพการสื่อสารภายในทีมส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากร ดังนั้นถ้าต้องการให้งานออกมาดี บรรยากาศในการทำงานก็จะต้องดี มีความสุข และเหมาะสมต่อการทำงานด้วย 


นอกจาก HORENSO จะได้นำเสนอเทคนิคในการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารภายในทีมแล้ว ยังได้แนะนำเทคนิคการลดอุปสรรค หรือขจัดปัญหาการทำงานภายในทีมด้วย 2 เทคนิค ดังนี้

  • Corrective คือ การศึกษาปัญหา และวิเคราะห์ปัญหาถึงสาเหตุการเกิดปัญหา ลักษณะปัญหา และทรัพยากรที่ทีมมีอยู่ เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์

  • Preventive คือ การข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหา มาถอดบทเรียนเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์หรือปัญหาซ้ำเดิมขึ้นมาอีก

การสื่อสารภายในทีมถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน เพราะการที่งานจะสำเร็จได้นั้น คนในทีมต้องเข้าใจกันอย่างถ่องแท้เสียก่อน งานถึงจะราบรื่น และฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบความสำเร็จได้ ด้วยเหตุนี้จึงหวังว่าเทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารภายในทีม “HORENSO” ที่ได้นำเสนอไปข้างต้น จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านในการทำงานนะคะ


หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ : 

 

อ้างอิง : 

1. Business plus. (2023, 23 มกราคม). มารู้จัก ... Ho Ren So ปรัชญาญี่ปุ่นกับการทำงาน. [ออนไลน์].


2. Mirai campus. (2019, 7 ตุลาคม). ทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสื่อสารแบบ HORENSO. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2567 จาก https://miraicampus.com/190814_horenso/


3. Workplace. (2024). ความท้าทายของการสื่อสารภายใน 10 ประการ และวิธีจัดการกับความท้าทายเหล่านั้น. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2567 จาก https://th-th.workplace.com/blog/internal-communication-challenges


4. คอเดียวกัน. (17 มิถุนายน 2565). โฮเรนโซ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2567


5. ประภาพรรณ คลังกลาง. (2556).

ปัญหาในการสื่อสารภายในองค์กรของพนักงานกรณีศึกษา บริษัท SVI จำกัด (มหาชน) จ.ปทุมธานี.

กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 1 – 13.


6. แพมาลา วัฒนเสถียรสินธุ์. (2559).ปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาการสื่อสารในองค์กร กรณีศึกษา บริษัท ยูไนเต็ด แสตนดาร์ด เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน).

กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 

 

ผู้เขียน : จันทมา  ช่างสลัก

บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้




Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page