เมื่อบ้านไม่ใช่ Safe Zoneรับมืออย่างไรเมื่อเป็น “โรคเกลียดคนในบ้าน”
เคยสังเกตไหมคะ ว่าคนในครอบครัวของเรา เป็น “โรคเกลียดคนในบ้านหรือเปล่า” ด้วยสถานการณ์ COVID – 19 ทำให้หลายคนต้องอยู่ภายในบ้าน ทำงานแบบ Work from home ออกนอกบ้านให้น้อยที่สุด ทำให้คนที่เราใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด คือ คนในบ้านหรือคนในครอบครัวนั่นเองค่ะ
แต่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างหน้าตกใจที่เราใช้เวลากับคนในบ้านมากขึ้น แต่เรากลับรักกันน้อยลง นั่นเป็นสัญญาณบอกว่ากำลังมี “โรคเกลียดคนในบ้าน” เกิดขึ้นในครอบครัวของเรา ซึ่งสังเกตได้จาก แฮชแท็กในทวิตเตอร์ ช่วงปี พ.ศ. 2563 ที่ใช้คำว่า “เกลียดครอบครัว” และ ”เกลียดบ้าน” หรือ คำที่เคยขึ้นแท็กฮิตในเว็บ pantip ที่ว่า “เกลียดครอบครัว” ในปี พ.ศ. 2563 โดยผู้ที่ติดแฮชแท็กดังกล่าวมักจะอยู่ในช่วงวัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และเพราะอะไรกันที่ทำให้เกิด “โรคเกลียดคนในบ้าน”
สำหรับมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาที่มีต่อโรคเกลียดคนในบ้านนั้น จิตแพทย์ท่านหนึ่ง ได้แสดงความเห็นในเพจ “สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย” ไว้ว่า โรคเกลียดคนในบ้าน หรือความรู้สึกเกลียดที่มีต่อพ่อแม่ หรือพี่น้อง เป็นอารมณ์ปกติที่ทุกคนสามารถเกิดขึ้นได้ นั่นก็เพราะคนที่รู้สึกเกลียดเป็นผู้ถูกกระทำให้เกิดบาดแผลในใจมาก่อน ทั้งจากการเลี้ยงดูแบบรุนแรง ความเข้มงวดมากเกินไป การแสดงออกว่ารักลูกไม่เท่ากัน หรือการปลูกฝังค่านิยมแข่งขันกันในพี่น้องก็ตาม
ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่บ่มเพาะเพราะความเกลียด จนเกิดเป็น “โรคเกลียดคนในบ้าน” ขึ้นมา กล่าวอีกอย่างก็คือ เพราะการเป็น Toxic people โดยไม่รู้ตัวของคนในบ้านนั่นเอง ที่เป็นสาเหตุให้เกิด “โรคเกลียดคนในบ้าน” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้แนะนำข้อสังเกตตัวเองว่าเราเป็น Toxic people หรือไม่ ไว้ดังนี้ค่ะ
1. เมื่อเราพูดคุยกับคนในบ้าน คนในบ้านทำหน้าเบื่อหน่าย หรือแสดงออกชัดเจนว่าไม่อยาก รับฟัง ไม่ต้องการพูดคุยด้วย หรือเมื่อเราเข้ามาให้วงสนทนา การสนทนาหยุดชะงักลงทันที พูดภาษาบ้าน ๆ คือ เรามาแล้ววงแตกนั่นเอง
2. รู้สึกหงุดหงิดคนในบ้านตลอดเวลา เห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด และพฤติกรรมที่สำคัญ คือ ไม่เก็บอารมณ์ หงุดหงิดก็โวยวายเลย ด่าเลย บ่นไม่หยุด ทำร้ายคน สัตว์ สิ่งของในบ้าน
3. รู้สึกผิดหวังกับคนในบ้านบ่อยแบบสังเกตได้ชัด ซึ่งนั่นอาจไม่ได้เกิดจากคนในบ้านทำให้เราผิดหวัง แต่อาจเกิดขึ้นจากการที่เราคาดหวังกับคนในบ้านอย่างไม่เหมาะสม คือ คาดหวังสูงเกินไป คาดหวังในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความสามารถของคนในบ้าน เป็นต้น
4. วางแผนให้คนในบ้านอยู่เสมอ โดยไม่ถามความสมัครใจ หรือรับฟังความเห็นของคนในบ้าน
5. ชอบเปรียบเทียบคนในบ้านอยู่เสมอ เช่น พ่อใจดีกว่าแม่ ลูกคนโตเรียนเก่งกว่าลูกคนเล็กลูกสาวช่วยทำงานบ้านกว่าลูกชาย เป็นต้น
6. คนในบ้านให้ Feedback ว่า เราไม่ค่อยสนใจรับฟังในสิ่งที่เขาพูด
7. มีอคติกับคนในบ้าน เช่น เมื่อมีของหายมักจะโทษลูกเสมอ หรือเมื่อมีสินค้ามาส่งมักจะมองว่าคนในบ้านฟุ่มเฟือย สิ้นเปลือง โดยไม่ถามเหตุผล หรือสอบถามความเป็นจริงก่อน
8. ดุเก่ง ดุจนตัวเองรู้สึกว่ากลายเป็นคนปากร้าย ปากไว ช่างประชดประชัน ดุจนไม่มีใครอยาก เข้าใกล้
9. ไม่เคยขอโทษ ไม่เคยขอบคุณ และไม่เคยใช้คำพูดดี ๆ กับคนในบ้าน
10. ไม่ให้พื้นที่ส่วนตัวกับคนในบ้าน เช่น ไม่ขออนุญาตก่อนเข้าห้องนอนของคนในบ้าน หยิบเงินหรือของคนในบ้านมาใช้โดยไม่ขออนุญาต แอบดูไลน์ หรือส่องเฟสบุ๊คของคนในบ้าน เป็นต้น
11. คนในบ้านให้ feedback ว่าเราไม่สนใจความรู้สึกของคนในบ้าน
12. ชอบยกตัวเองมาข่มคนในบ้าน เช่น สมัยพ่ออายุเท่าลูกนะ พ่อมีเงินเก็บเป็นแสนแล้ว หรือ ถ้าเป็นแม่นะ อาหารที่ทำมาคงรสชาติดีกว่านี้ เป็นต้น
และผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ได้แนะนำวิธีการลดความเป็น Toxic people โดยสามารถปฏิบัติตามได้ง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ
1. เคารพในพื้นที่ส่วนตัวของคนในบ้าน
ถึงแม้ว่าสถานการณ์ COVID – 19 จะทำให้เราอยู่ด้วยกันมากขึ้นนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของคนในบ้านได้ เพราะฉะนั้น นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า ขอให้เคารพความเป็นส่วนตัวของคนในบ้าน โดยขออนุญาตหรือถามความสมัครใจของคนในบ้านก่อนเสมอ เราก็จะไม่เป็น Toxic people ของคนในบ้านค่ะ
2. หาคนกลางในการปรับความเข้าใจ
กว่าจะรู้สึกตัวก็กลายเป็น Toxic people ของคนในบ้านไปเสียแล้ว อย่าเพิ่งกังวลใจไปค่ะ นักจิตวิทยาแนะนำว่าให้หาคนกลางที่คนในบ้านสบายใจ อาจจะเป็นเพื่อนของลูก พ่อ แม่ สามี ญาติสนิท มาช่วยพูดคุยปรับความเข้าใจให้ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่คนในบ้านจะเป็น “โรคเกลียดคนในบ้าน” ได้ค่ะ
3. เปิดใจรับฟัง Feedback จากคนในบ้าน
วิธีแก้ Toxic people ที่ดีที่สุด ก็คือ การรับฟังเสียงสะท้อนจากคนในบ้าน เพื่อให้เรารู้ว่าคนในบ้านรู้สึกกับเราอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนในบ้านไม่ชอบเรา และยังเป็นโอกาสดีที่เราและคนในบ้านจะช่วยกันหาแนวทางการแก้ไขการเป็น Toxic people ของเราด้วยค่ะ
4. ใช้ความสงบสยบทุกความเคลื่อนไหว
หากรู้ว่าคนในบ้านรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่กับเรา ก็ขอให้ใช้ความสงบสยบทุกความเคลื่อนไหว โดยพูดให้น้อยลงแสดงความเกรี้ยวกราดให้น้อยลง แสดงอารมณ์ทางลบให้น้อยลง โดยนักจิตวิทยาแนะนำว่าการใช้วิธี Mind fullness หรือ Relaxation ด้วยการกำหนดลมหายใจ ก็สามารถช่วยลดการแสดงออกของอารมณ์ทางลบไปได้มากค่ะ
5. รู้สึกอย่างไร ก็สื่ออกไปตรง ๆ
จากประสบการณ์ส่วนตัว จะเห็นว่าเวลาที่คนแก่บางคนพูดกับลูกหลานด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือพูดจาทำร้ายจิตใจคนในบ้าน มักจะแฝงไปด้วยเจตนาดี เช่น ห้ามเราออกจากบ้านเพราะเป็นห่วงความปลอดภัยของเรา บ่นหรือจำกัดการใช้เงินของเรา เพราะเป็นห่วงคุณภาพความเป็นอยู่ในอนาคตของเรานั่นเองค่ะ ดังนั้น จะดีกว่าไหมหากเราสื่อสารตรงตามความรู้สึก เป็นห่วงก็บอกว่าห่วง รักก็กล้าแสดงออก ให้คนในบ้านได้รู้สึกดีและอบอุ่นใจค่ะ
“โรคเกลียดคนในบ้าน” ถึงแม้ว่าอันที่จริงแล้วจะไม่ใช่ “โรค” แต่เป็นความรู้สึกทางลบที่สะสมมาจากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งปล่อยไว้นานคงไม่ดีแน่ หวังว่าบทความจิตวิทยานี้จะมีประโยชน์ และช่วยเพิ่มความรักในบ้านให้อบอุ่นมากขึ้นได้นะคะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 3 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต
อ้างอิง
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. เกลียดพ่อแม่แต่ก็รู้สึกผิด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2564
Commenti