6 เทคนิคจิตวิทยาดูแลและเยียวยาจิตใจผู้ถูกคุกคามทางเพศ
ในประเด็นร้อนแรงทางสังคม เรื่องการคุกคามทางเพศ หรือ Sexual Harassment ทำให้เราเห็นว่าการคุกคามทางเพศนั้นใกล้ตัวเรามากอย่างน่าตกใจ และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ดังเช่นในกรณีของ Brendan Fraser พระเอกภาพยนตร์เรื่องมัมมี่ ที่เคยโด่งดังอย่างมาก ต้องมาเสียหน้าที่การงานเพราะการถูกคุกคามทางเพศจากผู้อดีตประธานสมาพันธ์สื่อฮอลลีวูด (Hollywood Foreign Press Association) จนทำให้หายหน้าหายตาไปจากวงการ หรือกรณีของ Harvey Weinstein อดีตผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ผู้มีอิทธิพลในฮอลลีวูด ที่ถูกผู้หญิงกว่า 80 คน กล่าวหาว่าถูกเขาล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งในรายชื่อผู้เสียหายมีนักแสดงชื่อดัง เช่น Gwyneth Paltrow หรือ Uma Thurman รวมอยู่ด้วย หรือกรณีของ Jeni Haynes หญิงชาวออสเตรเลีย ผู้ถูกพ่อแท้ ๆ ทำร้ายทางเพศจนมีอาการทางจิตเวชด้วยโรคหลายบุคลิก หรือ Multiple Personality Disorder (MPD) หรือ Dissociative Identity Disorder (DID)
ซึ่งความยากในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศ นอกจากจะเป็นเรื่องการสร้างความไว้วางใจ เพื่อให้ผู้ถูกคุกคามทางเพศยอมเปิดใจเล่าความทุกข์ใจให้ฟังแล้ว ก็คือการดูแลจิตใจของเขาโดยไม่เปิดแผลใจ หรือการช่วยให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกตินั่นเอง เนื่องจากผู้ถูกคุกคามทางเพศมักจะประสบปัญหาสุขภาพจิตตามมา เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด หวาดกลัว เกิดบาดแผลทางจิตใจซึ่งอาการเหล่านี้มักนำไปสู่โรคทางจิตเวชในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า การพยายามฆ่าตัวตาย เกิดภาวะ post-traumatic stress disorder เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดูแลและเยียวยาจิตใจผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขต่อไป
ดังนั้น ในบทความจิตวิทยานี้จึงขอนำเทคนิคจิตวิทยา ในการดูแลและเยียวยาจิตใจผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศ มาฝากเผื่อนำไปใช้ในการดูแลและเยียวยาจิตใจของผู้ที่มีบาดแผลทางใจไม่ว่าเรื่องใด ๆ ก็ตามกันค่ะ
1. ระวังอย่าเปิดแผลใจ
ถึงแม้ว่าในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้ถูกคุกคามทางเพศ จำเป็นต้องมีการพูดคุย รวมถึงหนึ่งในขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือทั้งตามกฎหมาย และทางด้านจิตวิทยา ก็จำเป็นต้องมีการสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเราควรจะต้องระวังในการพูดคุยไม่ให้กลายเป็นการสอบสวน หรือการเท้าความถึงเหตุการณ์สะเทือนใจ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความสบายใจให้กับผู้ถูกกระทำเป็นหลักเมื่อเขาสบายใจ เขาไว้ใจเรา เรื่องราวต่าง ๆ จะถูกบอกเล่าออกมาเองค่ะ
2. อย่าตัดสินผู้ถูกคุกคามทางเพศ
มักจะมีประเด็นถกเถียงกันตลอดบนสังคมออนไลน์ ถึงสาเหตุของการคุกคามทางเพศที่มีน้ำเสียงไปในทางตำหนิผู้ถูกกระทำ เช่น เพราะเธอแต่งตัวโป๊อย่างไรละ เพราะเธอไปเที่ยวกลางคืนอย่างไรละ หรือ เพราะเธอกล้าไปเที่ยวตามลำพังกับเพื่อนต่างเพศอย่างไรละ เป็นต้น แต่คุณคะ ถ้าจิตใจคนเราไม่ใสสะอาด ต่อให้ใส่ชุดปิดตั้งแต่หัวยันเท้า อยู่แต่ในบ้าน เราก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของคนเหล่านั้นค่ะ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุแล้ว โปรดอย่าได้โทษ หรือโยนบาปให้ผู้ถูกกระทำ แต่ไปสนใจถึง การดำเนินการทางกฎหมาย และการเยียวยาจิตใจผู้ถูกกระทำจะดีกว่าค่ะ
3. สร้าง Safe Zone เคลื่อนที่
การสร้าง Safe Zone เคลื่อนที่ หมายถึง การสร้างความสบายใจในการใช้ชีวิตของผู้ถูกกระทำโดยการอยู่เคียงข้าง รับฟังทุกเรื่องราวโดยไม่ตัดสิน และสามารถติดต่อได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งการพบเจอกัน ซึ่งหน้า และการพบเจอกันแบบออนไลน์ เมื่อเราสามารถเป็นเพื่อนใจ เป็นผู้อยู่เคียงข้างได้อย่างสม่ำเสมอ ผู้ถูกกระทำจะอุ่นใจเพราะมีเราอยู่เคียงข้าง และทำให้สามารถกล้าออกไปใช้ชีวิตตามปกติได้มากขึ้นลดความหวดกลัวลงนั่นเองค่ะ
4. ดูแลอย่างใกล้ชิด
จากการอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อถึงความรู้สึกหลังจากเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ ทุกคนจะให้ข้อมูลตรงกัน คือ มีความหวาดระแวงในการใช้ชีวิตอย่างมาก เช่น ไม่สามารถนอนบนเตียงได้ ต้องนอนบนโซฟา หรือในถุงนอนแคบ ๆ ที่ให้ความรู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างห่อหุ้มตัวอยู่ หรือกลายเป็นคนย้ำคิดย้ำทำต้องคอยตรวจสอบล็อกประตูหลายครั้ง หรือล็อกประตูหลายชั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเครียด ความกังวล ความกลัว ที่สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิต ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ในระยะแรกต้องมีผู้ดูแลผู้ถูกกระทำอย่างใกล้ชิดค่ะ
5. สนับสนุนให้ใช้ชีวิตตามปกติ
จากข้อที่ 4 จะเห็นได้ว่าผู้ถูกกระทำจะมีความอยากลำบากอย่างมากในการกลับไปใช้ชีวิตเช่นเดิม เพราะยังคงหวาดกลัวต่อเหตุการณืที่เกิดขึ้น แต่ด้วยความจำเป็นหลาย ๆ อย่าง ก็บีบบังคับให้เขาเหล่านั้นต้องใช้ชีวิตด้วยตนเองไม่วันใดก็วันหนึ่งอยู่ดี ดังนั้น เพื่อให้เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วที่สุด เราก็ควรสนับสนุนให้เขาได้ใช้ชีวิตตามปกติอย่างที่ควรจะเป็น โดยการอยู่เคียงข้างอย่างใกล้ชิดในตอนแรก และค่อย ๆ สร้างความมั่นใจ ก่อนจะให้เขาใช้ชีวิตด้วยตนเองตามเดิมในที่สุดค่ะ
6. สนับสนุนให้ขอรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา
มาถึงเทคนิคจิตวิทยาในการเยียวยาจิตใจข้อสุดท้าย ที่จำเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ การเข้าพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อขอรับความช่วยเหลือค่ะ เพราะถึงแม้ว่าเหตุการณ์ร้ายจะผ่านไปนานแล้ว บาดแผลร่างกายจะไม่เจ็บปวดแล้ว แต่บาดแผลทางใจหากปล่อยไว้ด้วยคิดว่ามันจะหายไปเอง มันจะยิ่งฝังลึก กัดกร่อนเราจนถึงจิตวิญญาณ ทำให้ตัวตนของเราเปลี่ยนแปลงไป ความมั่นใจของเราพังทลาย และทำให้เราเสียความสามารถในการใช้ชีวิตได้ในที่สุดค่ะ ดังนั้นจึงควรให้ความดูแลจิตใจโดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ไปพร้อม ๆ กับการรักษาสภาพร่างกาย และการดำเนินการทางกฎหมาย ไปพร้อมกันค่ะ
จากงานศึกษาของอานนท์ จำลองกุล (2017) และรายงานของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต (กุมภาพันธ์ 2564) ให้ข้อมูลตรงกันว่า สิ่งที่ผู้ถูกคุกคามทางเพศต้องการมากที่สุด ก็คือ การได้รับการสนับสนุนทางจิตใจและทางสังคม เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติดังเดิมโดยเร็วค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ : 5 วิธีเยียวยาจิตใจเบื้องต้นตามหลักจิตวิทยา เมื่อลูกถูกทำร้าย(https://www.istrong.co/single-post/howto-when-the-child-is-abused)
อ้างอิง :
[1] โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต. กุมภาพันธ์ 2564. แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต. ภูเก็ต : โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต. 8 – 9.
[2] อานนท์ จำลองกุล. กันยายน - ตุลาคม 2017. การดแลผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ: ร่างกาย จิตใจ และการเยียวยาทางกฎหมาย. Chula Med J. 61 (5). 612.
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ในการนำศาสตร์จิตวิทยามาใช้ในการดูแลครอบครัว มากว่า 6 ปี อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต และมีความสุขกับการเขียนบทความจิตวิทยา
Comments