ฮีลใจคนใกล้ตัวอย่างไรให้มีพลังและความสุข
เชื่อว่าทุกคนย่อมมีคนใกล้ตัวและเป็นคนใกล้ตัวของคนอื่นในขณะเดียวกันอย่างน้อยหนึ่งสถานะ เช่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อน สมาชิกในครอบครัว หรือบางคนก็มีคู่รัก และแน่นอนว่าในชีวิตของคนเราย่อมไม่ได้มีแต่ช่วงที่ราบรื่นเท่านั้น แต่จะต้องมีบางช่วงชีวิตที่ต้องผ่านอุปสรรคหรือความผิดหวังล้มเหลวซึ่งในช่วงเวลาแบบนี้มักเป็นช่วงที่ต้องการได้รับการฮีลใจ อย่างไรก็ตาม การฮีลใจนั้นจัดว่าเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ฝึกฝน เพราะหากทำอย่างไม่เหมาะสมก็อาจจะกลายเป็นการทำให้รู้สึกแย่ยิ่งไปกว่าเดิม ทักษะที่ใช้ในการฮีลใจคนใกล้ตัวนั้นมีมากมายหลายอย่างแต่ในบทความนี้ผู้เขียนขอหยิบยกมาแบ่งปัน 6 อย่าง ได้แก่
1. ศึกษาหาความรู้ด้านสุขภาพจิต
ข้อกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตนั้นมีมากมายหลายอย่างแต่คุณไม่จำเป็นต้องไปถึงขั้นเชี่ยวชาญจนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับมัน เพียงแค่คุณมีความรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนของอาการที่สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการมีความเจ็บป่วยทางจิตใจก็ถือว่ามีประโยชน์มากแล้ว การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนในเบื้องต้นจะช่วยให้คุณมีความเข้าใจและช่วยบอกกับคนอื่นได้ถึงข้อกังวลที่คุณพบ นอกจากนั้น คุณยังสามารถเพิ่มเติมความรู้ให้กับตัวเองได้โดยการเข้าร่วมคอร์สอบรม support group หรือพูดคุยกับบุคคลที่ประสบปัญหาคล้ายกับปัญหาของคุณหรือคนที่คุณรัก
2. สงบสติอารมณ์ทำใจให้สบาย
การรับรู้ปัญหาของคนใกล้ตัวที่คุณรักมันอาจทำให้คุณเกิดความรู้สึกหวั่นกลัวขึ้นมาได้แต่ขอให้พยายามสงบสติอารมณ์ การเข้าไปช่วยเหลือแบบหุนหันพลันแล่นอาจทำให้คุณขาดการรับรู้สังเกตหรือดูก้าวร้าว จึงควรพยายามมีสติและอดทน ค่อย ๆ พิจารณาอาการของเขาและระดับความสัมพันธ์ของคุณและเขาก่อนที่จะตอบสนองออกไป คุณอาจจะใช้วิธีเขียนออกมาก็ได้ว่าคุณรู้สึกยังไงคุณต้องการช่วยเขายังไงซึ่งจะทำให้คุณเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของตัวเองและมีเวลาในการคิดว่าคุณจะแสดงเจตนาดีของคุณออกมายังไง
3. เคารพและอดทนต่ออีกฝ่าย
ก่อนที่จะพูดคุยถึงเรื่องในใจของอีกฝ่าย อย่าลืมว่าเจตนาคือคุณจะมาช่วยฮีลใจเขา ดังนั้นแทนที่จะแนะนำเชิงบังคับก็ควรที่ถามเขาว่าเขาอยากให้คุณช่วยอย่างไรบ้างจะดีกว่า พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นให้เขากล้าที่จะขอความช่วยเหลือโดยบอกให้เขารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่โอเค และแสดงให้เขารู้ว่าหากในวันข้างหน้าเขาต้องการพูดคุยกับใครสักคนคุณก็ยินดีที่จะเป็นคน ๆ นั้นให้กับเขา
4. รับฟัง
คุณสามารถทำให้คนใกล้ตัวของคุณรู้สึกรับรู้ได้ว่าคุณแคร์ด้วยการรับฟัง สิ่งสำคัญคือไม่ควรเอาประสบการณ์ของคนอื่นมาเปรียบเทียบกับเรื่องที่เขาเล่า และแม้บางเรื่องอาจจะบังเอิญมาเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของคุณแต่การเปลี่ยนไปเล่าเรื่องของคุณให้เขาฟังมันก็จะกลายเป็นการลดทอนความสำคัญของเรื่องที่เขาเล่าลงไปได้ เทคนิคเพิ่มเติมเล็กน้อยคือคุณอาจจะเตรียมข้อมูล Hotlines หรือการส่งต่อผู้เชี่ยวชาญเผื่อว่าได้ใช้ แต่ทุกครั้งก่อนที่จะแนะนำให้ข้อมูลอะไรไป คุณควรที่จะรับฟังเขาอย่างเต็มที่ให้เขาเล่าออกมาจนรู้สึกโล่งใจก่อนถึงค่อยแนะนำหรือชวนเขาไปทำอย่างอื่น
5. ให้ความช่วยเหลือ
วิธีที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดคือถามเขาว่าต้องการให้ช่วยยังไงบ้าง โดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่ไม่ชอบให้มีคนมาสั่งว่าเขาต้องทำอะไร การถามเขาว่าอยากให้คุณช่วยยังไงบ้างมันจะเป็นการทำให้เขารู้สึกว่าเขามีความสามารถในการรับผิดชอบควบคุมเกี่ยวกับปัญหาของตัวเองได้ ในขณะที่มันก็จะเป็นการทำให้เขารู้ไปในตัวว่าถ้าเขาต้องการความช่วยเหลือคุณคือคนหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือเขาได้
6. กำหนดขอบเขต (Boundaries)
ในการฮีลใจคนใกล้ตัวนั้นสิ่งสำคัญที่ควรทำก็คือการกำหนดขอบเขตทั้งของคุณเองและของเขา เพราะเวลาที่คุณพยายามที่จะฮีลใจเขาคุณอาจจะเผลอละเลยปฏิเสธความรู้สึกของตัวเองไป แต่ขอบเขตที่คุณกำหนดไว้จะช่วยให้คุณยังสามารถดูแลตัวคุณเองได้ระหว่างพูดคุยกัน และในขณะที่คุณกำลังฮีลใจให้พลังแก่เขา คุณต้องมั่นใจด้วยว่าคุณไม่ได้พยายามหนักอยู่ฝ่ายเดียวหรือพยายามมากกว่าอีกฝ่ายจนเกินไป
การฮีลใจคนใกล้ตัวนั้นควรมีสมดุลระหว่างการให้ความช่วยเหลือเขากับการแสดงถึงความเคารพให้เกียรติในศักยภาพของเขาว่าเขาจะสามารถพาตัวเองให้ผ่านพ้นอุปสรรคปัญหาไปได้ และผู้เขียนเองก็มีความคิดเห็นโดยส่วนตัวว่าแม้เราจะเป็นฝ่ายช่วยเขาฮีลใจแต่เราก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่เหนือกว่าเขา การฮีลใจที่เหมาะสมจึงควรตั้งต้นที่การวางสถานะของคนฮีลใจและอีกฝ่ายเอาไว้อย่างเท่าเทียมเสมอกัน เพราะหากเผลอวางสถานะว่าตนเองเป็นผู้ให้หรือผู้ที่รู้มากกว่าก็อาจจะเผลอไปสั่งการให้เขาทำตามที่เราบอก ซึ่งมันอาจจะส่งผลต่อความสัมพันธ์และก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นตามมาได้ จากที่หวังจะช่วยฮีลใจอาจจะกลายเป็นผิดใจกันไปแทน
หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] 6 Ways You Can Help a Loved One on Their Healing Journey. Retrieved from https://www.nami.org/education-professional/6-ways-you-can-help-a-loved-one-on-their-healing-journey/
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments