top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

สร้างองค์กรแห่งความสุข ด้วย 6 ทักษะจิตวิทยาที่เจ้านายยุคใหม่ต้องมี (Happy Workplace)


องค์กรโดยส่วนใหญ่ ไม่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชนล้วนมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้บรรลุผลกำไร หรือผลการดำเนินงาน แต่มักจะละเลยการให้ความสำคัญกับ “การสร้างองค์กรแห่งความสุข” หรือก็คือการทำงานอย่างมีความสุขของคนในองค์กร


ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงวิกฤต Covid – 19 ที่ผ่านมา จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 หรือช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 มีผู้ว่างงานเกิน 6 ล้านคน นั่นหมายความว่าเมื่อองค์กรพบวิกฤติ สิ่งที่องค์กรเลือกทำ คือ ลดพนักงาน หรือลดเงินเดือน สวัสดิการของพนักงาน


ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนขององค์กรลดน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาทางจิตวิทยาที่มีการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 275,000 คนทั่วโลก พบว่า “การสร้างองค์กรแห่งความสุข” สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้แก่องค์กร มากกว่าองค์กรที่คนทำงานอยู่กันแบบไม่มีความสุข


เมื่อมามองผลการศึกษาทางจิตวิทยาในบ้านเรา พบว่า ในปี พ.ศ. 2560 jobsDB ได้ทำการสำรวจคนทำงานทั่วประเทศไทย พบว่า ปัจจัยที่ทำให้องค์กรกลายเป็น “องค์กรแห่งความสุข” 3 อันดับแรก ได้แก่ บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบ ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย และเงินเดือน


ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้จะขอนำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับคนทำงาน เพื่อพัฒนาองค์กรไปสู่ “องค์กรแห่งความสุข(Happy Workplace) ค่ะ โดยได้นำ 6 ทักษะจิตวิทยาที่เจ้านายยุคใหม่ต้องมีมาฝากกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้ค่ะ



1. ทักษะการบริหาร


ทักษะการบริหาร หมายถึง ความสามารถของเจ้านาย หรือหัวหน้าในการบริหารงาน ผ่านการทำงานของพนักงานในองค์กร โดยต้องจัดสรรงานให้เหมาะสมกับความสามารถของพนักงาน และสอดคล้องกับห้วงเวลาที่จำกัด ซึ่งความท้าทายใหญ่ก็คือ การรักษาความสมดุลระหว่างภาระงาน ความเร่งด่วนของงาน ทรัพยากรในองค์กรที่มีอยู่อย่างจำกัด กับระดับความเครียดของพนักงาน


เพราะถ้าเจ้านายหรือหัวหน้ารักษาสมดุลของสิ่งต่าง ๆ ไม่ดี พนักงานก็มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต เกิดโรครุมเร้า และลาออกตามมา ซึ่งจะทำให้องค์กรสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าไปอย่างน่าเสียดาย



2. ทักษะการสื่อสาร


ทักษะการสื่อสาร ประกอบด้วย ความสามารถในการส่งข้อมูลให้กับผู้รับข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน การฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจ มีความชัดเจนทั้งคำพูด และความรู้สึก มีทัศนคติที่ดี หรือเปิดกว้าง สามารถใช้คำพูดเชิงบวกได้ดี รวมไปถึงมีภาษากายที่เหมาะสมกับเรื่องที่สื่อสารด้วย


ซึ่งเจ้านายหรือหัวหน้าที่มีทักษะการสื่อสารที่ดีจะทำให้คนทำงานเข้าใจความต้องการขององค์กรได้อย่างชัดเจน สามารถทำงานได้ตรงตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรก็จะบรรลุเป้าหมาย และประสบความสำเร็จในที่สุด



3. ทักษะการสร้างเสริมแรงจูงใจ


ทักษะการสร้างเสริมแรงจูงใจ คือ ความสามารถในการกระตุ้นพนักงานให้มีกำลังใจ มีไฟในการทำงาน และมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงาน โดยการใช้วิธีสร้างความพึงพอใจให้แก่พนักงาน เช่น คำชมเชย รางวัล เพิ่มค่าตอบแทน ได้รับการยอมรับในองค์กร เป็นต้น


ซึ่งทักษะการสร้างเสริมแรงจูงใจ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญของ “องค์กรแห่งความสุข” เนื่องจากพนักงานที่ได้รับการกระตุ้นจะมีความพอใจ ความสุขใจที่จะทำงานของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ และงานที่ออกมาก็จะมีประสิทธิภาพ ทำให้องค์กรบรรลุประสิทธิผลได้ตามเป้าหมาย



4. ทักษะการถ่ายทอดความรู้


ทักษะการถ่ายทอดความรู้ หมายถึง ความสามารถในการส่งต่อประสบการณ์ในการทำงาน ประสบการณ์ในการใช้ชีวิต ความรู้ ทักษะ เทคนิคในการทำงานให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทักษะการถ่ายทอดความรู้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรอย่างมาก เนื่องจากทุกองค์กรมักจะประสบปัญหาเมื่อคนเก่งเกษียณหรือลาออก มักจะไม่มีคนที่ทำแทนได้


ดังนั้นหากเจ้านาย หรือหัวหน้าที่เก่ง ดี และมีศักยภาพสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนอื่นในองค์กรได้ นั่นหมายความว่าองค์กรจะมีคนที่มีความรู้อย่างเดียวกันมากกว่าหนึ่งคน เมื่อขาดคนใดคนหนึ่ง องค์กรก็สามารถก้าวต่อไปได้โดยไม่สะดุด



5. ทักษะการตัดสินใจและแก้ไขปัญหา


ทักษะการตัดสินใจและแก้ไขปัญหา เป็นทักษะที่เจ้านาย หรือหัวหน้า “ต้อง” มี เพื่อใช้ในการทำความเข้าใจปัญหาว่ามีสาเหตุอย่างไร และมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร รวมไปถึงสามารถวิเคราะห์หาแนวทางในการป้องกันไม่ให้ปัญหามันเกิดขึ้นอีกได้อย่างไร


หากเจ้านายหรือหัวหน้าสามารถใช้การตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาได้ดี คนที่ทำงานด้วยจะมีความสบายใจในระดับหนึ่งที่ไม่ต้องแบกรับความเครียดจนเกินไปในการทำงาน เพราะเชื่อมั่นในทักษะการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาของเจ้านายหรือหัวหน้านั่นเอง



6. ทักษะการเข้าสังคม


ทักษะการเข้าสังคม เป็นทักษะสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานเป็นทีม เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะหัวหน้า หรือคนทำงาน คุณก็อยู่ร่วมกัน เป็นทีมเดียวกัน ดังนั้นหากคุณมีทักษะในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางบวกกับผู้อื่น มีความสามารถในการรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมไปถึงความสามารถในการรับรู้กาลเทศะในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น คุณก็สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานที่เราใช้เวลาอยู่ร่วมกับเขามากกว่าเราอยู่กับคนในครอบครัวเสียอีก ได้อย่างมีความสุขค่ะ


องค์กรแห่งความสุข(Happy Workplace) ตามหลักสากลมีองค์ประกอบสำคัญ 3 องค์ประกอบ คือ สภาพแวดล้อมและจิตวิทยาทางสังคมในองค์กร ทรัพยากรบุคคล และการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนในองค์กรทุกระดับมีความสุขในการทำงาน ซึ่ง 6 ทักษะจิตวิทยาที่เจ้านายยุคใหม่ต้องมี ที่ได้นำมาฝากข้างต้นนั้น จะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้เกิดความสุขในองค์กรได้อย่างยั่งยืนค่ะ ทั้งนี้หากองค์กรใดสนใจเทคนิคเพิ่มเติม หรือต้องการคำปรึกษาในการพัฒนาองค์กรด้วยเทคนิคจิตวิทยา สามารถติดต่อ istrong ได้เสมอนะคะ


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 


 สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8 


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : 1. JobsDB. ( 12 กันยายน 2017). ยิ่งให้ยิ่งได้รับ สร้างสุขให้พนักงาน สู่ผลกำไรขององค์กร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2565 จาก https://shorturl.asia/HSwda

2. JobsDB. (22 พฤษภาคม 2015). คนทำงานมีความสุขกับงานเพราะอะไร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2565 จาก https://shorturl.asia/oeR59

3. mrslaongtip in Uncategorized. (11 กันยายน 2013). องค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2565 จาก https://shorturl.asia/VPOX1

4. UOB. (มปป.). 6 ทักษะดีไซน์ตัวเองให้เป็น “เจ้านายในฝัน”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2565 จาก https://www.uob.co.th/default/index.page

5.ดอน นาครทรรพ. (ตุลาคม 2564). ส่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากตัวเลขตลาดแรงงาน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2565 จาก https://shorturl.asia/D2XVU

6 มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย. (11 ตุลาคม 2564). องค์กรแห่งความสุข คำเรียบง่ายที่อยากเข้าเป็นส่วนหนึ่ง. ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2565 จาก https://shorturl.asia/gFKCd

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์กับคนอ่าน


ความคิดเห็น


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page