5 เทคนิคสร้างแรงจูงใจให้ลุกขึ้นมาทำงานทุกวัน
หลังจากผ่านวันหยุดยาวมา หลายๆ คนอาจจะยังไม่พร้อมสำหรับการทำงานที่กำลังมาถึง การสร้างแรงจูงใจให้กลับมามีความกระตืนรือร้น อยากจะทำงานจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังงานอย่างมาก
บ่อยครั้งที่พอเราทำงานกันมาจนถึงจุดๆหนึ่ง เราย่อมรู้สึกว่าไม่อยากทำแล้ว แค่ตื่นมาทำงานก็รู้สึกไม่อยากลุกออกจากเตียงแล้ว รู้สึกว่างานไม่น่าตื่นเต้น ไม่มีอะไรให้น่าสนใจ หรือถ้าใช้คำพูดตามที่ กำลังนิยม ก็คือ “รู้สึกไม่มี Passion กับงานอีกต่อไปแล้ว”
แต่ด้วยปากท้องที่ยังต้องกินยังต้องใช้ ยังมีภาระทางการเงินให้รับผิดชอบ ยังมีภาระครอบครัวให้ดูแล และด้วยเศรษฐกิจและการเมืองของบ้านเราที่ผันผวนเช่นนี้ การจะหางานใหม่ที่ตรงกับความสนใจก็ทำไม่ได้ง่ายนัก ดังนั้น วันนี้ผู้เขียนจะขอรวบรวมและสรุปผลการศึกษาของนักวิจัยต่างประเทศหลายๆท่าน ที่พูดถึงการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน ออกมาเป็นวิธีการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน 5 วิธี ดังนี้
1. ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายให้ตัวเอง
ทุกเป้าหมายทีความท้าทายอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อเราตั้งเป้าหมายแล้ว เราจะรู้สึกว่าต้องพิชิตเป้าหมายนั้นให้ได้ ซึ่งความต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จนี้เองที่ David I. McClelland นักจิตวิทยาชื่อดัง ได้ทำการทดลองโดยใช้แบบทดสอบการรับรู้ของบุคคล (thematic apperception test (tat) เพื่อวัดความต้องการของมนุษย์ พบว่า ความต้องการความสำเร็จ (need for achievement) เป็นความต้องการที่จะทำสิ่งต่างๆให้เต็มที่และดีที่สุดเพื่อความสำเร็จ โดยบุคคลที่ต้องการความสำเร็จสูง จะมีลักษณะชอบการแข่งขัน ชอบงานที่ท้าทาย และต้องการได้รับข้อมูลป้อนกลับเพื่อประเมินผลงานของตนเอง มีความชำนาญในการวางแผน มีความรับผิดชอบสูง และกล้าที่จะเผชิญกับความล้มเหลว ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะมีแรงจูงใจในการทำงานสูงมาก
2. ให้รางวัลกับตัวเองเมื่องานสำเร็จ
Victor Harold Vroom อาจารย์จาก Yale School of Management ได้ค้นคว้าหาความสัมพันธ์ระหว่างประสิทธิภาพในการทำงานและผลตอบแทนที่ได้รับ และพบว่ามนุษย์ตัดสินใจทำสิ่งใด ก็เป็นเพราะความคาดหวังถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น หากเราตั้งรางวัลตามความสำเร็จให้แก่ตนเองไว้ก็จะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานได้อย่างดี
โดยแรงจูงใจนั้นอาจจะเป็นของรางวัลในรูปแบบต่างๆ ที่เราพอใจ และมีความท้าทายความต้องการของเราให้เหมาะสมกับระดับความยากของเป้าหมายความสำเร็จที่เราได้ตั้งไว้ เช่น หากคุณผู้อ่านเป็นเซลล์ และตั้งเป้าหมายในการทำงานว่า หากขายงานได้จะซื้อกระเป๋าหนังเป็นรางวัลให้ตนเอง หรือหากได้เลื่อนตำแหน่ง คุณผู้อ่านจะให้รางวัลตนเองด้วยการไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น การให้รางวัลตนเองเช่นนี้เป็นที่นิยมกันมากในกลุ่มคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก เพราะสามารถสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวกได้เป็นอย่างดี
3. เปลี่ยนบรรยากาศโต๊ะทำงาน
หากคุณผู้อ่านอยู่ที่ทำงานแล้วรู้สึกห่อเหี่ยว ขาดความสดใส การปรับเปลี่ยนบรรยากาศที่โต๊ะทำงานใหม่ก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อยในการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน โดย Frederick Herzberg นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน ได้เสนอแนวคิดว่าสภาพแวดล้อมทางกายภาพในการทำงาน เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจให้คนทำงานอย่างมีความสุขและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หากคุณผู้อ่านมีความรู้สึกไม่ดีเวลาอยู่ที่ทำงาน ก็ขอให้ปรับฮวงจุ้ยที่โต๊ะทำงานเพื่อความสบายใจเสีย โดยอาจจะมีต้นไม้ ดอกไม้ หรือของใช้น่ารักๆ มาเพิ่มความสดใสให้โต๊ะทำงาน หากคุณผู้อ่านตกแต่งโต๊ะทำงานจนเป็นที่พอใจแล้ว คุณผู้อ่านจะรู้สึกโดยอัตโนมัติว่า โต๊ะทำงานคือที่ของคุณ และคุณผู้อ่านจะรู้สึกว่าต้องมาทำงานนะเพื่อดูแลที่ที่เป็นของคุณ และเมื่อคุณผู้อ่านได้ทำงานในสถานที่ที่เป็นของตนเองแล้ว คุณผู้อ่านจะรู้สึกผ่อนคลาย อบอุ่น ปลอดภัย มีความสบายใจในการทำงานเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าจะมีแรงจูงใจในการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
4. ขอย้ายแผนก/เปลี่ยนรูปแบบงานที่รับผิดชอบ
เมื่อเราลาออกไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ได้ทำงานที่ตรงกับความต้องการของเรา วิธีที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับคนที่รู้ตัวว่างานปัจจุบันที่ทำอยู่ไม่ถูกจริตกับตนเอง ก็คือ การขอย้ายไปทำงาน ที่ตรงกับความสามารถ ถูกจริต และเหมาะสมกับความคาดหวังของตนเอง การขอย้ายแผนกนี้อาจใช้เวลา สักหน่อย แต่รับรองเลยว่าคุ้มค่า (หากงานใหม่ตรงกับใจของคุณผู้อ่าน) และไม่ต้องเสี่ยงกับการเสียงานnเสียโอกาสในการเลื่อนตำแหน่ง
ทั้งนี้ Daniel Goleman กรรมการผู้จัดการของ Emotional Intelligence Services ในรัฐแมสซาชูเส็ต ประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Working with Emotional Intelligence” ได้แสดงแนวคิดว่า บุคคลที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตจะต้องมี Self – Awareness คือ ความสามารถที่จะรับรู้ตนเองว่าตนชอบอะไร ถนัดอะไร มีศักยภาพด้านใด สามารถประเมินตนเองได้ว่า ตนสามารถทำอะไรได้บ้าง และแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์
5. พูดคุยกับหัวหน้างานถึงความคาดหวังในการทำงาน
ทฤษฎี Maslow's hierarchy of needs ของ Abraham Maslow ได้กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนต้องการ ที่จะได้รับการนับถือและเคารพให้เกียรติ ความเคารพนับถือแสดงถึงความต้องการของมนุษย์ที่จะได้รับการยอมรับและเห็นคุณค่าโดยคนอื่น ผ่านกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกว่าเขาได้มีส่วนทำประโยชน์ เพื่อจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ หรือ งานอดิเรก
ดังนั้น การที่เราได้แสดงทัศนคติและความคาดหวังเรื่องการทำงานกับหัวหน้างาน จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานในการทำงานร่วมกันระหว่างคุณผู้อ่านและหัวหน้างาน รวมถึงเพื่อนร่วมงานของคุณผู้อ่าน
ให้มีการปรับวิสัยทัศน์ในการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเมื่อองค์การมีการปรับเปลี่ยนเช่นนี้แล้ว คุณผู้อ่านจะมีแรงจูงใจในการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ผู้เขียนหวังว่า ข้อมูลที่ได้ค้นคว้าและสรุปมาข้างต้น จะเป็นประโยชน์ให้คุณผู้อ่านได้นำไปปรับใช้ในการทำงาน หากผู้อ่านท่านใดได้นำไปใช้แล้วไปด้ผลเป็นเช่นไร สามารถมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้นะคะ
อ้างอิง :
1. Srisupan. ทฤษฎีของการจูงใจ (theories of motivation).
สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561
สืบค้นจาก http://motivation-srisupan.blogspot.com/2012/07/theories-of-motivation.html
2. Vroom, V. H. (1964). Work and motivation. New York: John Wiley & Sons.
3. Herzberg, F. (2005). Motivation-hygiene theory. Organizational behavior one: Essential theories of motivation and leadership, eds JB Miner, ME Sharpe Inc, New York.
4. รัตนา ประชาทัย. องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์
สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561
สืบค้นจากhttps://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/behind_the_success/01.html
5. Kenrick, D. (2010, May 19). Rebuilding Maslow’s pyramid on an evolutionary foundation. Psychology Today: Health, Help, Happiness + Find a Therapist. Retrieved July 16, 2010, from http://www.psychologytoday.com/blog/sex-murder-and-the-meaning-life/201005/rebuilding-maslow-s-pyramid-evolutionary-foundation
____________________________________________________
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
Kommentarer