top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

กุเดนทามะ เจ้าไข่ขี้เกียจ! กับ 6 ข้อคิดจิตวิทยาในการใช้ชีวิตให้มีความหมาย



“ขี้เกียจ!!!” คือคำพูดติดปากของตัวละคนเจ้าไข่ขี้เกียจ หรือกุเดทามะ ที่มีคาแรกเตอร์โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์จนสามารถครองใจใครหลาย ๆ คนได้ รวมถึงเป็นไอดอลของคนที่เกิดความรู้สึกอยากพัก อยากจะปล่อยให้ตัวเอง “ขี้เกียจ” เหมือนเจ้ากุเดทามะบ้างในบางเวลา แต่เบื้องหลังหลังการสร้างกุเดทามะ เจ้าไข่ขี้เกียจของเรานั้น กลับเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และเต็มไปด้วยความเข้าใจความหมายของชีวิต โดยเจ้ากุเดทามะ เกิดขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 2013 นี่เองค่ะ จากการประกวดหาคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนใหม่ของซานริโอ (Sanrio) และเจ้าไข่ขี้เกียจ ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดย Nagashima Emi ก็ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง แต่ดันเป็นคาแรคเตอร์ที่กระแทกใจคนทั่วไป จนทำเงินขึ้นมาเป็นอันดับสามของ Sanrio โดยแรงบันดาลใจในการสร้างเจ้ากุเดทามะขึ้นมานั้น คุณ Emi ได้กล่าวไว้ว่า เพราะความขี้เกียจอยู่ในตัวของพวกเราทุกคน


และตั้งแต่ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา แอปพลิเคชั่น Netflix ก็ได้ปล่อยซีรีย์กุเดทามะ เจ้าไข่ขี้เกียจ ให้เราได้รับชมกัน ซึ่งเป็นตอนสั้น ๆ จำนวน 10 ตอนด้วยกัน ตอนละประมาณ 10 นาทีค่ะ ซึ่งดิฉันก็ได้เข้าไปดูด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นซีรีย์เบาสมอง แต่คุณค่ะ ผิดคาดมากค่ะ พอเข้าไปดูตั้งแต่ EP1 ก็พบว่า ซีรีย์กุเดทามะเป็นซีรีย์ปรัชญาเซนว่าด้วยการให้ความหมายของชีวิต และในบทความจิตวิทยานี้ดิฉันก็ขอนำ 6 ข้อคิดจิตวิทยาในการใช้ชีวิตให้มีความหมาย ฉบับกุเดนทามะมาฝากกันค่ะ


1. ชีวิตที่ดีต้องมีเป้าหมาย

ในซีรี่ย์กุเดนทามะ ของ Netflix นอกจากจะมีเจ้าไข่ขี้เกียจของเราเป็นตัวชูโรงแล้ว ยังมีตัวละครอีกตัวที่โดดเด่นไม่แพ้กัน และออกจะเป็นตัวนำเรื่องด้วยซ้ำ นั่นก็คือ ลูกเจี๊ยบที่ชื่อ “ชากิปิโยะ” ค่ะ ซึ่งชากิปิโยะ เป็นตัวละครที่มีความมุ่งมั่นสูง มีความเชื่อมั่นในเป้าหมายชีวิตอย่างแรงกล้า และดูมีไฟที่สุดในซีรีย์ที่เต็มไปด้วยตัวละคร “ขี้เกียจ” เรื่องนี้ โดยน้องเจี๊ยบชากิปิโยะ มีเป้าหมายเดียวในชีวิตที่แรงกล้ามากเลย นั่นก็คือตามหาแม่ให้เจอ เพราะใน EP แรก ชากิปิโยะเป็นไข่ฟองเดียวที่ฟักออกมาเป็นตัว ซึ่งปกติแล้วไข่ที่วางขายกันจะเป็นไข่ที่ไม่ได้รับการผสม นั่นจึงทำให้ชากิปิโยะรู้สึกว่าเขาต้องใช้ชีวิตให้มีความหมาย และก็วางเป้าหมายไว้ว่าจะไปตามหาผู้ให้กำเนิด โดยพากุเดทามะ เจ้าไข่ขี้เกียจของเราไปด้วย จนเกิดเป็นการผจญภัย และการเรียนรู้ความหมายของชีวิตไปตลอดทั้งเรื่อง


2. เราทุกคนล้วนมีอัตลักษณ์ของตนเอง

ใน EP ที่สองเป็นตอนที่กุเดทามะและชากิปิโยะต้องผจญภัยในร้านอาหารญี่ปุ่นแบบสายพาน เลยทำให้กุเดทามะได้พบเจอกับสารพัดเมนูไข่ เช่น ซูชิหน้าไข่หวาน พุดดิ้งไข่ ไข่ตุ๋น หรือซูชิหน้าไข่ปลาแซลม่อน เป็นต้น ซึ่งเจ้าไข่ปลาแซลม่อนสีส้มสดนี่ละค่ะกลับมีคำถามที่ทำให้กุเดทามะและผู้ชมต้องฉุกคิด นั่นก็คือ “อัตลักษณ์คืออะไร?” ซึ่งกุเดทามะได้ตอบไปว่า คือ “รสชาติ” แต่ไข่ปลาแซลม่อนก็บอกว่าพวกเขาทุกฟองมีสี กลิ่น รส ผิวสัมผัสเหมือนกันหมด แต่มีพุดดิ้งที่ถามไข่ปลาแซลม่อนกลับว่า “เธอมาจากไหน?” พอไข่ปลาแซลม่อนเล่าเรื่องราวให้ฟัง พุดดิ้งก็ชี้ให้เห็นว่า “ที่มาของพวกไข่ปลาเป็นอัตลักษณ์ที่ไม่ธรรมดา” นั่นทำให้เราได้คิดว่าเราทุกคนล้วนมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง ที่ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น ๆ


3. เราคือผู้ให้คุณค่าชีวิต

ใน EP ที่สาม ตอนที่กุเดทามะได้พบนายกรัฐมนตรี แล้วนายกฯ บ่นกับกุเดทามะเรื่องคะแนนนิยมที่ตกต่ำขั้นสุด กุเดทามะเลยถามนายกฯ ว่า “ใครเป็นคนให้คุณค่ากับคุณ?” โดยนายกฯ ตอบว่า “ประชาชนเป็นคนให้คุณค่านายกรัฐมนตรี” แต่กุเดทามะกลับบอกว่า “คนที่ให้คุณค่าชีวิตของคุณคือตัวคุณเองไม่ใช่หรือ” จึงทำให้นายกฯฉุกคิดได้ว่า ถ้าเขาเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง เขาจะทำหน้าที่ได้โดยไร้ความกังวล แล้วผลงานจะสะท้อนคุณค่าของเขาออกมาเอง


4. ราสามารถเป็นอะไรก็ได้ ถ้าเราเชื่อมั่นในตนเองมากพอ

ใน EP 3 อีกเช่นกันที่นายกรัฐมนตรีได้พูดกับกุเดทามะว่า “เราทุกคนสามารถเป็นอะไรก็ได้ถ้าเชื่อมั่นในตนเองมากพอ” จึงทำให้กุเดทามะอยากเป็นนายกรัฐมนตรีดูบ้าง แล้วก็ลงเลือกตั้ง มีการหาเสียง แล้วก็ดันได้รับเลือกตั้งอีกต่างหาก ในตอนนี้แม้จะมีความเหลือเชื่อ หรือ Fantasy อยู่แต่ก็ทำให้เราได้ตระหนักว่า ความเชื่อสามารถผลักดันให้เรากลายเป็นอะไรก็ได้ ถ้าเรามุ่งมั่นที่จะทำความเชื่อนั้น และเชื่อมั่นในตนเองมากพอ


5. อย่าปล่อยให้ตัวเองกลายเป็นไข่เน่า

ก่อนจะลาจากนายกรัฐมนตรี นายกฯ ได้กล่าวกับกุเดทามะว่า “ชีวิตของเรามีวันหมดอายุ อย่าปล่อยให้ตัวเองกลายเป็นไข่เน่า” นั่นสื่อความหมายว่า เมื่อมีชีวิตก็จงใช้ชีวิตให้คุ้มค่า อย่าปล่อยให้ตัวเองซึมเศร้าซังกะตาย กลายเป็นไข่เน่าที่นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ แล้วยังเป็น Toxic สร้างพิษรบกวนคนอื่นไปอีก เช่นที่เจ้าไข่เน่าใน EP ที่ 5 เป็นอยู่คือ วัน ๆ ได้แต่ก่อกวนคนอื่น และรีบไถโชยุ ซึ่งเป็นอาหารโปรดของพวกไข่ทั้งหลาย จากไข่ตัวอื่น ๆ แถมยังมีกลิ่นไม่พึงประสงค์รุนแรงอีกต่างหาก


6. ก้าวไปในจังหวะของตัวเอง

และจาก EP ที่ 6 จนจบ ตัวเองของเราก็ไปผจญภัยกับไข่มากมายหลากหลายรูปแบบ ทั้งไข่นิสัยดี และไข่มาเฟีย แต่เมื่อได้เดินทางมาถึงจุดหมายและได้ทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมา ทั้งกุเดทามะและเจี๊ยบชากิปิโยะก็ได้เรียนรู้ว่า เราทุกคนต่างมีจังหวะชีวิตเป็นของตนเอง บางคนเดินเร็ว บางคนเดินช้า แต่ทุกคนก็จะมีความมั่นใจและรู้สึกมั่นคงในจังหวะที่ตนก้าวไป แต่อย่างไรก็ตามหากเหนื่อยนักอย่าลืมหยุดพัก และปล่อยให้ตัวเองขี้เกียจบ้างในบางเวลา


ถึงแม้ว่าซีรีย์กุเดทามะ เจ้าไข่ขี้เกียจ จะมีภาพลักษณ์เบา ๆ แต่จริง ๆ แล้วสอนการใช้ชีวิตให้มีความหมายแก่เราอย่างมากเลยค่ะ หากท่านใดรับชมแล้วพบข้อคิดจิตวิทยาในการใช้ชีวิตให้มีความหมายอื่น ๆ สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยน หรือบอกเล่ากับเรา istrong ได้นะคะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง : สีวิกา ฉายาวรเดช. (30 ธันวาคม 2565). รู้จัก “กุเดทามะ” การ์ตูนไข่สะท้อนความขี้เกียจ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2566 จาก https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2590895


 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์ต่อคนอ่าน


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page