รักลูกให้ถูกทางด้วยการสร้าง “GRIT” ให้กับลูก
พ่อแม่เกือบจะทุกคนมักจะรู้สึกว่าลูกคือ “แก้วตาดวงใจ” บางคนแค่ลูกหกล้มก็น้ำตาไหลเพราะสงสารลูก หลายคนตั้งปณิธานว่าจะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ลูกลำบาก ถ้าหากลูกเจ็บปวดผิดหวังก็ขอเป็นพ่อแม่รับมันเอามาไว้แทนลูกจะดีกว่า ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนมาจากความรักของพ่อแม่ แต่รู้หรือไม่ว่า ความรักลูกที่มากเกินไปก็อาจจะทำให้พ่อแม่พลาดโอกาสในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโตของลูกได้เหมือนกัน หนึ่งในนั้นคือ “GRIT” ซึ่งคำนี้มีความหมายไปในเชิงของความมานะอดทน ความทรหด ความเพียร ฉันทะ ฯลฯ ในภาพรวม GRIT คือทักษะที่จะช่วยให้บุคคลสามารถต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคได้อย่างไม่ย่อท้อ
Angela Lee Duckworth นักจิตวิทยากล่าวว่า GRIT คือผลการผสมของความหลงใหล (passion) และความอดทน (perseverance) รวมเข้าด้วยกัน โดย Duckworth ค้นพบเรื่องนี้เมื่อตอนที่เธอเคยเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนเกรด 7 ในโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา เธอพบว่านักเรียนที่ได้คะแนนดีนั้นมีระดับ IQ แทบไม่ต่างกันกับนักเรียนที่ได้คะแนนไม่ดีในวิชาที่เธอสอนเลย หลังจากนั้นเธอได้เข้าศึกษาต่อด้านจิตวิทยาและได้ทำการศึกษาวิจัยในกลุ่มตัวอย่างที่หลากหลาย เช่น นักเรียนเตรียมทหารจาก West Point Military Academy, ผู้เข้าแข่งขันการสะกดคำระดับชาติ (National Spelling Bee), อาจารย์แพทย์ใหม่ (Rookie Teacher), พนักงานขาย เป็นต้น Duckworth และทีมวิจัยของเธอพบปัจจัยที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างประสบความเสร็จ เช่น นักเรียนเตรียมทหารที่สามารถจบการศึกษาจาก West Point Military Academy ได้ ฯลฯ ไม่ได้มาจากความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence) ไม่เกี่ยวกับการมีบุคลิกดูดี ร่างกายที่แข็งแรง และระดับ IQ แต่มาจาก GRIT คนที่ประสบความสำเร็จนั้นจะมีลักษณะเป็นคนที่มานะพยายามที่จะไปสู่เป้าหมายระยะยาวโดยอุปมาเหมือนนักวิ่งมาราธอน และ Duckworth ก็ได้เน้นว่า GRIT นั้นมีความสำคัญต่อการศึกษาอย่างมากเพราะมันจะช่วยให้นักเรียนไม่ออกจากการศึกษาไปกลางคัน และพบอีกว่า GRIT นั้นจะแปรผกผันกับพรสวรรค์ของบุคคลแต่มักจะพบในบุคคลที่มี Growth Mindset
How to เลี้ยงลูกให้เป็นคนที่มี GRIT
พาลูกออกจาก comfort zone
มีหลายคนที่คิดว่าการที่คนเราจะมี skill ได้นั้นมาจากพรสวรรค์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทำให้คนที่คิดแบบนี้มักจะล้มเลิกอะไรไปง่าย ๆ โดยเฉพาะเมื่อทำอะไรไม่สำเร็จเพราะเชื่อว่าตัวเองไม่ได้เกิดมาเก่ง Duckworth แนะนำว่าพ่อแม่ควรให้ลูกได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่ต้องใช้วินัยและการฝึกฝน ซึ่งผลลัพธ์ไม่สำคัญเท่าประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ได้จากการทดลองทำ
ให้ลูกได้เผชิญกับความคับข้องใจบ้าง
พ่อแม่มักจะทนเห็นลูกคับข้องใจหรือเผชิญกับปัญหาไม่ได้ แต่ปัญหาหรือความรู้สึกผิดหวังคือปัจจัยที่จะทำให้ลูกเติบโตขึ้น เมื่อเด็กได้เผชิญกับปัญหาและสามารถผ่านปัญหานั้นไปได้ เด็กจะรู้สึกภาคภูมิใจและมีมุมมองต่อปัญหาว่ามันคือความท้าทาย พ่อแม่จึงไม่ควรเข้าไปแก้ปัญหาให้กับลูกทุกอย่างเพียงเพราะไม่อยากให้ลูกต้องเจอกับความผิดหวัง แต่ควรจะเป็นกำลังใจให้ลูกเรียนรู้ว่าถึงจะล้มเหลวก็ไม่ได้แปลว่าต้องล้มเลิก
เป็นแบบอย่างในการมี Growth Mindset ให้กับลูก
Duckworth แนะนำให้ศึกษาจากงานของ Carol Dweck ซึ่งเกี่ยวกับการสร้าง Growth Mindset โดย Duckworth ได้กล่าวใน TEDTalks ว่าเธอเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าขั้นตอนในการสร้าง GRIT มีอะไรบ้าง แต่สิ่งเธอนึกถึงอันดับแรก ๆ เลยก็คือการทำให้ตัวเองเป็นคนที่มี Growth Mindset ซึ่งนอกจากพ่อแม่จะเป็นแบบอย่างในการมี Growth Mindset แล้ว การชื่นชมความพยายามของลูก(แม้ลูกจะทำไม่สำเร็จ)แทนที่จะชื่นชมเฉพาะเวลาที่ลูกทำอะไรสำเร็จก็เป็นการช่วยพัฒนา Growth Mindset ให้ลูกได้เช่นกัน
ใช้วิธีระดมสมอง (Brainstorm) ด้วยกันกับลูก
เมื่อลูกเผชิญกับอุปสรรคหรือทำอะไรไม่สำเร็จ แทนที่จะบอกลูกว่า “อย่าทำต่อเลย ลูกทำไม่ได้หรอก” ควรเปลี่ยนเป็นการช่วยกันคิดหาทางแก้ไขปัญหาขึ้นมาหลาย ๆ แบบ โดยที่ให้ลูกเป็นคนเลือกว่าอยากจะใช้วิธีไหนในการแก้ไขปัญหา การปล่อยให้ลูกได้มีประสบการณ์ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่จะช่วยส่งเสริมพลังอึดฮึดสู้ (resilience) ให้กับลูกไปในตัว
สอนลูกว่า “ล้มบ้างแพ้บ้างก็ไม่เห็นจะเป็นไร”
ความผิดพลาดล้มเหลวไม่ได้แย่เสมอไป คนเราสามารถเรียนรู้และได้ไอเดียใหม่ ๆ จากการทำอะไรพลาดได้เหมือนกัน นอกจากนั้น การสอนให้ลูกฝึกมีแผนสำรองเผื่อว่าวิธีแรกมันไม่เวิร์คก็จะเป็นการฝึกให้ลูกความคิดที่ยืดหยุ่นและเรียนรู้ว่า “ล้มได้ก็ลุกได้”
สุดท้ายนี้ ตัวอย่างที่ดีย่อมมีค่ามากกว่าคำสอน “Children see, children do” เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์มักจะเรียนรู้และจดจำผ่านการเห็นพฤติกรรมของคนอื่นได้ดีกว่าการฟังคำสอนที่ไม่มีแบบอย่างให้เลียนแบบตาม อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็มีความเข้าใจพ่อแม่เช่นกันว่าการเลี้ยงลูกนั้นจะต้องอาศัยพลังกายพลังใจเป็นอย่างมาก หากพ่อแม่อยู่ในช่วงที่มีพลังงานต่ำ เครียด วิตกกังวล หรือมีปัญหาส่วนตัว ก็อาจจะเผลอทำพฤติกรรมทางลบออกมาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น พ่อแม่เองก็ควรจะหมั่นเช็คสุขภาพใจของตัวเองอยู่เสมอ แก้วที่ว่างเปล่าดับกระหายให้ใครไม่ได้ฉันใด พ่อแม่ที่ขาดพลังใจก็เติมทักษะชีวิตให้ลูกไม่ได้ฉันนั้นค่ะ
และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
Keyword: GRIT, การเลี้ยงลูก
อ้างอิง:
[1] Grit: The power of passion and perseverance. https://www.ted.com/talks/angela_lee_duckworth_grit_the_power_of_passion_and_perseverance
[2] How (and Why) to Teach Kids to Have More Grit. https://www.verywellfamily.com/how-parents-can-teach-kids-grit-4126106
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments