top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เพราะ “คนที่ไม่ใช่..พูดอะไรก็ผิด” สัมพันธภาพที่ดีจึงสำคัญมากกว่าคำแนะนำที่ล้ำเลิศ



จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยทำงานให้การปรึกษามาหลายปี พบว่ามีหลายครั้งที่ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดของผู้รับบริการพูดขึ้นมาต่อหน้าว่า “ฉันก็เคยพูดแบบนี้เลย ทำไมตอนที่ฉันพูดเธอไม่เห็นจะเชื่อฉันแบบนี้บ้างล่ะ” ซึ่งเป็นความจริงที่ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดก็พูดประโยคเดียวกับผู้ให้การปรึกษาเป๊ะ แต่ผู้รับบริการก็ไม่เคยที่จะฟังหรือนำเอาใช้กับตัวเองเลย เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าขาดสัมพันธภาพที่ดี ดังคำกล่าวที่ว่า  “คนที่ไม่ใช่..พูดอะไรก็ผิด” แม้จะแนะนำดีแค่ไหนแต่ด้วยใจที่มีอคติก็จะทำให้รู้สึกว่ามันเป็นคำพูดที่ไม่อยากฟัง ซึ่งสัมพันธภาพ (rapport) ในที่นี้หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้การปรึกษาและผู้รับบริการ ซึ่งผู้เขียนมองว่า therapist หรือ counselor สัมพันธภาพที่ดีจะทำให้เกิดความเชื่อมโยงกัน ความไว้วางใจ การแบ่งปัน และความรู้สึกปลอดภัย ซึ่งการให้คำปรึกษาหรือการบำบัดจะไม่มีประสิทธิผลเลยหากขาดสัมพันธภาพที่ดี ต่อให้จะเก่งเทคนิคและมีทักษะการให้คำปรึกษาดีเลิศสักเพียงใด ถ้าขาดสัมพันธภาพที่ดีกระบวนการก็จะดำเนินไปไม่ได้เลย 


How to สร้างสัมพันธภาพ (rapport)

  • รับฟัง (Listening) ซึ่งการรับฟังในที่นี้จะต้องรับฟังในระดับที่มากไปกว่าการฟังเพื่อพูดคุยโต้ตอบกัน โดยมากแล้วจะใช้เทคนิคการฟังที่เรียกว่า “active listening” และจะต้องแสดงภาษากายที่สะท้อนว่าผู้ให้คำปรึกษากำลังรับฟังอย่างเต็มใจและตั้งใจ เมื่อมีส่วนไหนที่ดูไม่ชัดเจนก็ถามเพื่อให้เกิดความกระจ่างมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนเองก็พบในประสบการณ์ตรงของตัวเองว่าการรับฟังนั้นมีความสำคัญมาก และชวนให้นึกถึงสิ่งที่ คาลิล ยิบราน ได้กล่าวไว้ว่า “Give me an ear and I will give you a Voice” ซึ่งตีความได้ว่าคุณจะได้ยินจากอีกฝ่ายมากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณรับฟังเขามากเท่าไหร่

  • ให้ความเคารพ (Respect) จำไว้เสมอว่าคนที่อยู่ตรงหน้าคุณนั้นคู่ควรแก่การปฏิบัติอย่างเป็นมนุษย์คนหนึ่ง แสดงให้เขาเห็นว่าคุณเคารพเขาด้วยการไม่ตัดสินเขาและยอมรับเขาในแบบที่เขาเป็น

  • ให้ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) คือทั้งเข้าใจและทั้งแสดงให้เขารับรู้ว่าคุณเข้าใจความรู้สึกของเขาโดยเข้าใจผ่านมุมมองแบบเดียวกับเขา ซึ่งจะต่างจาก sympathy ที่เป็นความสงสารอันเกิดจากการใช้มุมมองประสบการณ์ของตัวเองตัดสินคนอื่น

  •  ช่วยให้การยืนยัน (Validation) เช่น เขาสามารถที่จะรู้สึกเช่นนี้ได้ ช่วยทำให้เขารู้สึกปลอดภัยในการที่จะแสดงความรู้สึกออกมา

  • จริงใจ (Honesty) คุณสามารถเลือกที่จะไม่แชร์เรื่องราวของตัวเองกับผู้รับบริการได้ แต่ไม่ควรโกหกผู้รับบริการว่าตัวเองมีประสบการณ์แบบเดียวกันทั้งที่ไม่เคยมี เพราะการโกหกนั้นสามารถทำลายความไว้วางใจลงได้แม้ว่าจะเคยสร้างสัมพันธภาพเอาไว้อย่างเหนียวแน่นแค่ไหนก็ตาม

  • มีความสามารถ (Competency) ประเมินความสามารถของตัวเองว่าสามารถให้ความช่วยเหลือผู้รับบริการได้ และควรประเมินอย่างตรงไปตรงมาซึ่งหากพบว่าเกินความสามารถก็ควรที่จะส่งต่อให้กับคนอื่นที่มีความเหมาะสมมากกว่า

  • เน้นว่า “เอาที่เขาไหว” (Meet at their level) คุณไม่สามารถบังคับให้ผู้รับบริการทำสิ่งที่เขาไม่ไหวหรือยังไม่พร้อม หากยังไม่มั่นใจว่าขีดจำกัดของเขาอยู่ตรงไหนก็ให้เน้นเรื่องการสร้างสัมพันธภาพเป็นหลักก่อน

  • ค่อยเป็นค่อยไป (Pace progress/Take small steps) ให้ความสำคัญกับช่วงที่อยู่ระหว่างกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์หลังจบกระบวนการ และขับเคลื่อนกระบวนการให้สอดคล้องกับตัวของผู้รับบริการ การไปเร่งเร้าให้เขาเปลี่ยนแปลงไวเกินกำลังของเขาสามารถทำลายความรู้สึกไว้วางใจลงได้และจะทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย ในขณะที่การไม่สนับสนุนให้เขามีการพัฒนาเลยก็จะทำให้เขารู้สึกจนตรอกทำอะไรไม่ได้ สิ่งสำคัญจึงเป็นการช่วยหาจังหวะที่เหมาะสมสำหรับเขาซึ่งไม่เร่งรัดจนเร็วเกินไปแต่ก็ไม่ย่ำอยู่ที่เดิม

  •  การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตัวเองกับผู้รับบริการ (Self-disclosure) เมื่อถึงจังหวะเหมาะสมที่ผู้ให้คำปรึกษาจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการก็สามารถทำได้ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนที่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้รับบริการรู้สึกว่ามันเป็นธรรมดาที่แม้แต่ผู้ให้คำปรึกษาเองก็เคยเป็นเหมือนกัน ทั้งนี้ จะต้องแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสมคือเลือกแลกเปลี่ยนเฉพาะประสบการณ์ที่มีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่เขากำลังเล่า และไม่เล่าเรื่องของตัวเองมากเกินไปจนผู้รับบริการมีโอกาสได้เล่าเรื่องของเขาน้อยกว่าเพราะมันจะทำให้กลายเป็นการสลับบทบาทกัน 


อย่างไรก็ตาม การที่สัมพันธภาพที่ดีมันไม่เกิดขึ้นระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับบริการก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ให้คำปรึกษาเป็นคนที่แย่เสมอไป เพราะบางครั้งก็เกิดขึ้นจากความ “ไม่ match กัน” เพราะคนเรามีความหลากหลาย ผู้เขียนเองก็เคยเจอผู้รับบริการทั้งแบบที่อ่อนไหวต่อคำพูดแรง ๆ เป็นอย่างมากและผู้รับบริการแบบที่บอกว่า “ชอบโดนด่าเพราะว่ามันทำให้เกิดแรงฮึด” ดังนั้น หากไปเจอผู้ให้คำปรึกษาที่ไม่ match กับตัวเองก็สามารถเปลี่ยนไปรับบริการจากคนอื่นได้เสมอ แต่ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ให้คำปรึกษาก็ยังคงจำเป็นต้องสร้างสัมพันธภาพทุกครั้งแม้ว่าตัวเองจะไม่ match กับผู้รับบริการก็ตาม เพราะสัมพันธภาพคือหัวใจสำคัญของกระบวนการให้คำปรึกษาดังที่กล่าวไปแล้วว่า “คนที่ไม่ใช่..พูดอะไรก็ผิด” นอกจากนั้นก็เป็นการตอบคำถามว่าเพราะอะไรผู้รับบริการหลายคนจึงไว้ใจที่จะเล่าเรื่องที่ส่วนตัวมากจนแม้กระทั่งคนในครอบครัวก็ไม่เคยรู้มาก่อนให้กับ therapist หรือ counselor ฟังอย่างหมดเปลือก ซึ่งหากคุณคือคนหนึ่งที่อยากเป็นคนที่ลูก สามี ภรรยา เพื่อนร่วมงาน หรือคนใกล้ชิดของตัวเองไว้วางใจและยอมเปิดใจฟังคำแนะนำของคุณ ก็คงจะต้องเริ่มต้นที่การประเมินว่าระดับสัมพันธภาพระหว่างคุณและเขาอยู่ในระดับใด และคุณพอจะสร้างสัมพันธภาพด้วยวิธีต่าง ๆ ตามที่นำเสนอไปข้างต้นไหวไหม ซึ่งหากระดับสัมพันธภาพไม่ได้แย่จนเกินไปและคุณเองก็พร้อมที่จะฝึกตัวเอง มันก็มีความเป็นไปได้มากที่คุณจะมีคุณลักษณะของการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่คนใกล้ตัวอยากจะมาปรึกษาคุณในเวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือ


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong


 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[1] Why Rapport Matters in Therapy. Retrieved from https://www.lodestonecenter.com/why-rapport-matters-in-therapy/


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Commentaires


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page