พ่อแม่ที่ “ดีพอ” (Good enough parent) ดีต่อสุขภาพจิตลูกมากกว่าพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ
คำว่า Good enough parent มาจากแนวคิดเรื่อง Good enough mother ของ Donald Winnicott จิตแพทย์เด็กและนักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษ ที่เน้นว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบแต่ขอให้เป็นแม่ที่ดีพอ โดยเล่าถึงความเป็นแม่ที่มักจะคอยดูลูกอยู่ไม่ห่างในยามที่ลูกเป็นทารกและจะตอบสนองลูกทันทีที่ได้ยินเสียงลูกร้องไห้ อุทิศเวลาของตนเองไปกับการดูแลลูกในวัยทารก
แต่เมื่อเวลาผ่านไปลูกได้โตขึ้นเป็นวัยเด็ก แม่ก็ไม่ได้มาหาลูกโดยทันทีในทุกครั้งเวลาที่ได้ยินเสียงลูกร้องไห้ แต่จะกะเวลาในการเข้ามาหาลูกเพื่อตอบสนองความต้องการของลูก ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเธอเป็นแม่ที่ไม่ดี แต่เธอเป็นแม่ที่ดีพอ แนวคิดแม่ที่ดีพอนั้นมักถูกขยายความออกไปให้หมายถึงทั้งพ่อและแม่ ในยุคใหม่จึงใช้คำว่า Good enough parent แทนคำว่า Good enough mother โดยมีหลักคิด 5 ข้อ ดังนี้
1. การเป็นพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องง่าย
การเป็นพ่อแม่โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะลูกในวัยทารกจะต้องพึ่งพิงพ่อแม่เป็นอย่างมากทั้งในด้านอาหารการกินและความปลอดภัย อีกทั้งเด็กทารกยังไม่สามารถสื่อสารความต้องการของตัวเองออกมาเป็นภาษาพูดได้ การสื่อสารกับลูกในวัยทารกจึงต้องอาศัยการสังเกตและการคาดเดาเป็นอย่างมาก เช่น เมื่อลูกร้องไห้ลูกต้องการกินนมหรือไม่ ไม่สบายเนื้อตัวต้องการให้ช่วยทำความสะอาดอยู่หรือเปล่า
พ่อแม่จะต้องลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งกว่าที่จะสามารถเข้าใจการสื่อสารของลูกในวัยทารกได้ ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่พ่อแม่จะเข้าใจทุกการสื่อสารของลูกหรือตอบสนองลูกได้อย่างถูกต้องไปหมดทุกครั้ง และในช่วงที่พ่อแม่ยังปรับตัวให้กับธรรมชาติของลูกไม่ได้ก็อาจจะต้องตื่นตัวอยู่เสมอ ทำให้พ่อแม่หลายคนต้องอดนอน กินข้าวไม่เป็นเวลา และอาจรู้สึกเครียดวิตกกังวลมากพอสมควร
2. ไม่ต้องเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบแต่เป็นพ่อแม่ที่ดีพอ
หลายคนพยายามที่จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุดโดยอาจเพราะมีบุคลิกภาพแบบสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) จึงต้องการที่จะทำทุกอย่างให้เป๊ะไม่มีข้อผิดพลาดใด ๆ แต่เชื่อว่าทุกคนย่อมรู้แก่ใจดีว่าโลกนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ และไม่มีใครบนโลกนี้ที่สามารถทำทุกอย่างได้อย่างไร้ข้อผิดพลาด
แม้แต่การเป็นพ่อแม่ก็เช่นกัน มันเป็นไปไม่ได้เลยที่พ่อแม่จะสมบูรณ์แบบไปหมด พ่อแม่ทุกคนย่อมเคยเผลอทำอะไรไปโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น เผลอขึ้นเสียงใส่ลูก ซึ่งนั่นหมายความว่าพ่อแม่เองก็ผิดพลาดได้และเมื่อผิดพลาดแล้วพ่อแม่ก็สามารถกล่าวขอโทษลูกหรือยอมรับว่าตัวเองเป็นคนผิดได้เช่นกัน
3. ตอบสนองความต้องการให้เหมาะสมกับวัยของลูก
พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบจะพยายามให้ทุกสิ่งที่ลูกต้องการและให้ทันทีที่ลูกร้องขอ เมื่อลูกผิดหวังพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบมักจะรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่สามารถทำให้ลูกมีความสุขได้ แต่พ่อแม่ที่ดีพอจะเรียนรู้จังหวะอันเหมาะสมของลูกในแต่ละวัย ในวัยทารกนั้นเด็กจะมีความคิดว่าพ่อแม่คือส่วนหนึ่งของตนเอง แต่เมื่อโตขึ้น เด็กจำเป็นจะต้องเรียนรู้โลกภายนอกเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องว่าพ่อแม่และโลกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเขา
และค่อย ๆ ออกจากสภาวะยึดตนเองเป็นศูนย์กลางไปสู่การเรียนรู้ใหม่ว่า “ฉันไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก” พ่อแม่ที่ดีพอจะปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ ให้โอกาสลูกได้ทดลองทำอะไรด้วยตัวเองเมื่อลูกโตขึ้น และคาดหวังกับลูกตามความเป็นจริง เช่น ไม่คาดหวังให้ลูกวัยอนุบาลสามารถบวกลบคูณหารเลขได้ ไม่คาดหวังให้ลูกวัยรุ่นต้องเชื่อฟังพ่อแม่ทุกอย่าง เป็นต้น
4. ให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ
แม้ว่าความสุขของลูกคือความสุขของพ่อแม่ แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่ลูกจะอยู่ในอารมณ์สุขตลอดเวลา พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบจะพยายามทำทุกอย่างให้ลูกมีความสุขหรือตามใจลูกทุกอย่าง เพราะการที่ลูกเจ็บปวดผิดหวังทำให้รู้สึกว่าพ่อแม่ทำหน้าที่ผิดพลาดไป แต่พ่อแม่ที่ดีพอจะให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ เช่น อารมณ์ผิดหวัง โกรธ เศร้า อิจฉา ฯลฯ ซึ่งมันเป็นอารมณ์ปกติของมนุษย์ที่ไม่ต้องขจัดมันออกไป แต่ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะเลือกพฤติกรรมให้เหมาะสมเมื่อเกิดอารมณ์เหล่านั้นขึ้นมา
5. ไม่มีวิธีการเลี้ยงลูกแบบไหนที่ถูกต้องที่สุด
วิธีการเลี้ยงลูกนั้นไม่มีแบบไหนที่ถูกต้องที่สุด เพราะมันต้องปรับเปลี่ยนไปตามธรรมชาติของแต่ละคน ต่อให้มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามทฤษฎีและมีงานวิจัยรองรับ แต่มันไม่สอดรับกับธรรมชาติของบุคคลก็ไม่สามารถนำวิธีนั้นมาใช้กับตัวเองได้ เช่น ตามตำรากล่าวว่านมแม่ดีที่สุดต้องให้อย่างน้อย 6 เดือน แต่แม่บางคนมีปัญหาสุขภาพร่างกายทำให้น้ำนมไม่หลั่งออกมา หากยึดติดกับการเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบก็จะต้องทุกข์ทรมานกับความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถเป็นแม่ที่ดีได้ ทั้งที่ในความจริงนั้น ขอเพียงแม่สามารถทำให้ลูกหายหิวและได้รับสารอาหารทดแทนอย่างเพียงพอก็ถือว่าเป็นพ่อแม่ที่ดีพอแล้ว
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการเป็นพ่อแม่นั้นไม่ง่าย หากพ่อแม่ท่านมดมีอาการหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย หดหู่ วิตกกังวล หรือสังเกตว่าตนเองมีอารมณ์พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม ก็สามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อประเมินอาการที่เกิดขึ้นและหาทางแก้ไขก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นภาวะความเจ็บป่วยทางจิตเวชนะคะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
[1] What Is a "Good Enough Mother"? Retrieved from. https://www.psychologytoday.com/intl/blog/suffer-the-children/201605/what-is-good-enough-mother
[2] Good Enough Parenting. Retrieved from. https://forestpsychology.com.au/good-enough-parenting/
[3] ความรักของพ่อแม่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบก็ได้ Good enough mother | มุมพ่อแม่ Parents Corner หมอจริง Retrieved from. https://www.youtube.com/watch?v=4JgvhVTmVeY
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) นักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
Comments