รู้จักกับ “Resilience” เครื่องมือดูแลใจให้ไม่จมดิ่งไปกับความทุกข์
หากเปรียบเปรยว่าความทุกข์เหมือนท้องทะเล คนที่ขาดเครื่องมือในการลอยตัวอยู่ในท้องทะเลก็คงจะจมดิ่งลงไปสู่ก้นของทะเล ในขณะเดียวกัน คนที่มีเครื่องมือที่ช่วยให้ไม่จม เช่น ห่วงยาง เสื้อชูชีพ หรือเรือ ก็จะสามารถลอยตัวอยู่ได้โดยไม่จมลงไป ซึ่งในบทความนี้เครื่องมือที่อยากจะหยิบยกขึ้นมาพูดถึงก็คือ “Resilience” นั่นเองค่ะ
คำว่า Resilience มีผู้แปลเป็นไทยเอาไว้อย่างหลากหลาย เช่น ความหยุ่นตัว ความยืดหยุ่นทางใจ ความเข้มแข็งทางใจ การฟื้นคืนได้ พลังสุขภาพจิต เป็นต้น ส่วนนิยามของคำว่า Resilience นั้นก็มีผู้ให้นิยามเอาไว้หลายท่านเช่นกัน โดย Resilience จะมีความหมายคล้ายคลึงกับการเด้งกลับ (Bouncing back) ของลูกยางที่พอเจอแรงบีบเข้าไปก็บี้แบนไปตามแรงบีบ แต่เมื่อแรงบีบคลายออกลูกบอลยางก็จะหายบี้แบนแล้วกลับมากลมเด้งดังเดิม หรือบางคนก็จะให้นิยามว่าเป็นความสามารถในการไม่จมแบบเรือที่ไม่มีวันจม (Unsinkable) โดย Grotberg ได้ทำการศึกวิจัยจนได้ข้อมูลว่า Resilience มีองค์ประกอบอยู่ 3 ด้าน ได้แก่
1. I have คือ สิ่งที่ตนเองมีหรือเป็นทรัพยากรของตนเอง เช่น มีคนคอยสนับสนุนให้กำลังใจ มีคนช่วยเหลือเรื่องรายได้หรือสวัสดิการ มีครอบครัวหรือเพื่อนที่ไว้วางใจได้ มีครูที่คอยให้คำแนะนำดี ๆ เป็นต้น
2. I am คือ สิ่งที่ตนเองเป็น มีนิสัยใจคอแบบไหน รวมถึงบุคลิกภาพของตนเองที่มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด พื้นอารมณ์เป็นคนเลี้ยงง่าย มองโลกในแง่ดี เป็นคนมีอารมณ์ขัน เป็นต้น
3. I can คือ ส่งที่ตนเองสามารถทำได้ เป็นความสามารถที่มีซึ่งช่วยให้สามารถผ่านปัญหาต่าง ๆ ไปได้ เช่น ความสามารถด้านการเรียน ดนตรี ศิลปะ การเข้าใจคนอื่น เป็นต้น
ซึ่งมนุษย์แต่ละคนก็จะมีระดับของ Resilience แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่หล่อหลอมบุคคลนั้นขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม Resilience สามารถเปลี่ยนแปลงระดับได้ และสามารถฝึกฝนตนเองให้เปลี่ยนแปลงจากคนที่ไม่มี Resilience หรือมีแต่อยู่ระดับต่ำ ให้ขึ้นมามี Resilience อยู่ในระดับที่เหมาะสมจนช่วยให้กลายเป็นคนที่สามารถทนทานต่อความทุกข์มากขึ้นได้ และความมหัศจรรย์ของ Resilience ก็คือ “เราจะไม่มีทางรู้ว่าเราแข็งแกร่งแค่ไหน จนกว่าความเข้มแข็งจะเป็นทางเลือกเดียวที่เรามี” นั่นหมายความว่า Resilience จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลยในสภาวะปกติสุข แต่ Resilience จะทำงานก็ต่อเมื่อมีวิกฤตชีวิตหรือความทุกข์อันแสนสาหัสเกิดขึ้นกับชีวิตของบุคคลคนนั้น ยกตัวอย่างเช่น เด็กในเหตุการณ์สึนามิ เด็กที่มีพ่อแม่ป่วยเป็นโรคจิตเวช คุณแม่วัยใส มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าส่วนหนึ่งของผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้จมดิ่งกับวิกฤตที่เกิดขึ้น แถมในบางรายยังมีความสามารถเพิ่มขึ้นอีกด้วย รวมไปถึงมีการรับรู้ในความสามารถของตนเอง (Self-efficacy) เพิ่มมากขึ้นด้วย
แม้ว่า Resilience จะมีนิยามส่วนหนึ่งไปในทางที่เป็นคุณลักษณะติดตัวมาของแต่ละบุคคล แต่ในอีกส่วนหนึ่ง Resilience ก็เป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาได้โดยเฉพาะในช่วงหลังจากที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ครั้งใหญ่ ซึ่งมีเคล็ดลับมากมายในการพัฒนา Resilience ขึ้นมา แต่ในบทความนี้จะขอแนะนำเป็นวิธีดังต่อไปนี้
1. ให้อภัยตนเองและคนอื่น
บ่อยครั้งที่เมื่อมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น เช่น คุณแม่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง หย่าร้างกับคู่สมรส หรือเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตามที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นอันดับแรกก็คือ “โกรธ” โดยอาจจะเป็นการโกธรที่คนอื่นทำให้ต้องเป็นแบบนี้ ทำไมฉันต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ ทำไมสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงไม่คุ้มครองฉันเลย นอกจากนั้นก็มักจะมีการโกรธตัวเองร่วมด้วยเสมอ ทำให้มีความรู้สึกผิดอยู่ในใจ เหล่านี้ล้วนแต่จะทำให้คุณจมดิ่งไปกับความทุกข์ แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณเรียนรู้ที่จะให้ภัยตนเองและคนอื่น คุณจะเริ่มมองโลกต่างไปจากเดิม และใจของคุณก็จะเบาสบาย เพราะได้ปลดปล่อยตนเองจากพันธนาการของความโกรธ เหมือนคุณปล่อยมือจากเชือกที่คุณกำมันเอาไว้แน่นจนเจ็บมือ เมื่อปล่อยเชือกเส้นนั้นไปคุณก็จะไม่ต้องเจ็บกับมันอีกแล้ว
2. เท่าทันตัวเองเมื่อกำลังจะวิจารณ์ตัวเองทางลบ
พยายามสังเกตว่าคุณพูดอะไรกับตัวเองบ้าง เช่น “ทำไมฉันมันแย่แบบนี้” “ฉันไม่คู่ควรที่จะได้สิ่งที่ดีเลย” “ฉันไม่ดีพอ” “ฉันไม่เก่งเท่าคนอื่น” “ฉันไม่น่าเกิดมาเลย ฉันคือภาระของทุกคน” เป็นต้น แล้วเริ่มต้นตั้งคำถามใน step ต่อไปว่า เสียงพูดเหล่านี้ก่อนที่จะมาเป็นเสียงของคุณมันเป็นเสียงของใคร เช่น คุณพ่อคุณแม่ คุณครู หรือใครสักคนที่เคยพูดแบบนี้กับคุณเมื่อในอดีตที่นานมาแล้ว เพื่อให้คุณสามารถเท่าทันว่าคุณกำลังตอกย้ำกับตัวเองให้มองตนเองในทางลบ ซึ่งมันไม่ได้เป็นผลดีกับคุณเลย ดังนั้นสิ่งที่คุณต้องทำคือสร้างการตอกย้ำรูปแบบใหม่ให้กับตัวเองด้วยการพูดกับตัวเองทางบวกแทนการวิจารณ์ตัวเองทางลบ ให้สมองของคุณมีประสบการณ์ใหม่ที่ให้พลังทางบวกกับคุณ
3. ฝึกขอบคุณเพื่อให้เกิด “Gratitude”
Gratitude แปลตรงตัวได้ว่า “ความกตัญญู” แต่ในทางปฏิบัติแล้ว Gratitude ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ความกตัญญูเท่านั้น แต่หมายความถึงการความรู้สึกขอบคุณอะไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งบางคนเรียน Gratitude ว่า “สำนึกขอบคุณ” ซึ่งการฝึกขอบคุณมีประโยชน์ดังนี้
ช่วยให้มองโลกในแง่ดีมากขึ้น เกิดความรู้สึกเป็นสุขขึ้นในใจ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ความรู้สึกลบ ๆ ลดลง เช่น ความรู้สึกอิจฉา วิตกกังวล หดหู่
ช่วยเพิ่มระดับความมีเมตตา (Compassion) ความเอื้ออาทร และการให้อภัย ช่วยให้ความสัมพันธ์กับคนอื่นดีขึ้น และรู้สึกเหงาโดดเดี่ยวน้อยลง
ช่วยให้หลับดีขึ้น
มี Resilience มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าในแต่ละคนจะมีระดับ Resilience แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หล่อหลอมประสบการณ์ขึ้นมา หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีบาดแผลทางใจที่ยากเกินกว่าจะรับมือไหว ก็ไม่จำเป็นต้องฝืนทนอยู่กับความเจ็บปวดนั้นตามลำพัง คุณสามารถมองหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อเป็นตัวช่วยในการสร้างเครื่องมือกู้ใจให้กับคุณได้ค่ะ
Keyword: Resilience
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง
[1] A conceptual structure of Resilience among Thai elderly. Retrieved from. https://www.researchgate.net/publication/216882389_A_conceptual_structure_of_Resilience_among_Thai_elderly
[2] Richard Hanson (2018). Resilient Find Your Inner Strengh
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) การศึกษา: ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การทำงาน: พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
และเป็นนักเขียนของ istrong
Comments