4 กลุ่มทักษะการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ที่จำเป็นสำหรับคน Gen Z
เมื่อพูดถึงโลกยุคใหม่ เราก็จะคิดถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของคน Gen Z หรือคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2541 – 2565 เนื่องจากคน Gen Z เป็นกลุ่มคนที่เกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีความสามารถด้านเทคโนโลยีสูง เรียนรู้เร็ว มีความคิดสร้างสรรค์สูง มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ นั่นจึงทำให้คน Gen Z จำเป็นที่จะต้องมีทักษะการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ได้อย่างราบรื่นและมีความสุข โดยในปี 2567 ประเทศไทยมีคน Gen Z อยู่ประมาณ 12 - 13 ล้านคน หรือประมาณ 18 - 20% ของประชากรไทยทั้งหมด นั่นหมายความว่าประเทศไทยต้องเร่งใส่ใจสุขภาพจิตโดยการส่งเสริมทักษะการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ให้แก่คน Gen Z ทั้ง 12 – 13 ล้านคนโดยเร็ว เพื่อติดอาวุธให้คน Gen Z มีความแข็งแกร่ง สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงในอนาคตได้
โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาการศึกษา ได้แนะนำทักษะการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ที่จำเป็นสำหรับคน Gen Z จำนวน 4 กลุ่มทักษะ ดังนี้ค่ะ
1. กลุ่มทักษะในการใช้ภาษา ประกอบด้วยทักษะการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ดังนี้
a. ทักษะการเล่าเรื่อง (Storytelling Skills)
เป็นความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวให้มีพลังดึงดูดและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องในรูปแบบพูดหรือเขียน ซึ่งรวมไปถึงการเลือกคำพูด การสร้างอารมณ์ การใช้ภาพพจน์ การสร้างโครงเรื่อง และความสามารถในการเชื่อมต่อกับผู้ฟังหรือผู้อ่าน โดยทักษะการเล่าเรื่องนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาการศึกษากล่าวว่ามีความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ฟัง สร้างแรงบันดาลใจ อีกทั้งยังสามารถโน้มน้าวให้ผู้คนเห็นด้วยหรือสนับสนุนความคิดเห็นต่าง ๆ อีกด้วย
b. การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (Effective Communication)
เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิด หรือความรู้สึกระหว่างบุคคลในลักษณะที่ทำให้ข้อมูลถูกส่งต่อและเข้าใจได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยมีลักษณะสำคัญ คือ มีความชัดเจนและตรงประเด็น มีการฟังอย่างตั้งใจ มีการใช้ภาษาที่เหมาะสม และมีการแสดงออกทางอารมณ์และท่าทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับเรื่องที่สื่อสาร โดยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และส่งเสริมการทำงานเป็นทีมได้เป็นอย่างดี
2. กลุ่มทักษะทางการคิด ประกอบด้วยทักษะการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ดังนี้
a. ทัศนคติในการเติบโต (Growth Mindset)
เป็นแนวคิดที่เสนอโดย Carol Dweck ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยมีแนวคิดว่า ความเชื่อในความสามารถของตนเองสามารถพัฒนาและเติบโตได้ผ่านการเรียนรู้ ความพยายาม และการฝึกฝน โดยคนที่มีทัศนคติในการเติบโตมักมองเห็นโอกาสในการเรียนรู้ในทุกสถานการณ์ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวและเติบโต
b. มีความยืดหยุ่นทางความคิด (Cognitive Flexibility)
เป็นความสามารถในการปรับเปลี่ยนวิธีการคิดและพฤติกรรมตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการมองเห็นหลายมุมมองหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยมีลักษณะสำคัญ คือ มีความสามารถในการปรับตัว สามารถการมองเห็นมุมมองที่หลากหลาย สามารถแก้ไขปัญหาและฝ่าฟันอุปสรรคด้วยวิธีการใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ โดยความยืดหยุ่นทางความคิดจะมีส่วนช่วยในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันด่วน
c. การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)
คือ กระบวนการที่ใช้ในการวิเคราะห์และประเมินข้อมูลเพื่อตัดสินใจหรือแก้ปัญหาได้อย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิภาพ โดยการคิดอย่างมีวิจารณญาณสามารถช่วยให้เราสามารถคิดอย่างมีระบบและทำการตัดสินใจที่เหมาะสมมากขึ้น โดยอิงจากข้อมูลและเหตุผลที่ชัดเจน และยังช่วยให้สามารถแยกแยะข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้จาก Fake News
d. การคิดเชิงโครงสร้าง (Structural Thinking)
คือ กระบวนการคิดที่เน้นการมองภาพรวมและสร้างโครงสร้างที่ชัดเจนในการวิเคราะห์ข้อมูล หรือการแก้ปัญหา การคิดแบบนี้มีความสำคัญในการช่วยให้เราสามารถเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลต่าง ๆ และสามารถวางแผนหรือออกแบบได้อย่างมีระเบียบและเป็นระบบ ส่งผลให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งสามารถช่วยลดโอกาสในการทำผิดพลาดลงได้มาก
e. การคิดจากความรู้ที่หลากหลาย (Interdisciplinary Thinking)
คือ กระบวนการคิดที่รวมเอาแนวคิด วิธีการ และแนวทางจากหลายสาขาวิชามาใช้ในการแก้ปัญหาหรือวิเคราะห์ปัญหาที่ซับซ้อนโดยไม่จำกัดอยู่แค่สาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งการคิดเช่นนี้จะช่วยให้เกิดการมองเห็นปัญหาจากหลายมุมมองและวิเคราะห์แนวทางที่หลากหลายในการแก้ไขปัญหาได้ นอกจากนี้การคิดจากความรู้ที่หลากหลายยังช่วยให้เราเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน และสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่มีความหลากหลายได้ดีขึ้น
f. การคิดแบบเจ้าของธุรกิจ (Entrepreneurial Thinking)
เป็นแนวทางการคิดและการวิเคราะห์ที่เน้นการสร้างสรรค์และการแก้ปัญหา เพื่อค้นหาโอกาสในการสร้างธุรกิจหรือพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งช่วยให้เราสามารถจัดการกับความไม่แน่นอน และการบริหรทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หรือบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะผลักดันให้เราเติบโตและปรับตัวได้ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
g. การคิดล่วงหน้า (Foresight Thinking)
เป็นแนวทางการวิเคราะห์และการคาดการณ์อนาคต โดยมุ่งเน้นการรับรู้แนวโน้มต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และการวางแผนเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น การคิดล่วงหน้าช่วยในการเตรียมตัวและปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อสิ่งที่อาจเกิดขึ้น
3. กลุ่มทักษะการเรียนรู้ ประกอบด้วยทักษะการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ดังนี้
a. การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Lifelong Learning)
ซึ่งเป็นแนวคิดทางจิตวิทยาการศึกษาในการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดชีวิต โดยไม่จำกัดเฉพาะการศึกษาในระบบเท่านั้น แต่รวมถึงการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การทำงาน การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ และการใช้เทคโนโลยีในการศึกษา โดยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องช่วยให้บุคคลสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่และความท้าทายที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น
4. กลุ่มทักษะในการใช้ชีวิต ประกอบด้วยทักษะการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ดังนี้
a. ความฉลาดในการปรับตัว (Adaptability Intelligence)
เป็นความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือวิธีคิดตามสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งรวมถึงการรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ และการหาวิธีที่เหมาะสมในการตอบสนอง ซึ่งสามารถช่วยในการแก้ไขปัญหา และการจัดการกับความท้าทายที่ไม่คาดคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
b. ทักษะการแก้ไขปัญหาที่มียุ่งยากซับซ้อน (Complex Problem Solving Skills)
เป็นความสามารถในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนหรือต้องการการคิดอย่างลึกซึ้ง ปัญหาประเภทนี้มักมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบจากหลายด้าน ทำให้ไม่สามารถหาคำตอบหรือวิธีแก้ไขที่ชัดเจนหรือตรงไปตรงมาได้ง่าย ๆ โดยทักษะการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากประกอบด้วยหลายองค์ประกอบ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การประเมินสถานการณ์อย่างมีเหตุผล การคิดค้นวิธีหรือแนวทางใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ
c. ความสามารถในการฟื้นตัว (Resilience)
เป็นความสามารถในการฟื้นตัวหรือปรับตัวให้กลับมาสู่สภาวะปกติหลังจากเผชิญกับภาวะยากลำบาก ความเครียด หรืออุบัติเหตุทางจิตใจ ทั้งนี้ ความยืดหยุ่นไม่ใช่แค่การต้านทานต่อปัญหา แต่ยังรวมถึงการปรับตัวและเติบโตจากประสบการณ์ โดยมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ ความรู้สึกมั่นคงในตนเอง การได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่น ทักษะการจัดการความเครียด การปรับเปลี่ยนมุมมอง และการเรียนรู้จากประสบการณ์
นอกจาก 4 กลุ่มทักษะการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่จะจำเป็นสำหรับคน Gen Z แล้ว ยังจำเป็นต่อคนทุก Gen ในการนำไปพัฒนาตนเองเพื่อให้มีการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และรักษาสมดุลของชีวิตให้มีคุณภาพได้อีกด้วย
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ : 3 วิธี ก้าวข้ามความรู้สึก “ดีไม่พอ” สำหรับคน Gen Z
อ้างอิง : Eduzones. (25 สิงหาคม 2567). 20 ทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคต. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2567 จาก https://www.eduzones.com/2024/08/08/skills-2/
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments