6 เทคนิคจิตวิทยา Friendly ผ่านภาษากายอย่างไร ไม่ให้ใครเขาคิดไปเอง
ปัญหาสากลของคนทุกวัย คือ เมื่อคนที่เรามีใจแสดงออกทางภาษากายด้วยความ Friendly หรือแสดงความอัธยาศัยดีต่อเรา แล้วเรามักจะคิดว่า “เขามีใจ” แต่แท้จริงแล้ว เป็น “เราคิดไปเอง” เพราะเมื่อมองในมุมกลับกัน ในตอนที่เราไม่ได้คิดอะไร ไปกดหัวใจ (Love) กดไลก์สตอรี่ให้เพื่อนใน Facebook ก็ถูกเข้าใจผิดว่าเรามีใจให้เขาเช่นกัน จึงเป็นปัญหาใหญ่ว่า แล้วจะต้องแสดงออกอย่างไรให้ดูเป็นมิตร แต่ไม่ให้เขาคิดไปเอง ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้ได้หาคำตอบมาให้เรียบร้อยแล้วค่ะ
ก่อนอื่นมาดูงานวิจัยทางจิตวิทยากันก่อนนะคะ ว่าเข้าพูดถึงเรื่อง “การคิดไปเอง” หรือ “มโน” เอาไว้ว่าอย่างไร งานวิจัยจากวารสารจิตวิทยา (Psychological Science) พบว่า เพศชายมีแนวโน้ม “คิดไปเอง” มากกว่าเพศหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเป็นผลมาจากการตีความ “ภาษากาย” ของฝ่ายตรงข้ามเข้าข้างตนเอง เช่น เขายิ้มให้เท่ากับเขามีใจ เขามากดไลก์แสดงว่าเขาสนใจชีวิตเรา เขาทักทายเราทุกเช้าเพราะเขาแอบชอบ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วงานวิจัยยังพบเรื่องที่น่าสนใจอีกว่า เพศหญิงกลับตีความ “ภาษากาย” หรือประเมินความรู้สึกของฝ่ายตรงข้ามที่แสดงออกผ่านภาษากาย “ต่ำ” กว่าความรู้สึกที่แท้จริง เช่น เขามารับมาส่งทุกวัน แต่เราดันตีความว่าเขามีน้ำใจ หรือเขาชวนไปไหนมาไหนด้วย กลับตีความว่าเขาขี้เหงาเลยชวนเราไปเป็นเพื่อน เป็นต้น ซึ่งผลการวิจัยทางจิตวิทยาข้างต้นก็ไปสอดคล้องสัมพันธ์กับผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง (The University of Stirling) ที่ได้ทำการศึกษาในกลุ่มคนจำนวน 1,226 คน โดยเป็นเพศชาย 586 คน (47.80%) และเพศหญิง 640 คน (52.20%) ซึ่งในการศึกษาได้มีการทดลองให้หญิง – ชาย จับคู่พูดคุยกันในระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 4 นาที ผลการทดลอง พบว่า เพศชายมักจะประเมินความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งผิดไปจากความเป็นจริงอย่างมาก โดยทีมผู้วิจัยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาความสัมพันธ์ให้เหตุผลว่า ที่เพศชายมีแนวโน้มตีความภาษากายไปเกินจริง หรือ “คิดไปเอง” เก่ง เป็นเพราะการวิวัฒนาการทางเพศของชายและหญิงแตกต่างกัน จึงส่งผลให้เพศชายมีความอ่อนไหวต่อภาษากายมากกว่าเพศหญิง และยังมีงานวิจัยทางจิตวิทยาที่พบว่า ผู้ที่ตีความภาษากายเกินไปจากความเป็นจริงมากเท่าไร ยิ่งมีแนวโน้มจะมีความสัมพันธ์ระยะสั้นมากเท่านั้น
โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ได้มีข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการรักษามิตรภาพเอาไว้ได้โดยที่ฝ่ายตรงข้ามไปคิดไปเองว่าเรามีใจ ดังนี้ค่ะ
รักษาระยะห่างเอาไว้ ตามทฤษฎี Triangular Theory of Love หรือ ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก ของ Robert Sternberg กล่าวไว้ว่า คนเราจะรักกันได้ต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ (1) ความสนิทสนม (Intimacy) (2) ความหลงใหล (Passion) และ (3) ความผูกพัน (Commitment) ซึ่งทั้งสามองค์ประกอบเกิดมาจากความใกล้ชิด ดังนั้นเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม เราต้องรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่ใกล้ชิดเกินไป ไม่อยู่ด้วยกันบ่อยจนเกินไป เพื่อป้องกันการคิดไปเองค่ะ
ใช้คำพูดให้ชัดเจนว่าคุยแบบเพื่อน คุยแบบหัวหน้า-ลูกน้อง คุยแบบพี่–น้อง นอกจากภาษากายจะสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์ หรือการพัฒนาความสัมพันธ์แล้ว การใช้วจนภาษา หรือการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารเองก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้นหากไม่ต้องการให้เกิดความเข้าใจผิด จนผิดใจกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียเพื่อน เสียคนรู้จักในอนาคต เราเองก็ต้องชัดเจนว่าเรา “คุย” กับเขาในสถานะไหน เช่น ไม่หยอดคำหวาน ไม่ใช่คำน่ารักที่คนรักนิยมใช้ เช่น แทนอีกฝ่ายว่า “ตัวเอง” แล้วแทนตัวเองว่า “เค้า” หรือใช้คำว่า “น่ารัก” บ่อยมาก จนอีกฝ่ายเข้าใจผิด เป็นต้น
อย่าไปไหนมาไหนด้วยกันตามลำพังบ่อย ๆ เคยมีให้เห็นบ่อยครั้งที่เพื่อนร่วมงานออกไปลงพื้นที่ หรือทำงานต่างจังหวัดด้วยกันบ่อย ๆ สุดท้ายกลายเป็นโลกอีกใบของกันและกัน ทำให้ครอบครัว หรือคนรักเดิมต้องร้าวฉาน และปวดใจ เพราะฉะนั้นเพื่อป้องกัน “รักแท้แพ้ใกล้ชิด” เราจึงไม่ควรไปไหนมาไหนตามลำพัง กับคนที่เราสนิทในสถานะเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือสถานะอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คนรัก เพราะเมื่อใกล้ชิดกันมากเท่าไร ความสนิทจะทำให้ความรู้สึกเราเปลี่ยนไป แต่ถ้าความรู้สึกนั้นไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ ก็จะสร้างบาดแผลใจให้กันเสียเปล่า ๆ ค่ะ
ไม่รักก็อย่าให้ความหวัง ลักษณะที่เรียกว่าให้ความหวัง ก็คือ ชอบส่งคำหวานพร่ำเพรื่อกับคนอื่น เช่น ส่งคำว่าคิดถึงให้ทุกวัน บอกว่าเป็นห่วง ส่งข้อความให้กำลังใจ แต่พออีกฝ่ายกำลังจะคิดไปไกลก็มาเบรกหัวทิ่มว่า “ไม่ได้คิดอะไร” ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ได้เรียกอัธยาศัยดีค่ะ แต่เรียกว่า “คนใจร้าย” เพราะไปสร้างความหวังให้คนอื่นมารัก แล้วทำลายความรู้สึกเขาแบบไม่ใยดี เพราะฉะนั้นแล้ว อย่าทำร้ายจิตใจใครด้วยการให้ความหวังเลยนะคะ
คุยเป็นเวลา หมายความว่า ถ้าเป็นเพื่อนร่วมงานก็คุยในเวลางานเป็นหลัก ยกเว้นมีงานด่วน หรืองานนอกเวลา ก็สามารถทักไปคุยด้วยได้ แต่อย่าได้ทักไปตลอดเวลา ไม่เว้นแม้วันหยุด หรือนอกเวลา เพราะถ้าเริ่มคุยไม่เป็นเวลา ความสัมพันธ์ก็สามารถเป็นไปได้ 2 อย่าง คือ ถ้าอีกฝ่ายไม่รำคาญเราไปเลย ก็มีความรู้สึกเกินเพื่อนร่วมงานเกิดขึ้น และถ้าหากเราไม่ได้รู้สึกเกินเลยกับเขา จะกลายเป็นเราที่ลำบากค่ะ
รู้สึกอย่างไร บอกให้ชัดเจน วิธีป้องกันการคิดไปเองที่ดีที่สุด ก็คือพูดให้ชัดเจน หรือแสดงออกให้ชัดเจนไปเลยว่ารู้สึกแบบเพื่อน แบบพี่น้อง หรือสถานะอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คนรัก การวางตัวให้ชัดเจน นอกจากจะไม่เกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ตามมาแล้ว ยังแสดงออกถึงความจริงใจของเราที่มีต่อผู้อื่นด้วยค่ะ
เพราะเรื่องความรัก ความสัมพันธ์เป็นเรื่องเข้าใจยาก ดังนั้นการใช้ภาษากาย รวมถึงวจนภาษา และอวจนภาษาอื่น ๆ ในการแสดงความรู้สึกจึงสำคัญ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคง จริงใจ และยืนยาวต่อไปนะคะ
และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : BrandThink. (2567, 1 มกราคม). #เฟรนด์ลี่ไม่เท่ากับมีใจ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.facebook.com/brandthink.me/posts/pfbid0PxLdGHNn3uXYZ89DxgmheBoAkuYt9eJ3FgZLmsJJUAq2k4iHvUsFe28W5JVxKTyQl?_trms=eac4cecfd9d7592a.1707713074826
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments