7 วิธีประสบความสำเร็จสำหรับผู้ใหญ่สมาธิสั้น
ผู้ใหญ่เองก็ยังมีโอกาสเป็นโรคสมาธิสั้นหรือ ADHD (Attention deficit hyperactivity disorder) หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า ผู้ใหญ่ไฮเปอร์ นั่นเอง ตรวจสอบเบื้องต้นว่าคุณเข้าข่ายเป็นผู้ใหญ่สมาธิสั้นหรือไม่ >> 14 อาการของผู้ใหญ่ที่สมาธิสั้น แต่รู้หรือไม่ว่า คนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกจำนวนมากมายที่มีประวัติเป็นโรคสมาธิสั้น เช่น Justin Timberlake ศิลปิน นักร้อง นักแสดง Adam Levine นักร้องนำวง Maroon5 หรือแม้กระทั่ง Michael Phelps นักกีฬาว่ายน้ำแชมป์โลก แสดงว่าสิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ ย่อมมีทางแก้ไขและรับมือ แถมยังมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ไม่ว่าคุณต้องการจะไปอยู่ระดับไหน ขอเพียงแค่คุณต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นกับคุณ เงื่อนไขการใช้ชีวิตเป็นอย่างไร และหาวิธีพัฒนาตัวเองและประสบความสำเร็จในวิธีของตัวเอง ประการแรก การยอมรับตัวเองสำคัญที่สุด คุณต้องยอมรับก่อนว่าคุณอยู่ในภาวะดังกล่าว เพื่อหาวิธีรับมือที่ใช้ได้ผลจริงกับคุณ หลังจากนั้น เรามาดู 7 วิธีประสบความสำเร็จถึงแม้จะมีภาวะสมาธิสั้นในผู้ใหญ่กัน 1. สร้างนิสัยตั้งเป้าหมายและวางแผน คุณก็ต้องสร้างนิสัยตั้งเป้าหมายและวางแผนชีวิตและการทำงาน ถ้าคุณเข้าข่ายเป็นสมาธิสั้นแล้ว แต่คุณไม่วางแผน ไม่เขียนว่าแต่ละสัปดาห์ แต่ละวันคุณจะต้องทำอะไรบ้าง ไม่มีรายการสิ่งที่ต้องทำแล้วล่ะก็ งานของคุณจะหลุดเยอะมาก คุณมีสิทธิหลงลืมสิ่งสำคัญที่ต้องทำ หรือนัดหมายสำคัญ รวมทั้งคุณอาจจะปล่อยเวลาแต่ละวันไปโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย เมื่อผ่านไปแต่ละวัน ก่อนนอน คุณกลับมาเช็ครายการสิ่งที่ต้องทำของตัวเอง วันนี้คุณทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง เมื่อมีมากขึ้นเรื่อยๆ คุณก็จะเริ่มรู้สึกดีกับตัวเอง เค้าเรียกว่ามาเช็ค Success ในแต่ละวันของตัวเอง หลังจากนั้นคุณหัดชมตัวเอง ฉลอง หรือให้รางวัลตัวเองบ้าง โดยเฉพาะโปรเจ็คใหญ่ๆ วิธีการนี้จะยิ่งกระตุ้นให้คุณวางแผน ทำตามแผน และทำให้สำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ 2. บอกลา multi-task แต่โฟกัสทำทีละอย่าง การต้องทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (multi-task) จะทำให้คุณพลาด ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร และอาจจะทำให้ช้ากว่าเดิมด้วยซ้ำ ไม่ใช่เฉพาะแค่คนที่มีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น แต่รวมถึงคนทั่วไปด้วย จริงอยู่ว่ายุคนี้คุณหลีกเลี่ยงการต้องทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้ยาก แต่คุณสามารถคัดกรองเพื่อให้เหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น นอกนั้นคุณควรทำทีละอย่าง หากคุณสามารถโฟกัสได้ คุณจะได้มีพลังและสมาธิไปที่งานใดงานหนึ่งเพียงงานเดียว สิ่งนี้เป็นนิสัยที่ฝึกได้ นอกจากนี้คุณยังต้องฝึกนิสัยการทำอะไรให้จบหรือสำเร็จเป็นชิ้นๆ เพราะคนที่เป็นสมาธิสั้นจำนวนมากมักทิ้งงานหรือกิจกรรมไว้ครึ่งกลาง แล้วก็หันไปทำอย่างอื่น จนลืมและไม่กลับมาต่อสิ่งที่ค้างคาไว้ให้สำเร็จ 3. ทำทันทีอย่ารีรอ ปัญหาร่วมของผู้ใหญ่สมาธิสั้นคือ อาการขี้ลืม ดังนั้นคุณต้องทำสิ่งต่างๆ ให้เป็นระบบ มีการจดบันทึก ตรวจสอบตัวเองเป็นระยะ และเมื่อถึงเวลา คุณก็ควรจะลงมือทำทันที เพื่อป้องกันการถูกขัดจังหวะและดึงความสนใจจากสิ่งอื่น ในขณะที่กำลังทำงาน คุณจำเป็นต้องกำจัดสิ่งรบกวนออกไปให้หมด และเหลือไว้เท่าที่จำเป็น ปิดช่องทางการสื่อสารชั่วคราว โดยเฉพาะระบบแชทและโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นการลดโอกาสที่คุณจะถูกขัดจังหวะได้มากทีเดียว 4. สร้างกิจวัตรและรูปแบบพฤติกรรมซ้ำเดิม ด้วยอาการขี้ลืมอาจจะสร้างปัญหาให้คุณได้หลายอย่าง โดยเฉพาะการลืมกุญแจบ้าน กุญแจรถ มือถือ หรือกระเป๋าเงิน วิธีแก้ก็คือ เก็บไว้ที่เดิมเสมอ ทุกครั้งที่หยิบออกไปใช้ คุณต้องรีบกลับมาวางที่เดิม ยกตัวอย่างของผู้เขียนเอง ที่จะไม่นำกระเป๋าเงิน กุญแจบ้าน และกุญแจรถออกจากกระเป๋าถือเด็ดขาดในขณะที่อยู่ในบ้าน และจะสามารถคว้ากระเป๋าถือออกจากบ้านได้เลย โดยกำหนดรูปแบบพฤติกรรมคือเปิดกระเป๋าเพื่อตรวจรายการของสำคัญอีกครั้งก่อนล็อคบ้าน หรือสำหรับเอกสารสำคัญ ผู้เขียนก็จะนำไปเก็บไว้ในแฟ้มของเอกสารที่จัดหมวดหมู่ต่างๆ ไว้ ซึ่งจะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นเมื่อต้องกลับไปค้นหาเอกสารที่ต้องการ นอกจากนี้ คุณยังสามารถสร้างนิสัยที่เป็นประโยชน์กับตัวเองได้ เช่น อ่านหนังสือ คุณสามารถตั้งเวลาไว้เลยว่า จะอ่าน 15 นาทีก่อนนอน ช่วง 22.15 ถึง 22.30 ทุกคืน จากนั้นคุณก็ฝึกให้มันเป็นกิจวัตร ทำติดต่อกันประมาณ 30-40 วันขึ้นไป สิ่งนั้นก็จะเริ่มเป็นนิสัยของคุณ
5. ฝึกสติในชีวิตประจำวัน การฝึกให้ตัวเองมีสติอยู่กับสิ่งที่กำลังทำ ไม่ใจลอยไปคิดเรื่องอื่นจนไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังทำอะไร จะช่วยแก้ปัญหาความขี้หลงขี้ลืม และจะช่วยจัดระเบียบความคิดของคุณได้อีกด้วย วิธีฝึกง่ายๆ เช่น เวลาคุณจะวางกุญแจ หรืออะไรที่สำคัญๆ วางไว้ไหน ให้คุณดึงสติกลับมาที่ตัวเอง กลับมาที่ปัจจุบัน แล้วก็เห็นภาพที่คุณกำลังวางกุญแจลงไป คุณกำลังวางไว้ตรงไหน มีสติแล้วจำให้มันเป็นภาพ คุณก็จะไม่ลืม หรือลืมก็จะนึกออกได้ง่าย 6. เขียนความคิดตัวเองลงบนกระดาษ หลายครั้งที่คุณอาจพบว่าตัวเองชอบคิดอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ความคิดกระโดดไปกระโดดมา จนทำให้ลำดับความสำคัญไม่ถูก กลายเป็นคนพูดไม่รู้เรื่อง หรือไม่ได้ลงมือทำเพราะมันสับสนวุ่นวายไปหมด วิธีแก้ง่ายๆ คือ คุณต้องเขียนความคิดของตัวเองลงบนกระดาษเป็นข้อๆ จากนั้นจึงจัดลำดับหรือจัดหมวดหมู่ให้สิ่งเหล่านั้น รวมทั้งในการนำเสนองานหรือประชุมงาน คุณจำเป็นต้องเตรียมตัวโดยการเขียนหัวข้อเรื่องที่จะพูดเรียงลำดับกันเป็นข้อๆ แล้วถึงเวลาก็พูดตามโครงสร้างดังกล่าวนั้นได้เลย 7. พัฒนาทักษะการจัดลำดับความสำคัญและการบริหารเวลา ด้วยปัจจุบันมีสิ่งที่คอยดึงสมาธิของคุณได้เรื่อยๆ จนคุณไม่สามารถโฟกัสงานจนทำให้เสร็จ กลายเป็นปัญหาอื่นตามมาคือ ทำงานไม่ทัน ดังนั้นคุณจำเป็นต้องพัฒนาทักษะการจัดลำดับความสำคัญและบริหารเวลาควบคู่ไปด้วย อีกเทคนิคหนึ่งคือ การสังเกตช่วงเวลาที่คุณมีสมาธิสูงสุดในแต่ละวัน (Energy Time) หมายความว่า คนแต่ละคนจะมีช่วงเวลาสมาธิของตัวเองไม่เหมือนกัน คุณจะต้องมาสังเกตช่วงที่พลังสมาธิของคุณขึ้นสูงสุด ช่วงไหนที่คุณทำงานแล้วมีสมาธิดีที่สุด จงนำงานยากๆ หรือซับซ้อนไปทำช่วงนั้น แล้วช่วงไหนที่พลังงานเริ่มลดต่ำคุณก็ทำงานง่ายๆ โดยจัดพักเบรกให้ตัวเองทุกหนึ่งชั่วโมงครึ่งหรือสองชั่วโมง นี่คือกลยุทธ์การพัฒนาตัวเองและวิธีเบื้องต้นที่จะพาคุณประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญคือ อย่าใจร้อนอยากเห็นผลลัพธ์เร็วๆ จนพาลหงุดหงิดกับตัวเอง อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป บางครั้งคุณอาจจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพยายามเปลี่ยนตัวเอง แล้วคุณก็คาดหวังว่ามันจะต้องเปลี่ยนเลย จาก 0% ถึง 100% ในความพยายามเพียงวันสองวัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ที่ถูกต้องคือ ค่อยเป็นค่อยไปและทำให้มันเป็นเรื่องสนุก อย่าเพิ่งท้อแท้หรือถอดใจ จำไว้ว่ามีคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นมากมายที่ประสบความสำเร็จขั้นสูง ในวันนี้กลับมาเริ่มต้นที่ทำความเข้าใจตัวเองก่อน ใช้กลยุทธ์การพัฒนาตัวเองที่ไม่ต้องทำตามคนส่วนใหญ่ หาวิธีที่ใช่สำหรับตัวเอง และสนุกไปทุกวัน เท่านี้ก็ช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้ค่ะ
เพราะทุกก้าวของชีวิตคือจิตวิทยา
iStrong บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า
Contact : https://www.istrong.co/service
תגובות