เปิดเคล็ดลับ เพราะอะไรฟินแลนด์จึงเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุด 7 ปีซ้อน
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 องค์การสหประชาชาติได้เผยแพร่รายงานความสุขโลก (World Happiness Report) ประจำปี 2024 เกี่ยวกับประเทศที่มีความสุข พบว่า มีเรื่องที่น่ายินดี คือ ประเทศไทยเลื่อนอันดับความสุขเพิ่มขึ้น จากเดิมลำดับที่ 60 ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 58 แต่มีเรื่องที่น่าทึ่ง ก็คือ ประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดติดต่อกันมาเป็นปีที่ 7 แล้วค่ะ ที่ว่าน่าทึ่งก็เพราะในโลกเราทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ส่งผลให้หลายคนมีความยากลำบากในการปรับตัวให้เขากับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มีทั้งสภาวะอากาศแปรปรวน สภาวะเศรษฐกิจผันผวนสูง การเมืองและความมั่นคงของรัฐที่ไม่เสถียร แต่ฟินแลนด์ก็ยังสามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศจนกลายเป็นประเทศที่มีความสุขมาต่อเนื่องยาวนานได้ถึง 7 ปีเลยทีเดียว
ด้วยความสนใจดิฉันจึงไปค้นหาข้อมูลว่าเพราะอะไรฟินแลนด์จึงเป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดมาได้อย่างยาวนาน และพบเคล็ดลับที่น่าสนใจที่นำมาฝากกัน ดังนี้ค่ะ
มีการสนับสนุนทางสังคมอย่างเหมาะสม
แม้ว่าเมื่อดูจากอัตราการเติบโตของ GDP ต่อประชากรของฟินแลนด์จะน้อยมาก น้อยกว่าประเทศไทยอีกค่ะ แต่ประเทศฟินแลนด์มีจุดแข็งสำคัญ คือ “คุณภาพของคนในประเทศ” โดยรัฐบาลฟินแลนด์มุ่งสร้าง “คน” ที่มีคุณภาพ ผ่านนโยบายพัฒนาการศึกษาที่ทั่วถึง และมีมาตรฐานสูง มีรัฐสวัสดิการที่เหมาะสม คนในประเทศทุกคนสามารถเข้าถึงสวัสดิการได้ จนทำให้ประชาชนในประเทศมีความสุข เพราะทุกคนมีการศึกษาดี เมื่อเจ็บป่วยก็มีโรงพยาบาลรักษา เมื่อแก่ตัวมาก็มีเงินบำนาญ นอกจากรัฐจะสนับสนุนทางสังคมให้กับคนในประเทศแล้ว คนในประเทศเองยังมีการสนับสนุนทางสังคมซึ่งกันและกัน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาทางจิตวิทยาของปริยากร บุญญา เมื่อปี 2559 ที่พบว่า การสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์กับความสุข อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
2. มีอายุขัยเฉลี่ยยาวนาน
ประเทศฟินแลนด์มีประชากร ณ ปี 2567 ทั้งหมดเพียง 5,566,384 คน แบ่งเป็นเด็ก 830,558 คน (14.92%) วัยรุ่น 312,115 คน (5.61%) และผู้ใหญ่ 4,423,711 คน (79.47%) ในจำนวนนี้มีคนที่อายุเกิน 100 ปี มากถึง 1,324 คน และถ้าคิดอายุเฉลี่ยจากประชากรทั้งหมด จะอยู่ที่ 43 ปี ซึ่งหมายถึงว่าประเทศฟินแลนด์มีคนส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ที่สามารถเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ และยังมีแนวโน้มที่จะอายุยืน จึงทำให้ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความสุข โดยมีงานวิจัยทางจิตวิทยาของ David Blanchflower ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Dartmouth College ที่ได้เก็บข้อมูลจากคนทั่วโลก พบว่า ช่วงอายุที่มีความสุขมากที่สุด อยู่mujvkp6 18 – 20 ปี หลังจากนั้นความสุขของคนเราจะลดลง และมาพุ่งสูงอีกครั้งในช่วงอายุ 50 – จนตลอดอายุขัย
3. มีเสรีภาพในการใช้ชีวิต
จากการหาข้อมูล พบว่า ประเทศฟินแลนด์มีนโยบายที่ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในสังคม ทั้งด้านสิทธิมนุษยชน และความเสมอภาค เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร และแนวคิดเรื่องระบบการศึกษาที่เท่าเทียม โดยรัฐบาลฟินแลนด์เชื่อว่า การที่ประชาชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง จะทำให้ประเทศและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด เพราะเมื่อคนพัฒนา ก็นำความสามารถมาพัฒนาประเทศต่อไป นั่นจึงทำให้ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดมาอย่างยาวนาน ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของครูศีลวัต ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายสนับสนุนคุณภาพการศึกษา โรงเรียนเพลินพัฒนา ที่กล่าวว่า “เสรีภาพของบุคคล ที่เป็นอุดมคติในศตวรรษที่ 18 - 20 มันทำให้สำนึกทางตัวตนของเรามีแต่ “ตัวฉัน” หรือ The I ถ้าการศึกษาที่เด็กเติบโตมาเน้นความเป็นปัจเจกภาพมาก ๆ เด็กที่โตมาในมุมนี้มันจะมีแต่ The I (ฉัน) เซลฟ์ของเขาจะไม่เป็น We เป็น Us แต่ในความเป็นจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น ในความเป็นจริงชีวิตของมนุษย์อยู่ในสังคม วิชาจิตวิทยาสังคม อธิบายว่าเซลฟ์หรือความรู้สึกว่าเป็นตัวฉันมันเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีคนอื่น” ซึ่งหมายความว่า เสรีภาพที่ส่งผลดีและมีคุณภาพ คือ เสรีภาพในสังคมองค์รวมนั่นเอง
4. ประชาชนมีความเอื้ออาทรต่อกัน
ประเทศฟินแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเออาทรของคนในประเทศสูงมาก โดยคนในประเทศให้ความสำคัญกับการศึกษาฟรีที่เท่าเทียม สิทธิลาคลอดและช่วยภรรยาดูแลบุตร รวมไปถึงการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่มี work - life balance อย่างแท้จริง นอกจากนี้แล้วคนฟินแลนด์ยังมีความเอื้ออาทรต่อผู้อพยพที่เข้ามาในประเทศ โดยการสร้างเครือข่ายการสนับสนุนที่เข้มแข็ง ทำให้ผู้อพยพรู้สึกไม่โดดเดี่ยว ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Jonathan Haidt ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Happiness Hypothesis (สมมติฐานแห่งความสุข) ที่พบว่า ความสุขสัมพันธ์กับการทำความดี หรือการเข้าถึงแก่นของศาสนา
5. ภาครัฐมีการทุจริตน้อยมาก
ประเทศฟินแลนด์ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในโลก เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ระบบการศึกษาที่เน้นคุณภาพ และระบบรัฐสวัสดิการที่เท่าเทียม ภาครัฐให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในสังคม สร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ผลการสำรวจภายในประเทศฟินแลนด์ พบว่า คนฟินแลนด์ 80% เชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ เชื่อมมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศ เชื่อมั่นในคุณภาพการศึกษา และระบบสาธารณสุขของประเทศ ถึงแม้ว่าฟินแลนด์จะเป็นประเทศที่เก็บภาษีแพง แต่คนในประเทศยินดีที่จะจ่าย เพราะเขามั่นใจได้ว่าเงินทุกบาทที่เข้ารัฐจะย้อนกลับมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาและคนในครอบครัวที่เขารักนั่นเอง
การพัฒนาประเทศให้กลายเป็นประเทศที่มีความสุขนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและประชาชนชนอย่างเตราที่ต้องร่วมแรงร่วมใจพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่คนอยู่ดีมีสุข และคุณภาพในอนาคตต่อ
และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง : 1. Tonkit. (2021, 4 เมษายน). อายุช่วงไหน? ถึงจะมีความสุขมากที่สุด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2567 จาก https://tonkit360.com/80453
2. ชุติมา ซุ้นเจริญ. (2021, 7 มิถุนายน). ‘เสรีภาพ’ และ ‘เซลฟ์’ คนรุ่นใหม่ : ทบทวนและตั้งหลักสู่ศตวรรษใหม่ในมุมการศึกษา กับ ครูปาด-ศีลวัต ศุษิลวรณ์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2567 จาก https://thepotential.org/creative-learning/freedom-self-and-education/
3. ปริยากร บุญญา. (2559). ความสุขในการทำงาน การสนับสนุนทางสังคม ที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรในโรงพยาบาล. วารสารสังคมศาสตร์บูรณาการ. 3(2), 145 – 164.
4. วิโรจน์ เลิศจิตต์ธรรม. (2567, 21 มีนาคม).ฟินแลนด์ครองอันดับ 1 ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกเป็นปีที่ 7 ไทยขยับขึ้นอันดับ 58. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2567 จาก https://thestandard.co/the-happiest-countries-in-the-world-for-2024/
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments