ถ้าทำยังไงก็ไม่รวยซักที จะสามารถมีความสุขกับชีวิตได้หรือไม่?
ในยุคปัจจุบันสังเกตว่าเทรนด์เกี่ยวกับการลงทุน การมี passive income และการสร้างฐานะการเงินเพื่อที่จะได้มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายอายุน้อยร้อยล้านเป็นกระแสที่แรงมาก ทำให้มีอีกเทรนด์หนึ่งเกิดขึ้นตามมาก็คือเทรนด์ของการเชื่อว่า “ความสุขและความสำเร็จเท่ากับการมีเงินจำนวนมหาศาล” ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่ได้มองว่ามันผิดนะคะ และหากใครสามารถทำเป้าหมายแบบนั้นให้สำเร็จได้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก แต่หากเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้มันไกลเกินเอื้อมหรือมีแค่เป้าหมายเดียวก็คือความมั่งคั่งทางการเงินก็อาจจะทำให้กลายเป็นคนที่มีความสุขได้ยากเพราะมัวแต่โฟกัสที่เป้าหมายใหญ่จนมองไม่เห็นคุณค่าของความสำเร็จเล็ก ๆ หรือถึงมันจะเป็นความสำเร็จแต่ก็ไม่นับว่ามันมีคุณค่าความหมายอะไรเลย ในบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากหยิบยกความสุขในมิติอื่นมาฝาก เพื่อให้คุณสามารถเข้าถึงความสุขได้ในทุกวันแม้ว่ายอดเงินในบัญชีจะยังมีไม่ถึงหลักล้านก็ตาม
ความสุขคืออะไร?
ถ้าเอาตามความเป็นจริง “ความสุข” ไม่น่าจะมีความหมายที่เป็นจริงโดยสมบูรณ์ (absolute truth) และใครจะนิยามให้มันมีความหมายยังไงก็ได้ไม่มีถูกผิด เช่น
- ความสุขในแนวคิดของฝั่งจิตวิทยาเชิงบวก ประกอบด้วย 5 อย่าง ได้แก่
1) Positive Emotion อารมณ์ทางบวก
2) Engagement การมีความผูกพันเชื่อมโยง
3) Relationship การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น
4) Meaning ความหมายของชีวิต
5) Accomplishments/Achievements การบรรลุเป้าหมาย
- ความสุขตามดัชนีของ The World Happiness Report ซึ่งวัดจากองค์ประกอบ 6 อย่าง ได้แก่
1) ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศต่อหัว (GDP per capita)
2) การสนับสนุนทางสังคม (social support)
3) อายุคาดเฉลี่ยการมีสุขภาพดี (healthy life expectancy)
4) อิสรเสรีภาพ (freedom)
5) ความเอื้ออาทร (generosity)
6) ระดับการทุจริต (corruption)
จากด้านบนจะเห็นว่ามีองค์ประกอบของความสุขที่ไม่ได้เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะโรแมนติไซส์ความยากจนแต่อย่างใด เพราะโดยพื้นฐานแล้วมนุษย์ทุกคนยังคงจำเป็นที่จะต้องมีปัจจัยสี่อย่างไม่ขาดแคลน ในบทความนี้จึงหมายถึงคนที่มีปัจจัยสี่ครบแล้วหรือมีทรัพย์สินแล้วประมาณหนึ่งแต่ก็ยังรู้สึกไม่มีความสุขเพราะอาจจะโฟกัสที่เป้าหมายใหญ่จนลืมไปว่าสิ่งเล็ก ๆ ในแต่ละวันมันก็สามารถสร้างความสุขได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ตั้งเป้าว่าจะมีเงินหกหลักในบัญชีแต่ตอนนี้มีห้าแสนก็เลยได้แต่คิดว่า “เมื่อไหร่หนอ?” ตราบใดที่ยังมีไม่ถึงล้านก็จะไม่ยอมให้ตัวเองมีความสุขเลย เป็นต้น
How to มีความสุขกับสิ่งที่ไม่ใช่เงินทอง
แม้เงินจะซื้อความสุขได้ด้วยการเอาเงินไปซื้อสิ่งที่คุณอยากได้ แต่มันก็มีหลายวิธีในการสร้างสุขให้กับตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องใช้เงิน เช่น
1. ขอบคุณทุกสิ่งที่ตัวเองมี คนส่วนใหญ่มักไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมีแต่จะเริ่มรู้สึกได้ก็ต่อเมื่อไม่มีมันแล้ว เช่น สุขภาพที่ดี อาหาร ที่พักอาศัย เพื่อน ครอบครัว ธรรมชาติรอบตัว ความสร้างสรรค์ ความใจดีจากคนอื่น ทักษะการแก้ปัญหา รวมถึงเงินเท่าที่มีอยู่ในตอนนี้แม้มันจะไม่มากเท่าไหร่ การขอบคุณในสิ่งที่ตัวเองมีบางทีก็ช่วยให้มีความสุขขึ้นมาได้ หรือลองจินตนาการถึงวันที่คุณป่วยหนักก็ได้ว่าคุณจะรู้สึกขอบคุณแค่ไหนหากคุณได้สุขภาพที่ดีกลับคืนมา
2. มองว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมันเป็นสภาวะชั่วคราว การปรับมุมมอง (reframe) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยให้มีความสุขมากขึ้นได้ แทนที่จะจมอยู่กับความคิดว่าการมีเงินน้อยมันทำให้ชีวิตมีแต่ปัญหา ก็เอาเวลาไปคิดว่าตัวเองมีสกิลอะไรบ้าง จะเอาสกิลพวกนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ยังไงบ้าง และถึงแม้ชีวิตในตอนนี้มันจะแย่แค่ไหนแต่มันจะต้องไม่เป็นแบบนี้ตลอดไปเพราะมันต้องมีสักวันที่ชีวิตจะต้องดีขึ้น หลังจากปรับมุมมองแล้วก็วางแผนให้กับตัวเองว่าจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ชีวิตมันไปข้างหน้า
3. หมั่นดูแลตัวเอง (Self-Care) อย่าลืมว่าความสุขเกิดจากภายใน ดังนั้นการทำให้ตัวเองเป็นคนที่มีทัศนคติที่ดีและดูแลตัวเองเป็นคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความสุข หันมาโฟกัสที่การเติบโตภายใน (personal growth) ดูแลร่างกายจิตใจให้มีสุขภาวะ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ และใจดีกับตัวเอง คนที่มีสุขภาพดีมักจะกลายเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีและมีอารมณ์ดีตามไปด้วย
4. ช่วยเหลือผู้อื่น การแสดงความใจดี (Acts of kindness) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ ๆ นั้นมีผลต่อระดับความสุข เช่น การบริจาค การทำงานจิตอาสา การให้ความช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน การรับฟังปัญหาของเพื่อนด้วยความจริงใจและตั้งใจฟัง ซึ่งการที่ได้เห็นคนอื่นพ้นจากความทุกข์มันคือความเมตตาและมันสามารถทำให้ผู้ให้เกิดความสุขขึ้นมาได้
5. ตั้งเป้าหมายที่เป็นจริง (Realistic Goals) ฝึกตั้งเป้าหมายที่ค่อย ๆ ไปทีละนิด เช่น ต่อวัน ต่อสัปดาห์ ต่อเดือน ต่อปี โดยไม่ลืมว่ามันต้องเป็นเป้าหมายที่วัดผลได้และเป็นไปได้จริง คุณอาจจะเขียนออกมาว่าคุณมีเป้าหมายอะไรบ้างพร้อมทั้งกำหนดวิธีการที่คุณจะไปให้ถึงเป้าหมาย รวมถึงอย่าลืมเขียนว่ามีอะไรบ้างที่คุณทำมันได้สำเร็จแล้ว
6. จัดลำดับความสำคัญ ลองจัดลำดับดูว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในชีวิต สิ่งไหนจำเป็น สิ่งไหนไม่จำเป็น สิ่งไหนควรให้ความสำคัญก่อน สิ่งไหนเอาไว้ทีหลังก็ไม่เป็นไร หรือพิจารณาว่าสิ่งที่คุณต้องการจะซื้อคุณจำเป็นต้องมีมันจริง ๆ ไหม? เพราะหลายครั้งคนเราก็มักจะซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็นโดยที่ก็ไม่รู้ว่าจะซื้อมาเพื่ออะไร การเลือกซื้อแต่สิ่งจำเป็นจึงอาจจะช่วยให้คุณมีเงินเหลือเพิ่มมากขึ้น และลองชั่งน้ำหนักความสำคัญ เช่น ระหว่างทำงานหนักเพื่อซื้อรถป้ายแดงกับการมีเวลาคุณภาพกับลูกควรจะเลือกอะไรมาก่อน รวมไปถึงฝึกวางขอบเขตของตัวเองและฝึกปฏิเสธให้เป็น เพราะในสังคมที่มันวุ่นวายก็อาจจะทำให้เผลอใช้ชีวิตไปในแบบที่เกินกำลังของตัวเอง
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
7 เคล็ดลับในการสร้างความสุขในชีวิตจากผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยา https://www.istrong.co/single-post/7-tips-to-creating-happiness
อ้างอิง:
[1] Seligman’s PERMA+ Model Explained: A Theory of Wellbeing. Retrieved from https://positivepsychology.com/perma-model/
[3] How to Be Happy without Earning More. Retrieved from https://www.chicagobooth.edu/review/how-be-happy-without-earning-more
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments