ตามหาความสุข รู้ทันความเบื่อ
ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่เนื้อหาของบทความนี้สิ่งที่เราอยากให้คุณผู้อ่านมาสำรวจตัวเองไปพร้อมๆกัน เราอยากให้คุณลองยกมือขึ้นถ้าพบว่าข้อความต่อไปนี้ตรงกับสิ่งที่คุณเป็นในหลายเดือนที่ผ่านมา...
O คุณเริ่มรู้สึกตื่นเต้นเมื่อจินตนาการถึงชีวิตอิสระของเย็นวันศุกร์หลังเลิกงานที่กำลังจะโคจรมาถึงเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตที่ไร้ขอบเขต และไม่ต้องพูดถึงเรื่องงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ก่อนที่จะเริ่มรู้สึกเซ็งๆเมื่อเช้าวันจันทร์มาเยือนอีกครั้ง
O คุณเริ่มอยากใช้ชีวิตอยู่คนเดียวแบบเงียบๆมากขึ้น ชอบที่จะพักผ่อนอยู่ที่บ้านมากกว่าไปเม้าท์มอย และปาร์ตี้กับแก็งค์เพื่อนสมัยเรียนหรือกลุ่มเพื่อนในที่ทำงาน
O คุณรู้ว่าตอนนี้กำลังอยู่ในวงจรของความจำเจแต่กลับตอบตัวเองไม่ได้ว่าควรทำอย่างไรต่อและสุดท้ายคุณก็พบว่าตัวเองยังคงอยู่ในวงจรเดิม อยู่ที่เดิม และใช้ชีวิตเดิมๆ
O คุณเริ่มรู้สึกโกรธ หรือขัดแย้งกับสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ ความก้าวร้าวที่คุณมีกับตัวเองยิ่งเป็นพลังผลักดันให้คุณทุกวิถีทางที่จะพาตัวเองออกจากวงจรเดิมที่เจอในตอนนี้
O คุณเริ่มสิ้นหวัง และเศร้า กับสิ่งที่คุณเป็นอยู่ในปัจจุบัน
O บางครั้งเมื่อคุณรวบรวมพลังได้มากพอ คุณพยายามจะเดินทางออกจากกรอบของความจำเจด้วยการหากิจกรรมที่แตกต่างจากสิ่งที่ทำอยู่ คุณเดินทางออกท่องเที่ยวเพื่อคาดหวังจะไปพบความสุข และความสนุก แต่กลับพบว่ามีบางอย่างในตัวคุณพยายามผลักให้คุณกลับมาใช้ชีวิตในวงจรเดิมอีกครั้ง
ขอแสดงความยินดีกับคุณผู้อ่านที่ยังไม่ได้ยกมือแม้แต่ครั้งเดียว หลังจากที่อ่านข้อความด้านบนจบ แน่นอนค่ะ ถ้าเรากำลังมีความสุขคงไม่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่กล่าวถึงด้านบน เมื่อเราพูดถึง “ความสุข” อารมณ์ทางบวกที่ทุกคนปรารถนาให้อยู่กับเราตลอดไป ความสุขเป็นอารมณ์ที่กระตุ้นให้มนุษย์มีพลังงานมหัศจรรย์ จนสามารถทำสิ่งที่ต้องการให้ประสบความสำเร็จด้วยวิธีการสร้างสรรค์ และความสุขทำให้หนทางที่จะไปถึงเป้าหมายในชีวิตของเราสั้นลง เหมือนที่มีหลายคนมักจะพูดว่า “เวลาที่เรามีความสุขเวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว” ดังนั้นถ้าได้ลองทำสิ่งที่ตัวเองรักด้วยความสุขไม่ว่าสิ่งนั้นจะยากและท้าทายแค่ไหนก็ไม่ใช้สิ่งที่หนักหนาเกินไปสำหรับเรา
ในทางตรงกันข้าม หลายๆคนจะพบว่าการเดินทางไปสู่เป้าหมายและการใช้ชีวิต อาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การเดินทางไม่มีใครเจอแต่สิ่งที่เราตั้งใจไว้ไปเสียทุกอย่างบ่อยครั้งที่การเดินทางอาจเจอเส้นทางเขาวงกตที่วกวนไปมา หลายคนกำลังหลงติดกับดักของวัฏจักรความจำเจที่รู้ตัวอีกทีความรู้สึกนั้นก็กลายเป็น “ความเบื่อ” เสียแล้ว ถ้าหาทางออกไม่เจอคุณอาจโดนกลืนและอาจโดนดูดพลังก่อนที่จะตามหาความสุขและเป้าหมายเจอ
“ความเบื่อ” อุปสรรคสำคัญของการไปถึงเป้าหมายและการใช้ชีวิตให้มีความสุข ความเบื่อเป็นความรู้สึกแบบหนึ่งที่คนในสังคมปัจจุบันกำลังเผชิญค่อนข้างมาก งานวิชาการหลายฉบับมักให้นิยามของความเบื่อว่าเป็น “สภาวะทางอารมณ์ที่คนๆหนึ่งไม่พึงพอใจและกำลังหาทางหลีกหนีกับสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจุบัน” ในมุมมองทางสุขภาพจิตความเบื่อมักถูกกล่าวถึงว่าเป็นอารมณ์ที่ส่งผลกระทบทางลบกับสุขภาพจิตและชีวิตความเป็นอยู่ของคนเราเสียมาก
มีการวิจัยของ Dr John Eastwood นักจิตวิทยาแห่ง York University ณ Toronto ได้ศึกษาเรื่องความเบื่อ พบว่าความเบื่อมีความสัมพันธ์กับความเครียดในรูปแบบต่างๆ เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล และความเบื่อจะนำพาหลายๆคนที่ยังจัดการกับมันไม่ได้ไปสู่พฤติกรรมทางลบหลายอย่าง เช่น การใช้สารเสพติด
อย่างไรก็ตามเหรียญมักมีสองด้านเสมอ ในแง่มุมที่หลายคนมองว่าความเบื่อส่งผลเสียต่าง ๆ นานา แต่กลับมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่ได้นำเสนอข้อดีของความเบื่อเอาไว้ด้วย Dr. Esther Priyadharshini แห่ง the University of East Anglia ให้ความเห็นในมุมมองที่แตกต่างออกไปว่า “ความเบื่อเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ความเบื่อเป็นกลไกธรรมชาติที่สำคัญที่ทำให้มนุษย์หยุดใช้ความคิดเพื่อทบทวนตัวเองบ้าง” นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายแง่มุมจากงานวิชาการที่เราอยากนำมาแลกเปลี่ยนและอยากให้คุณมาลองมองความเบื่อในมุมใหม่อย่างรู้เท่าทันและอยู่เหนือความเบื่อ
คุณรู้หรือไม่?
ปัจจุบันคนใช้เวลาทำกิจกรรมหลายอย่างมากเกินไปจนไม่มีเวลาหยุดพัก ในเวลาว่างก็ปล่อยให้ตัวเองอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ความเบื่อทำให้เรากลับมาเป็นมิตรกับเวลาคุณภาพของตัวเองมากขึ้น
การสัมผัสและรับรู้ถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังรู้สึกและเป็นในเวลาปัจจุบันจะทำให้คุณอยู่กับตัวเองได้อย่างสงบและมีความสุขมากขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งกิจกรรมหรือผู้คนที่มาจากภายนอกมากระตุ้นให้หายเบื่อ
ถ้าเราเริ่มรู้สึกเบื่อ ควรรับรู้และอนุญาตให้ตัวเองเบื่อแบบรู้ทัน คุณอาจบอกกับตัวเองด้วยประโยคที่ว่า “ฉันรู้ว่ามันมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นกับฉัน ฉันอยากให้เวลาตรงนี้มันผ่านไป แต่ในขณะที่ฉันทำไม่ได้ อะไรหนอที่เกิดกับฉัน ใช่ตอนนี้ ฉันรู้สึกเบื่อ เพราะอะไรความรู้สึกนี้จึงเกิด? ฉันจะอยู่กับมันอย่างไร? ฉันจะใช้ประโยชน์จากมันให้ฉันก้าวไปข้างหน้าต่อได้อย่างไร?” การจับความรู้สึก และอยู่กับความเบื่ออย่างมีสติจะทำให้คุณจัดการกับความเบื่อได้ดีขึ้น
อย่าพยายามทดแทนความเบื่อด้วยการทำงาน การทำกิจกรรมแปลกใหม่ และการออกไปพบผู้คนจนไม่มีเวลาพูดคุยกับตัวเอง ความเบื่ออาจทำให้คุณได้สำรวจจนรู้สึกตัวตนที่แท้จริงบางอย่างที่คุณก็ยังไม่เคยรู้จักตัวเองในมุมนี้มาก่อนก็เป็นได้ หลายคนอาจพบว่าสิ่งที่เขาต้องการที่จะทำต่อไปในชีวิตคืออะไรหลังจากที่หลุดพ้นจากการครอบงำของความเบื่อแล้ว
ความเบื่อที่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมจะช่วยทำให้คุณเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการจัดการกับสิ่งที่ยังหาทางออกไม่เจอในปัจจุบัน เนื่องจากเมื่อเรารับรู้ได้ว่าความเบื่อกำลังมาเยือนนั่นคือเป็นกลไกธรรมชาติที่สมองกำลังเตือนคุณว่าชีวิตเราควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงและอะไรคือสิ่งต่อไปที่คุณอยากทำจริงๆ
การมองความเบื่อมุมใหม่น่าจะเป็นแง่มุมที่น่าสนใจสำหรับหลายๆคนที่ยังไม่รู้และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกหนีความเบื่ออยู่เสมอ บางที “ช่วงหนึ่งของการเดินทางตามหาเป้าหมายเราควรอนุญาตให้ตัวเองเดินออกนอกเส้นทางเพื่อพักบ้าง” (เขียนไว้ในบทความ “สิ่งเล็กๆแต่คุณค่ายิ่งใหญ่มหาศาล”) หวังเล็กๆค่ะว่าความจริงที่น่าสนใจตรงนี้อาจทำให้หลายคนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าที่ผ่านมาเรามองความเบื่อในแง่ร้ายเกินไปหรือไม่ “ถ้าคุณเริ่มรู้สึกว่าตัวเองพยายามใช้ชีวิตที่อัดแน่นไปด้วยกิจกรรม ทำงาน และต้องหาทางวิ่งๆเข้าหาผู้คนจนไม่มีเวลาที่จะหายใจทิ้งคนเดียว ขออนุญาตให้ความเบื่อเข้ามาทำหน้าที่เพื่อ pause ปุ่มความคิดที่ทำงานตลอดเวลาในสมองคุณบ้าง และขอมุมสำหรับหยุดพักเพื่อให้คุณได้หายใจก่อนเดินทางไปต่อนะคะ”
แหล่งข้อมูลในการอ้างอิงบทความ
https://www.fastcompany.com/3022134/there-are-5-types-of-boredom-which-are-you-feeling
https://www.theguardian.com/commentisfree/2015/sep/28/boredom-cures-privilege-free-mind
https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2012/oct/14/boredom-is-bad-for-health
Opmerkingen