วางแผนการเงินเพื่อสุขภาพจิตที่ดีฉบับมนุษย์เงินเดือนใน 3 นาที
จากบทความฉบับที่แล้วเรื่อง 3 สิ่งที่กำลังทำร้ายความมั่นคงทางการเงินและสุขภาพจิตของคุณ เราทิ้งท้ายกันตรงที่ว่าถ้าหากอยากหลุดพ้นจากวงเวียนการใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน เป็นหนี้บัตรเครดิต ทำงานมานานแต่ยังไม่มีเงินเก็บให้ตัวเอง ทุกอย่างต้องเริ่มจากการวางแผนทางการเงิน เพราะหนึ่งในสิ่งที่บั่นทอนสุขภาพจิตเราได้มากที่สุดก็คือเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ นั่นเอง
แต่ในความเข้าใจของคนทั่วไป คำว่าการวางแผนทางการเงินดูเป็นคำที่ไกลตัวเหลือเกิน บางคนคิดว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ เป็นเรื่องของนักวิชาการนั่งทำตัวเลข เป็นเรื่องของคนมีเงินถึงจะทำได้ ทั้งหมดนี้เข้าใจผิดครับ! การวางแผนการเงินคือเรื่องของทุกคน และยิ่งถ้าคุณคิดว่าตัวเองมีเงินน้อย การวางแผนการเงินยิ่งจำเป็น!
ที่จริงเราคุ้นเคยกับการวางแผนมาตลอดชีวิต เช่นวางแผนการเรียน วางแผนการทำงาน วางแผนช็อปปิ้ง วางแผนไปเที่ยววันหยุด วางแผนเล่นเกม คำว่าวางแผนที่จริงไม่มีอะไรซับซ้อนเลย มันคือการคิดว่า “ทำอย่างไรเราจะไปถึงเป้าหมาย” นั่นเอง และสิ่งที่ทำให้การวางแผนทางการเงินของเรายากที่สุดก็คือ “เราไม่เคยมีเป้าหมายทางการเงินในชีวิตเลย” จริงไหม?
บางคนที่เตรียมจะแย้งว่าเอ๊ะ เราก็เคยคิดถึงเป้าหมายทางการเงินนะ เราอยากมีเงินเก็บเป็นล้าน ๆ เราอยากมีบ้านสวนต่างจังหวัด เราอยากมีรถหรูขับ นี่ไง มีเป้าหมายแล้ว ขอบอกเลยว่าแค่นี้ยังไม่ใช่ครับ เพราะมันเป็นภาพลอย ๆ จาง ๆ มองแล้วเป็นภาพฝันกลางวัน สิบปีที่แล้วเคยฝันอย่างไรปีนี้ก็ยังฝันแบบนั้น และยังพบปัญหาทางการเงินเดิม ๆ ต่อไป ที่เป็นแบบนี้เพราะเป้าหมายทางการเงินของเรายังไม่มีความแน่นหนามากพอ
การตั้งเป้าหมายต่าง ๆ ในชีวิต รวมถึงการตั้งเป้าหมายทางการเงิน หลักสำคัญคือต้องมีความ ‘SMART’ คือมีทั้ง S : Specific มีความเจาะจงเป็นเรื่อง ๆ ชัดเจน , M : Measurable ต้องวัดในเชิงปริมาณเป็นตัวเลขได้ ไม่ใช่ภาพลอย ๆ แค่ว่ามี , A : Achievable ต้องอยู่ในวิสัยที่ทำให้สำเร็จได้ แต่ก็ต้องเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทายด้วย ต้องใช้ความพยายามมากกว่าในชีวิตปกติเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นและอยู่ในวิสัยที่ไปถึงได้ , R : Realistic ตั้งเป้าหมายบนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าฝันอยากมีสินทรัพย์มากกว่าอีลอน มัสก์ หรือมีหนี้สิน 8 ล้านบาทอยากทำงานอะไรก็ได้ที่ปลดหนี้ได้ในหนึ่งปี แบบนี้ไม่ถือว่าอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ หรือเป็นไปได้ยากและจะทำให้เราท้อถอยระหว่างทางจนเป้าหมายกลายเป็นฝันกลางวันเหมือนเดิม , T : Time-bound มีกรอบเวลากำหนดชัดเจน เป้าหมายหรือแผนที่ไม่มีเรื่องเวลากำกับ ทำไปเรื่อย ๆ สบาย ๆ ไม่มีความกดดันเลย สุดท้ายก็จะไม่ไปถึงสักที ใช่หรือไม่ลองถามใจเราตอนเรียนที่เร่งอ่านหนังสือตอนใกล้วันสอบเพราะวันสอบมีกำหนดไว้ชัดเจน ถ้าหากการเรียนไม่มีวันสอบเป็นกรอบเวลาเราอาจอ่านหนังสือแบบเรื่อยเฉื่อยและสุดท้ายก็เลิกอ่าน ไม่จบเนื้อหาสักที
มาลองดูตั้งเป้าหมายทางการเงินแบบ SMART กันดูครับ
เป้าหมายเดิม (ฝันกลางวัน) “ฉันอยากมีเงินเก็บมาก ๆ ปลูกบ้านใหม่ในพื้นที่อากาศดี ๆ สักหลัง ซื้อที่ดินแล้วอยู่สบายมีเงินใช้ตอนแก่”
เป็นเป้าหมายแบบ SMART “ฉันจะต้องมีเงินออม 4 ล้านบาท ภายในเดือนธันวาคม 2574 หรือสิบปีนับจากนี้ จากการทำงานหลักและงานเสริม เพื่อเอาไปซื้อที่ดิน 6 ไร่ และสร้างบ้านที่จังหวัด XXX จำนวน 3 ล้านบาท อีก 1 ล้านบาทฉันจะนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 6% ต่อปี ทำให้อีกสิบปีข้างหน้าฉันจะมีผลตอบแทนการลงทุนเป็นรายได้อีกช่องทางเดือนละ 5,000 บาท”
เป็นเป้าหมายระยะยาวที่มองผลในอีกสิบปีข้างหน้า ระหว่างทางอาจมีเหตุไม่คาดฝันอื่น ๆ เกิดขึ้นทำให้แผนของเราเปลี่ยนไปก็ได้ แต่แน่นอนว่าการมีแผนย่อมดีกว่าการไม่มีแผนเลย และเมื่อเรามีแผนชัดเจนแบบ SMART ด้านบน เมื่อเวลาผ่านไปเช่น ผ่านไปถึงปี 2568 หรือผ่านไปกว่าหนึ่งในสามของแผนที่ตั้งไว้เมื่อเราทบทวนเป้าหมายและพบว่าตอนนี้เพิ่งเก็บเงินได้หนึ่งล้านบาทแรกเท่านั้นเราจะรู้ทันทีว่าการดำเนินการตามแผนกำลังมีปัญหาแล้ว ถึงเวลานั้นเราจะได้คิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรดีระหว่างเร่งการสร้างรายได้เพื่อให้เงินออมกลับมาเป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างไร ยิ่งทบทวนบ่อยยิ่งปรับแผนปรับวิธีการได้ดียิ่งขึ้น เช่นทบทวนทุกสามเดือน หกเดือน หนึ่งปี แต่ไม่แนะนำให้ทบทวนแล้วปรับเป้าหมายลดลงหรือขยายเวลาออกไปถ้าไม่จำเป็น ควรยึดกรอบเวลาเดิมและเป้าหมายเดิมถ้าหากไม่มีอะไรทำให้ความจำเป็นเปลี่ยนไป แต่ใช้วิธีย่อยในการเร่งสู่เป้าหมายดีกว่า เช่น หารายได้จากอาชีพเสริม ลงทุนเพิ่มเติม ตัดขายสินทรัพย์บางประเภทที่สิ้นเปลืองและทำให้เรามีค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ออกงานสังคมลดลงเพื่อประหยัดรายจ่าย เปลี่ยนวิธีการเดินทาง ฯลฯ
ในเรื่องการหาอาชีพเสริมนั้น คนจำนวนมากยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับคนที่ทำงานหลายอาชีพ เช่นมองว่าคนที่ทำงานอาชีพเสริมคงมีฐานะยากลำบาก รายได้จากการทำงานคงไม่พอเลี้ยงชีพ น่าสงสาร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้นทั้งหมด การที่เรามีเป้าหมายที่สูงขึ้นแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือต้องใช้ความพยายามมากขึ้น นักกีฬามืออาชีพที่มีเป้าหมายไปโอลิมปิกย่อมต้องทำงานมากกว่านักกีฬาสมัครเล่นที่ไม่มีเป้าหมายอะไร การทำงานหลายอาชีพหรือมุ่งมั่นที่จะมีรายได้หลายทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่บอกว่าเรามีคุณค่าและมุ่งมั่นกับอนาคตของตัวเองมากพอ
แต่การทำงานอาชีพใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจทำงานหลักให้ดีที่สุดเพื่อสร้างความก้าวหน้าและผลตอบแทน หรือการทำอาชีพเสริมที่เหมาะกับตัวเราเพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ ทั้งหมดนี้ยังถือว่ารายได้ที่เข้ามานั้นเป็น Active Income หรือรายได้ที่ต้อง “ออกไปหา” ซึ่งถ้าหากวันใดที่เราเจ็บป่วย หรือพบเหตุสุดวิสัยที่ทำงานไม่ได้ รายได้จากตรงนี้จะหดหายไปทันที เราจึงต้องนำเงินที่ได้จากการทำงานแบบ Active Income ไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนอีกทางเพื่อให้เกิดรายได้จากสินทรัพย์หรือที่เรียกว่า Passive Income เช่น มีบ้านให้เช่า มีกิจการที่ทำรายได้ให้กับเราแม้ในวันที่เราไม่ได้ไปดูแล มีการลงทุนในหุ้นปันผลสูง ตราสารหนี้ที่จ่ายผลตอบแทนสม่ำเสมอ ซึ่งเมื่อรวมกับรายได้แบบ Active Income จะทำให้เกิดผลตอบแทนทบต้นและพาเราไปยังเป้าหมายได้เร็วขึ้นกว่าการก้มหน้าหารายได้แบบ Active Income อย่างเดียวมาก ๆ
ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้และลองเริ่มตั้งเป้าหมายทางการเงินให้กับตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ คุณขยับเข้าใกล้เป้าหมายการมีชีวิตที่ดีมากขึ้นแล้ว การวางแผนการเงินที่ดีจะทำให้คุณมีชีวิตที่ดี ยากที่จะกลับไปเป็นคนที่ใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือนหรือหนี้สินล้นพ้นตัว และนั่นคือกุญแจสำคัญที่ทำให้คุณและคนไทยเกินครึ่งก้าวพ้นจากปัญหาสุขภาพจิตและความเครียดเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ครับ
ในตอนหน้าเราจะมาวาดตารางงบดุลส่วนตัวของเราเองแบบง่าย ๆ กันดูครับ ตารางที่จะทำให้คุณร้องอุทานว่า “รู้แล้ว ทำไมเราถึงเก็บเงินไม่ได้สักที มันรั่วออกไปตรงนี้นี่เอง”
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
ประวัตินักเขียน
ธเนศ เหลืองวิริยะแสง AFPT™
Investment Planner และ Wealth Trainer
M.Sc. (Industrial and Organizational Psychology), Kasetsart University.
Comments