top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 แนวคิดในการสู้ชีวิต ตามสไตล์ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์


ในปีที่ผ่านมา หลายท่านคงรู้สึกเหนื่อยกับการสู้ชีวิตใช่ไหมคะ ทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งสภาวะโรคระบาดเดี๋ยวดี เดี๋ยวรุนแรง ทั้งสถานการณ์บ้านเมืองที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และสภาพสังคม ข่าวในสังคมที่ชวนห่อเหี่ยว ทดท้อใจ แต่เมื่อชีวิตเรายังอยู่ และยังมีคนที่รักที่เราต้องดูแล ก็ต้องสู้ชีวิตกันต่อไป โดย istrong ในฐานะที่ปรึกษาทางจิตวิทยาของคุณ จึงขอส่งกำลังใจและแนวคิดในการสู้ชีวิต ตามสไตล์ผู้ว่า กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาฝากกัน 5 แนวคิด เพื่อให้คุณลองไปปรับใช้ในการสู้ชีวิตกันต่อไปค่ะ


โดยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้เป็นประธานในพิธีเปิด และบรรยายพิเศษ ในการประชุมวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 สมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย โดยอาจารย์ได้แบ่งปันแนวคิดในการสู้ชีวิต 5 แนวคิด ที่ได้เรียนรู้จากการดูแลรักษาลูกชายของอาจารย์ คือ คุณแสนดี หรือ แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้พิการทางการได้ยิน โดย 5 แนวคิดนั้น ได้แก่


1. เรื่องที่ไม่คาดคิดในชีวิตเกิดขึ้นได้เสมอ

ความหมายของอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็คือ ต่อให้เราวางแผนชีวิตมาอย่างดีแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น ในเช้าอันสดใสที่เราต้องไปสัมภาษณ์งาน เราก็ได้เตรียมความพร้อม แต่งตัวด้วยชุดที่ดูดี แต่พอออกจากบ้านมาก็พบว่าฝนตก รถติด จนทำให้ชุดเลอะเทอะ และอาจไปไม่ทันสัมภาษณ์งาน หรือในกรณีที่ใหญ่กว่านั้น เช่น พ่อ แม่ ป่วยกะทันหัน ประสบอุบัติเหตุ หรือต้องถูกอกจากงานด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม นั่นยิ่งทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนไปในอีกทางหนึ่งได้เลยทีเดียว ซึ่งอาจารย์ชัชชาติ ได้แบ่งปันเรื่องราวของท่านที่พบว่าคุณแสนดี มีความบกพร่องทางการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด แต่แทนที่อาจารย์จะโทษดวง หรือปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามดวง กลับอึดฮึด สู้ ค้นหาวิธีที่จะทำให้ลูกกลับมาได้ยินอีกครั้ง โดยพยายามมองว่า เรื่องทั้งดี และไม่ดี สามารถเกิดขึ้นกับชีวิตเราได้เสมอ หรือกล่าวได้ว่า “ชีวิตอาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า” แต่เราต้องมีสติ และมีจิตใจที่เข้มแข็งมากพอ


2. หยุดหวังปาฏิหาริย์ ไม่มีใครแก้ปัญหาของเราได้ นอกจากตัวเราเอง

เมื่อเราเกิดปัญหา ที่มองไม่เห็นทางออก เช่น ป่วยด้วยโรคร้ายแรง ตกงานกะทันหัน คนในบ้านเจ็บป่วยรุนแรง หรือประสบปัญหาใด ๆ ก็ตามที่ทำให้เราไม่อยากจะสู้ชีวิตอีกแล้ว ขอให้คุณหายใจเข้า – ออก ช้า ๆพยายามตั้งสติ อยู่กับตัวเอง อยู่กับปัจจุบัน โดยอาจารย์ชัชชาติ ได้ย้ำว่า “หยุดหวังปาฏิหาริย์ ไม่มีใครแก้ปัญหาของเราได้ นอกจากตัวเราเอง” เพราะการไหว้พระก็ตาม หรือการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ก็ตาม สามารถสร้างเสริมกำลังใจให้เราได้ก็จริง แต่คนที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น หรือสู้ชีวิตไปต่อได้ ก็คือตัวเราเอง เพราะตอนที่อาจารย์ทราบว่าคุณแสนดีต้องการความดูแลเป็นพิเศษ อาจารย์กับภรรยาก็ตกใจ แต่ก็มีสติ และร่วมกันวางแผนชีวิตว่าจะพาลูกไปรักษาที่ไหน จะดูแลลูกอย่างไร จนคุณแสนดีสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณภาพดังเช่นปัจจุบัน


3. ต้องเข้าใจปัญหาให้ดีที่สุด พยายามหาทางออกที่ดีที่สุด (ด้วยตัวเอง)

ในกรณีของอาจารย์ชัชชาติ เรื่องปัญหาความบกพร่องทางการได้ยินของแสนดี เป็นมาตั้งแต่เกิด โดยอาจารย์และภรรยาได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ และหาความรู้วิธีรักษาหลาย ๆ วิธี ก็พบว่าวิธีผ่าตัดใส่เครื่องช่วยฟังน่าจะดีที่สุด และช่วยให้คุณแสนดีสามารถใช้ชีวิตได้ปกติที่สุด แต่ก็มีความยากในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งคิวว่างของแพทย์ ทั้งเวลาในการทำงานที่ลางานยาว ๆ ไม่ได้ อาจารย์ชัชชาติจึงตัดสินใจไปสอบทุนเพื่อไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่นั่น จนเมื่อคุณแสนดีอายุ 2 ขวบ จึงได้เข้ารับการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดก็ผ่านไปด้วยดี และส่งผลดีจนถึงปัจจุบัน แต่กว่าที่จะผ่านพ้นเรื่องราวหนักหนาดังกล่าวมาได้ ก็ต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน และสติปัญญาอย่างสุดตัวเลยค่ะ นั่นจึงเป็นแนวคิดในการสู้ชีวิตว่า เมื่อพบปัญหา ขอให้ตั้งสติ และสร้างปัญญาโดยการหาความรู้ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางออก หากไม่มีทางออก เราก็ต้องทุ่มสุดตัวเพื่อสร้างทางออกด้วยตัวเราเอง เพราะเมื่อยังหายใจ ชีวิตยังต้องไปต่อค่ะ


4. พยายามให้มากที่สุด อย่ายอมแพ้

หัวใจสำคัญของการสู้ชีวิต ก็คือ “อย่ายอมแพ้” ค่ะ เพราะในทางจิตวิทยาเมื่อใจคุณสู้ หนักหนาแค่ไหนคุณก็สามารถผ่านไปได้ แต่ถ้าใจไม่สู้ แรงขับเคลื่อนของชีวิตก็จะน้อย เรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ไม่อยากจะก้าวผ่าน ซึ่งการที่คนเราจะมีจิตใจแข็งแกร่งได้นั้นเราต้องเห็นคุณค่าของตนเอง มีหลักยึดในใจว่าสู้เพื่อใคร และมีประสบการณ์ในชีวิตมากพอดังคำกล่าวของคุณสมจิตร จงจอหอ ที่ว่า “ผมเจอมาเยอะ ผมเจ็บมาเยอะ” ซึ่งมีความหมายอย่างลึกซึ้งว่า “ได้ผ่านพ้นความเจ็บปวดมาเยอะ แต่ก็ยังรอดมาได้อย่างเข้มแข็ง และทำให้เราแกร่งขึ้น” หรือในกรณีของอาจารย์ชัชชาติ หากท่านไม่สู้เพื่อคุณแสนดี ไม่พยายามเพื่อลูก ชีวิตของคุณแสนดีจะเปลี่ยนไปอีกทางอย่างหน้ามือ หลังมือเลย ดังนั้น หากคุณกำลังท้อแท้ กำลังหมดหวัง กำลังเหนื่อยล้า ขอให้มองดูรอบข้างก่อนนะคะว่าคุณสู้เพื่อใคร แต่ถ้าคุณว่าไม่มีใครเลยในชีวิต ชีวิตก็ยังมีคุณค่ะ ต้องสู้เพื่อตัวเองให้ได้


5. หากำลังใจ แรงบันดาลใจ ในการก้าวต่อไป

ในทางจิตวิทยา “แรงบันดาลใจ” ก็เปรียบเสมือน Google Map ที่นำทางให้เราไปถึงจุดหมายในชีวิต แต่ถ้าเราไม่มีแรงบันดาลใจ เราจะใช้ชีวิตแบบหมดไฟ และกลายเป็นคนหมดใจ ไร้แรงที่จะขับเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้าได้ กลายเป็นใบไม้ที่ลอยตามลม ชีวิตจะพาไปทางไหนก็ลอยตามไป ซึ่งเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้เราเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า ไบโพลาร์ หรือเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง เพราะสิ้นหวังแล้วในชีวิต เพราะฉะนั้นเราต้องหมั่นเติมไฟในใจของเราให้ลุกโชนอยู่เสมอ ด้วยการมองหาแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตค่ะ สำหรับดิฉันอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถือเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจที่ดีเยี่ยม เพราะอาจารย์มีไฟในการใช้ชีวิตที่โชติช่วงมาก อาจารย์ไม่เหน็ดเหนื่อยกับการทำงาน ทำงาน ทำงาน แม้จะโดนแรงต้าน หรือโดนด่าหนักหนาก็ตาม และยังเป็นพ่อที่รักและใส่ใจลูกมาก รวมถึงยังเป็นผู้นำที่มี “ความเป็นมนุษย์” สูงมาก เมื่อท้อแท้ หรือเหน็ดเหนื่อย การดูคลิปอาจารย์ไปวิ่ง ทำงาน หรือทำกิจกรรม จึงช่วยเติมพลังใจได้เป็นอย่างดีค่ะ


ในฐานะของแม่คนหนึ่งขอบอกเลยว่าการมีชีวิตของคน ๆ หนึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามาก กว่าคุณจะเดินทางชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ ตัวคุณเอง รวมถึงทุกคนที่รักคุณ ต่างก็ผ่านทั้งหนามกุหลาบและกลีบกุหลาบมาพร้อม ๆ กับคุณ ในวันที่คุณไม่เห็นคุณค่าของตนเองจนไม่อยากใช้ชีวิตต่อ ขอให้สักเสี้ยววินาที คิดถึงตอนที่คุณยังเด็ก ตอนที่คุณถูกโอบล้อมด้วยความรักและเอ็นดู แล้วคุณจะรู้ว่าคุณมีค่าอย่างมหาศาลในสายตาของใครหลาย ๆ คนค่ะ


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 


 สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8 

 

อ้างอิง : กรุงเทพมหานคร. (15 ธันวาคม 2565). ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แบ่งปัน 5 บทเรียนชีวิตที่ได้ จากการรักษาลูกชาย “มองโลกเปลี่ยนไป เข้าใจคนหูหนวกมากขึ้น”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2565 จาก https://www.facebook.com/100068944758423/posts/pfbid02gmFzh37nodmhD8VvisuGBiskA8XAL45m8P4DW7iq5TgV4UVPfBPmC6gZv4REoHunl/?sfnsn=mo&mibextid=VhDh1V

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์กับคนอ่าน


Comentarios


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page