top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เช็กด่วน! 5 สัญญาณที่บอกว่างานกำลังคุกคามชีวิตคุณจนกลายเป็น FOSO



ในทุกวันนี้ที่เทคโนโลยีและการสื่อสารแบบไร้สายสามารถทำให้เราสามารถพูดคุยกับใครก็ได้ ในทุกสถานที่ และทุกเวลา และแน่นอนค่ะว่า นำมาซึ่งภาวะงานคุกคามชีวิต ด้วยความสะดวกสบายทางการสื่อสารดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น จึงทำให้ต่อให้เราลาป่วย หรือลาพักร้อน เราก็จะลาแบบไม่เป็นสุข ต่อให้คุณมีสายน้ำเกลือเสียบอยู่ที่แขน คุณก็ต้องทำงานด้วยโน้ตบุ๊คเพื่อส่งงานให้ใครก็ตามที่สั่งงานมา หรือต่อให้คุณไปใช้ชีวิตบนเกาะห่างไกล หรือขึ้นดอยเพื่อตั้งแคมป์ คุณก็ต้องดั้นด้นค้นหาสัญญาณอินเตอร์เน็ต เพื่อส่งงานให้ได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องส่งก็ได้ เพราะเราลาแล้ว ลา ก็คือ ลา แต่ก็นั้นละค่ะ สำหรับหัวหน้างานบางคน ลา เท่ากับ สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้... ใช่หรือ?


ซึ่งภาวะงานคุกคามชีวิตเช่นนี้ ในทางจิตวิทยามีชื่อเรียกว่า FOSO หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า Fear Of Switching Off มีความหมายถึง ผู้ที่มีภาวะหวาดกลัว หรือวิตกกังวลว่าจะขาดการติดต่อสื่อสารจากโลกภายนอก เช่น สัญญาณอินเตอร์เน็ตหาย สัญญาณโทรศัพท์ไม่ดี เพราะมีความกังวลจนถึงกระวนกระวายว่าจะไม่สามารถส่งงานได้ หรือไม่ได้รับการอัปเดตความเคลื่อนไหวเรื่องงาน ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อต้องกลับไปทำงานตามปกติ


ทั้งนี้ FOSO ค่อนข้างคล้ายกับภาวะทางจิตวิทยาอีกภาวะหนึ่ง ที่เรียกว่า FOMO หรือชื่อเต็มคือ Fear Of Missing Out ซึ่งหมายถึงผู้ที่กลัวตกเทรนด์ กลัวไม่ทันสมัย กลัวไปไม่ได้อัปเดตข่าวสารบ้านเมือง กลัวตกข่าว จึงทำให้เสพติดการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ หรือเสพติดการใช้อินเตอร์เน็ต โดยมีข้อแต่งต่างกับ FOSO ตรงที่ FOSO จะมุ่งเป้าไปที่เรื่องงาน ต่อให้คุณป่วยหนักจนไปทำงานไม่ไหว ก็จะต้องคอยเปิดไลน์เพื่อดูความเคลื่อนไหวของที่ทำงาน หรือต่อให้ไปเที่ยวต่างประเทศ หรือกลับชนบทไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ก็ยังคงต้องตรวจสอบความเคลื่อนไหวเรื่องงานจนอยู่ไม่สุข หรือกล่าวง่าย ๆ ว่า งานคุกคามชีวิตส่วนตัวนั่นเอง


เมื่อเดือนกันยายน ปี 2023 นี่เอง ได้มีงานศึกษาทางจิตวิทยาของบริษัทที่ปรึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ชื่อ Priority Pass ได้ทำการศึกษาเรื่อง FOSO จากนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างมากถึง 73% ที่มีความกังวลมากหากไม่ได้เช็กข้อความ หรืออัปเดตเรื่องงาน แม้จะอยู่ในระหว่างท่องเที่ยวพักผ่อนก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาทางจิตวิทยาของบริษัทที่ปรึกษา ชื่อ Kepios ที่พบว่า ผู้คน 50% ทั่วโลกมีการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์และอินเตอร์เน็ตอย่างหนักหน่วง


โดยอย่างน้อยต้องใช้งานหนึ่งแพลตฟอร์มทุกวัน และ Kepios ยังพบอีกว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 73% มีความกังวลว่าจะพลาดข้อมูลสำคัญเรื่องงานในขณะที่มาท่องเที่ยว ผู้ตอบแบบสำรวจ 67% มีความเครียดสูงเมื่อปิดเครื่องมือสื่อสาร และ 59% รู้สึกกังวลใจหากไม่ได้นำเครื่องมือสื่อสารติดตัวไปไหนมาไหนด้วย และที่สำคัญที่สุด คือ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่ง (62%) มีอาการ FOSO อย่างชัดเจน


นอกจากนี้จากผลการศึกษาของ Priority Pass ยังพบอีกว่า ผู้ที่มีภาวะ FOSO มากที่สุด หรือถูกงานคุกคามชีวิตมากที่สุด อยู่ในช่วงอายุ 18 – 27 ปี เพราะโตขึ้นมากับเครื่องมือการสื่อสารและเทคโนโลยีการสื่อสารแบบออนไลน์ และคนที่รอดพ้นจากภาวะ FOSO ก็คือ รุ่นใหญ่ อายุ 59 – 77 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการติดต่อสื่อสารทางสังคมออนไลน์น้อยมาก ๆ นั่นเอง


จากข้อมูลข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า ภาวะ FOSO หรือสัญญาณที่บอกว่างานคุกคามชีวิตเราอยู่นั้น มีด้วยกัน 5 สัญญาณ ดังนี้


1. ขาดเครื่องมือการสื่อสารไม่ได้

ต่อให้ไปเที่ยวพักผ่อน หรือออกกำลังกาย แต่เครื่องมือสื่อสารทั้งโทรศัพท์มือถือ หรือโน้ตบุ๊คต้องพร้อมใช้งานเสมอ หากวันไหนลืมนำโทรศัพท์ติดตัวออกจากบ้าน วันนั้นจะกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข เที่ยวไม่สนุก เพราะใจจะพะวงกลัวว่างานจะเข้าแล้วไม่รู้เรื่องอยู่ตลอดเวลา


2. อินเตอร์เน็ตติดขัด แล้วหงุดหงิดหัวร้อน

เมื่องานเข้าในพื้นที่อับสัญญาณ ผู้ที่มีภาวะ FOSO จะหัวร้อนมากเป็นพิเศษ เพราะไม่สามารถส่งงานได้ หรือคุยงานไม่รู้เรื่อง ทำให้หงุดหงิด เครียด กังวล ปล่อยวางไม่ได้ เริ่มวีนเริ่มเหวี่ยงใส่คนรอบข้าง หรือนิ่งเงียบจนคนมาด้วยเที่ยวไม่สนุก และสุดท้ายก็ต้องรีบกลับที่พักเพื่อทำงานแบบหมดสนุก


3. เป็นกังวลทุกทีที่ได้ยินเสียงข้อความไลน์ หรือมีสายเข้า

ในวันหยุด วันพักผ่อน หรือวันที่คุณนอนป่วย แต่พอได้ยินเสียงข้อความไลน์ดังเป็นอันจะต้องหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเช็กทันที หรือเมื่อได้ยินเสียงโทรศัพท์เข้า สิ่งแรกที่คุณคิด คือ “งานแน่นอน” แสดงว่าคุณเริ่มเข้าข่ายมีภาวะ FOSO แล้วละค่ะ


4. ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หากงานเข้า ต้องทำงานก่อน

หากในระหว่างที่คุณขับรถเพื่อพาตัวคุณเอง หรือครอบครัวไปเที่ยวก็ตาม แล้วเกิดงานเข้า สิ่งที่ชาว FOSO ทำก็คือ จอดข้างทางเพื่อทำงานส่งโดยทันที หรือหากเป็นผู้โดยสารก็ต้องเปิดโน้ตบุ๊คขึ้นมาเพื่อทำงานส่ง นั่นเป็นสัญญาณว่า “งานคุกคามชีวิต” แล้วค่ะ


5. มีความรู้สึกเครียดและกดดันมากขณะทำงานในวันหยุด

อย่างไรก็ตาม ต่อให้คุณหยุดการเที่ยวเพื่อมาทำงานแล้ว แต่ขณะที่นั่งทำงานคุณจะมีความเครียดสูงมากและกดดัน เพราะเพื่อน หรือครอบครัวรอคุณไปเที่ยวอยู่ แล้วคุณก็จะกลายเป็นคนไฟลุก เพราะไฟในการทำงานลุกไหม้จนคุณหัวร้อน


เมื่อมาถึงตรงนี้ แล้วคุณพบว่าคุณกำลังเข้าข่ายอยู่ในภาวะ FOSO อย่างเพิ่งกังวลใจไป ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อแนะนำในการบรรเทาอาการ FOSO ไว้ดังนี้ค่ะ


1. ตั้งเวลาปลอดเครื่องมือสื่อสาร

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ก่อนถึงเวลานอนสัก 1 ชั่วโมง ขอให้เป็นช่วงเวลาแห่งการปลอดอินเตอร์เน็ตและเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด แล้วหันไปทำกิจกรรมเบา ๆ เช่น ฟังเพลงบรรเลง คุยกับคนในครอบครัว อ่านหนังสือ เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลายก่อนเข้านอน


2. ควบคุมการใช้งานอินเตอร์เน็ตและเข้าสื่อสังคมออนไลน์

หากงานคุกคามชีวิตคุณ จนคุณรู้สึกเกินจะรับ ขอแนะนำให้ตัดช่องทางที่งานจะเข้าถึงคุณได้ โดยควบคุมการใช้งานอินเตอร์เน็ตและเข้าสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงวันหยุด เช่น จากใช้งานตลอดเวลา มาใช้เพียงวันละ 1 ชั่วโมงหลังอาหาร แล้วหันไปทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว หรือทำกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพจิตตนเองแทน


3. กำหนดกฎชัดเจนว่าแอปพลิเคชั่นไหนใช้เรื่องงาน และแอปพลิเคชั่นไหนใช้เรื่องส่วนตัว 

ข้อแนะนำต่อมา คือ แยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวชัดเจน ว่าเวลาไหนทำงาน เวลาไหนพักผ่อน แอปพลิเคชั่นไหนใช้เพื่อติดต่องาน และแอปพลิเคชั่นไหนใช้เพื่อคุยส่วนตัว เช่น กำหนดไว้เลยว่า ไลน์ และอีเมล ใช้สำหรับเรื่องงาน และเฟสบุ๊ค ใช้สำหรับพูดคุยกับเพื่อนกหรือครอบครัวเท่านั้น อย่านำมาปนกัน เพราะไม่เช่นคุณจะกังวลไปทุกช่องทางการสื่อสาร


4. เวลาพัก คือ เวลาพัก

และกฎเหล็กสำคัญที่จะทำให้งานไม่คุกคามชีวิตเรา ก็คือ เวลาพักไม่ทำงาน และเวลางานก็ทำเต็มที่ เมื่อถึงเวลาพักไม่คุยเรื่องงาน ซึ่งคุณต้องใจแข็งหน่อยนะคะ อาจจะต้องบล็อกไลน์ หรือบล็อกเบอร์ที่เกี่ยวกับงานในวันหยุด เพื่อตัดช่องทางที่งานจะเข้ามาคุกคามเราได้ หากทำได้ ชีวิตจะสมดุลขึ้นมากเลยค่ะ


ปัญหางานคุกคามชีวิต เป็นปัญหาสากลของคนทำงานทั่วโลกเลยค่ะ เพราะทั้งไทย ญี่ปุ่น จีน หรือทางฝั่งยุโรปเองก็ประสบปัญหานี้กันอย่างมาก หากเราไม่รีบรักษาสมดุลชีวิต สุขภาพจิตของเราจะย่ำแย่ และสุขภาพกายของเราจะทรุดโทรม ซึ่งไม่คุ้มค่าเลยค่ะ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 


อ้างอิง : 1. siwaritemarketeer. (2566, 3 พฤศจิกายน). FOSO : กลัวไม่ได้อัปเดตงานทั้งที่ลาพัก ปัญหาใหญ่ยุค Work from Anywhere. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2566 จาก https://marketeeronline.co/archives/328758

2. กฤตพล สุธีภัทรกุล. (2566, 7 พฤศจิกายน). วันหยุดทั้งที แต่เช็กงานทั้งวัน อาจเป็น ‘FOSO’ อาการกังวลกลัวมีงานด่วน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2566 จากhttps://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1097435

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page