top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

4 วิธีเด็ดรับมือเมื่อลูกเห็นต่างทางการเมือง


จากการติดตามข่าวสารบ้านเมืองกับการติดตามความเคลื่อนไหวของเพื่อน ๆ นักจิตวิทยาหน้า Facebook ทำให้เห็นว่ามีความสอดคล้องกันหนึ่งเรื่องค่ะ คือ ความเห็นต่างทางการเมือง กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในครอบครัว อันที่จริงแล้วปัญหาความเห็นต่างทางการเมืองในครอบครัวของคนไทยเรา ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดนะคะ เพราะเป็นปัญหาที่มีมานานนับตั้งแต่บ้านเมืองเราเริ่มมีกีฬาสี แต่ความรุนแรงของปัญหาก็ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามกระแสการเมือง


ซึ่งในช่วงนี้ต้องเรียกได้ว่ามาแบบสงบ แต่ก็แอบแรง ไม่เบา ยิ่งครอบครัวไหนที่มีลูกกำลังอยู่ในวัยรุ่น ยิ่งจะเห็นความรุนแรงเด่นชัดค่ะ เพราะโดยปกติ แค่ฮอร์โมนของ พ่อ แม่ - ลูก สวนทางกันก็สร้างปัญหาทางอารมณ์มากพออยู่แล้ว มาเจอความเห็นต่าง ทางการเมืองเข้าไปอีก พังสิจ๊ะรออะไร ดิฉันได้เห็นถึงความหนักอกหนักใจของคุณผู้อ่านที่กำลังเผชิญกับปัญหาความเห็นต่างทางการเมืองในครอบครัว จึงขอนำเสนอ 4 วิธีเด็ดรับมือเมื่อลูกเห็นต่าง ทางการเมือง ตามคำแนะนำของนักจิตวิทยามาฝากกันค่ะ


1. เปิดใจให้กว้าง


เมื่อต้องพูดคุยกับลูก หรือคนในครอบครัวที่มีความเห็นต่างทางการเมือง นักจิตวิทยาแนะนำว่า สิ่งที่ควรปิด คือ “ปาก” สิ่งที่ควรเปิด คือ “หู ตา และใจ” ค่ะ เพราะหากเราต่างคนต่างพูด ตามความคิดเห็นของเรา ในบ้านก็จะดังไปด้วยเสียงทะเลาะ และจบลงที่ครอบครัวร้าวฉาน


ดังนั้น การพูดคุยกับคนที่เห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะคนในบ้านด้วยแล้ว สิ่งที่ต้องทำ คือ พูดเรื่องการเมืองให้น้อย (โดยเฉพาะฝั่งที่ตัวเองชอบ) และเปิดใจรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากลูก เพราะเมื่อเราฟังอย่างรอบด้าน หาข้อมูลที่เป็นกลาง อาจทำให้เราเห็นมุมมองที่แตกต่างของอีกฝ่าย ได้รับฟังเหตุผลของลูก เราก็จะอยู่กันด้วยความเข้าใจค่ะ


2. ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์


การมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเกลียดกัน ยิ่งเป็นลูกด้วยแล้ว ต่อให้อยู่คนละขั้วการเมือง เราก็ตัดเขาออกไปจากชีวิตเราไม่ได้ค่ะ


ดังนั้น หากเกิด การปะทะกันทางความคิดขึ้นมา นักจิตวิทยาขอแนะนำว่า ให้ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์นะคะ ไม่ใช้คำพูดส่อเสียดอีกฝ่าย ไม่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองของอีกฝ่ายอย่างรุนแรง ไม่ใส่สีตีไข่สาดโคลนอีกฝ่าย เพราะเมื่อเราตอบโต้ความเห็นต่างทางการเมืองของลูกด้วยอารมณ์ เราก็จะได้การโต้ตอบกลับจากลูกที่ไม่ต่างกันเลยค่ะ โปรดระลึกไว้ว่า “อยากได้อะไรต้องให้เข้าก่อน” อยากให้ลูกเป็นลูกที่ดีของเรา เราก็ต้องเป็นพ่อ แม่ ที่ดีให้กับลูกนะคะ

3. อย่าตัดสินลูกจากความเห็นทางการเมือง


ความคิดเห็นทางการเมือง ก็เหมือนความนิยมในประเภทของละคร กีฬา ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และมันไม่ใช่ตัวตนทั้งหมดของเราค่ะ เพราะฉะนั้นแล้ว การที่ลูกมีความเห็นที่แตกต่าง ทางการเมือง ได้โปรดอย่าเหมารวมว่าลูกมีความคิดเหมือนแกนนำฝ่ายการเมืองที่เราไม่ชอบ อย่าตีตราว่าลูกจะทำอะไรที่รุนแรง เพราะต่อให้ลูกจะเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน คือ เขาเป็นลูกเราค่ะ เรามีสิทธิ ไม่ชอบฝ่ายการเมืองที่ลูกนิยมได้ ลูกเองก็มีสิทธิไม่เห็นด้วยทางการเมืองกับเรา เพราะฉะนั้นอย่านำ ความคิดเห็นทางการเมืองมาตัดสินคุณค่าของคนในครอบครัวของเรา หรือใครก็ตามที่มีความเห็นต่าง ทางการเมืองจากเราเลยค่ะ


4. เคารพในความคิดเห็นของลูก


เมื่อลูกมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเห็นไปทางเดียวกับเรา หรือมีความเห็นแตกต่างทางการเมืองกับเรา ขอให้ดีใจเถอะค่ะว่าลูก ๆ ของคุณผู้อ่านมีความเป็นประชาธิปไตย เคารพในสิทธิของตัวเอง และเราเองก็ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกโดยการเคารพสิทธิของลูก เพราะลูก มีสิทธิที่จะคิด มีสิทธิที่จะแสดความคิดเห็น หน้าที่ในการเป็นพ่อแม่แบบประชาธิปไตยของเราไม่ใช่การชี้นำเรื่องการเมืองให้กับลูก แต่เป็นการแนะนำให้ลูกเคารพสิทธิตัวเองไปพร้อมกับ ๆ การเคารพสิทธิผู้อื่นค่ะ


เรื่องการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันกระทบไปถึงความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต เศรษฐกิจ รวมไปถึงความอบอุ่นในครอบครัวด้วยค่ะ เพราะฉะนั้นการหาวิธีที่จะอยู่กันด้วยความแตกต่างจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อรักษาครอบครัวให้เป็นครอบครัวค่ะ

สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page