top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

Fake news มากแค่ไหนก็ไม่หวั่น ถ้าหมั่นฝึก Critical Thinking Skills





ในยุคที่โลกออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลกับผู้คนยิ่งกว่าโลกแห่งความเป็นจริงแบบนี้ทำให้ผู้คนโดยมากใช้เวลาของชีวิตส่วนใหญ่ไปกับสังคมออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่าในโลกออนไลน์นั้นเต็มไปด้วยข้อมูลจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาทั้งที่เลือกเสพและถูกป้อนโดยอัลกอรึทึมของแอปพลิเคชันออนไลน์และแน่นอนว่าข้อมูลที่ถูกคัดสรรโดยอัลกอริทึมนั้นย่อมไม่ได้คัดสรรข้อมูลที่เป็นความจริง (fact) เสมอไป แต่จะเลือกป้อนข้อมูลที่เรานิยม


ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นแฟนคลับของนักกีฬาทีมเอ เราก็มักจะเลือกดูสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทีมเอบ่อย ๆทำให้อัลกอรึทึมคัดแต่ข้อมูลดี ๆ ของทีมเอมาให้เรา แต่จะไม่ค่อยนำข้อมูลของทีมบีซึ่งเป็นคู่แข่งของทีมเอเข้ามาให้เราเห็น หรือหากจะป้อนข้อมูลเกี่ยวกับทีมบีมาให้ก็มักจะเป็นข้อมูลด้านลบของทีมบี โดยที่ข้อมูลต่าง ๆ นั้นจะมี fake news หรือ fake information เข้ามาด้วย ถ้าหากเราเชื่อ fake news ว่าเป็นความจริงโดยทันทีอย่างไม่กลั่นกรอง ก็จะทำให้เรามองปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสังคมอย่างมีอคติ ดังนั้น การจะรับมือกับ fake news ทั้งหลาย จึงจำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการกลั่นกรองข้อมูล โดยหนึ่งในนั้นก็คือทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking skills)

Critical Thinking Skills มีนิยามที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า เป็นความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นกลางและตัดสินข้อมูลดังกล่าวโดยใช้เหตุผล มีการประเมินแหล่งที่มาของข้อมูล ความสอดคล้องกับความเป็นจริงของข้อมูล รวมถึงมีหลักฐานเชิงประจักษ์หรือมีการศึกษาวิจัยรับรองว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริง จำแนกแยกแยะข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น หรือข่าวลือ ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อว่าข้อมูลที่เข้ามานั้นน่าเชื่อถือหรือควรที่จะเชื่อถือมัน เพื่อให้ตนเองสามารถรับข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถเอาข้อมูลที่ถูกต้องนั้นไปสื่อสารต่อ ซึ่งจะเป็นการนำข้อเท็จจริงไปสื่อสาร ไม่ใช่แพร่กระจาย fake news ออกไปโดยไม่กลั่นกรอง


สำหรับสิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ (Key Components) ของ Critical Thinking skills นั้น ข้อมูลจาก The Pennsylvania Child Welfare Resource Center ได้กล่าวไว้ ดังนี้


1. กระบวนการคิด

ซึ่งกระบวนการคิดที่ดีจะต้องไม่เป็นการคิดที่กระโดดไปยังข้อสรุปโดยทันที แต่จะต้องค่อย ๆ คิดวิเคราะห์ไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ถูกต้อง และระมัดระวังในการคัดเลือกแหล่งข้อมูลว่าแหล่งไหนที่น่าเชื่อถือ


2. พึงระวังความเชื่อของตนเอง

สิ่งที่เราให้คุณค่าเป็นพิเศษ อคติ รวมไปถึงประสบการณ์ส่วนตัว โดยคนที่มี Critical Thinking skills มักจะตระหนักรู้ในตนเอง (self-aware) วิจารณ์ตนเอง (self-critical) และรับรู้ว่าความเชื่อส่วนบุคคล คุณค่า ประสบการณ์ของตนเองนั้นมีบทบาทต่อการคิดการตัดสินใจของตน


ดังนั้น คนที่มี Critical Thinking Skills อาจจะเชื่อในความรู้สึกและสัญชาตญาณของตนเอง แต่ก็เข้าใจดีว่าสิ่งเหล่านั้นมันไม่ใช่ข้อเท็จจริง


3. ท้าทายกับสมมุติฐานต่าง ๆ

ตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ เพื่อเปิดมุมมองใหม่ ๆ ในหัวข้อที่นำมาเป็นประเด็นการคิด


4. พิจารณาข้อโต้แย้งต่าง ๆ

ไม่รับข้อมูลเพียงด้านเดียว แต่พิจารณาจากข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีหลักฐานพิสูจน์ได้ โดยมีความเข้าใจว่าข้อมูลที่มีคนเชื่อเป็นจำนวนมากนั้นอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป กล่าวคือ แม้จะมีคนเชื่อตาม ๆ กันเป็นจำนวนมากก็ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลนั้นจะเป็นข้อเท็จจริง


5. พิจารณาทางเลือก

คนที่มี Critical thinking skills จะมีลักษณะที่เปิดรับความคิดเห็นของคนอื่น แม้ว่ามันจะเป็นความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากความคิดเห็นของตนเอง มีการนำความคิดหลาย ๆ ด้านมาวิเคราะห์หาความเป็นจริงก่อนที่จะเชื่อ


6. พิจารณาถึงบริบทของแต่ละสังคม

โดยมองว่าข้อมูลต่าง ๆ นั้นย่อมแปรผันไปตามมุมมองของบุคคลที่มีแตกต่างกัน เช่น อาศัยอยู่ในวัฒนธรรมที่ต่างกัน อยู่ในช่วงวัยที่ต่างกัน เชื่อชาติต่างกัน รวมไปถึงมุมมองมาจากเพศที่ต่างกัน ก็ส่งผลให้แต่ละคนมีประสบการณ์ที่ต่างกัน ดังนั้น ข้อมูลที่ได้รับก็อาจจะถูกสร้างมาจากชุดความคิดความเชื่อที่ต่างกัน ความจริงของบริบททางสังคมหนึ่งอาจไม่เป็นความจริงของบริบททางสังคมอีกสังคมหนึ่ง


7. รู้แหล่งที่มาของข้อมูล

คนที่มี Critical thinking skills จะไม่เชื่อว่าข้อมูลที่ได้รับเป็นความจริงโดยที่ไม่รู้ว่าข้อมูลนั้นมีแหล่งที่มาอย่างไร และแหล่งที่มานั้นเชื่อถือได้จริงหรือไม่ รวมไปถึงสามารถแยกแยะได้ว่าต้นทางของข้อมูลนั้นผลิตข้อมูลออกมาอย่างมีอคติหรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์บางอย่างอยู่หรือไม่ เพราะในบางครั้ง ข้อมูลก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง และมันก็มักจะเป็นข้อมูลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง


8. สงสัยไว้ก่อน

ไม่ละเลยที่จะตั้งคำถามต่อข้อมูลที่ได้รับ รวมถึงตั้งคำถามกับตัวเองว่ามีการเข้าใจผิดอะไรไปหรือไม่ โดยมองความคิดของตัวเองเหมือนกับตัวเองกำลังเป็นผู้อื่นที่ตั้งคำถามต่อความคิดนั้น ๆ


แม้ว่าองค์ประกอบที่สำคัญของ Critical thinking skills จะดูเหมือนการเป็นคนขี้สงสัย ไม่ไว้วางใจอะไรง่าย ๆ แต่ถึงอย่างไร การที่เราตั้งข้อสงสัยเอาไว้ก่อน มันก็ยังดีกว่าที่เราจะเชื่ออะไรไปโดยไม่ตรวจสอบว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาสู่สายตาเราในแต่ละวันเป็นความจริงหรือไม่ เพราะ fake news นั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เราได้รับข้อมูลที่ผิด แต่การเชื่อว่าข้อมูลที่ผิดนั้นเป็นความจริง มันจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างบุคคลตั้งแต่ระดับเล็ก ๆ อย่างในครอบครัว ที่ทำงาน จนถึงระดับใหญ่โตอย่างความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อทางสังคม ที่สามารถพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงจนถึงขั้นเป็นสงครามกลางเมืองได้เลย


ดังนั้น หากคุณไม่อยากตกเป็นเหยื่อของคนที่สร้าง fake news ขึ้นมาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มก้อนของตนเองแล้วล่ะก็ คุณจำเป็นต้องหมั่นฝึกให้ตัวเองมี Critical thinking skills ซึ่งสามารถประยุกต์จากองค์ประกอบทั้ง 8 อย่างข้างต้นได้ ดังนี้


- ตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลว่ามีความน่าเชื่อถือและเป็นกลางแค่ไหน


- ตรวจสอบความคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง ที่อาจมีผลให้ตัวเราตัดสินใจเชื่อข้อมูลที่ได้รับมาอย่างมีอคติ


- ตรวจสอบหาหลักฐานที่จะมายืนยันว่าข้อมูลนั้นเป็นจริง หรือหลักฐานที่จะมาโต้แย้งว่าข้อมูลนั้นไม่เป็นจริง แล้วเอามาชั่งน้ำหนักว่าหลักฐานฝั่งไหนมีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือและมีจำนวนมากกว่า


ทั้งนี้ สำหรับชาวพุทธก็สามารถใช้หลักที่เรียกว่า “กาลามสูตร” เพื่อฝึก Critical thinking skills ก็ได้นะคะ โดยรายละเอียดของกาลามสูตรก็สามารถค้นคว้าได้จากอินเทอร์เน็ต และคุณก็อาจจะฝึก Critical thinking skill จากการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับกาลามสูตรได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการฝึกซ้อนฝึกกันเลยทีเดียว


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

 

ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาจิตวิทยา และระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตำแหน่ง นักจิตวิทยา และเป็นนักเขียนบทความของ iStrong



Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page