top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ทำความรู้จักภาวะออทิสติกสเปคตรัม ผ่าน Extraordinary Attorney Woo


Extraordinary Attorney Woo คือ อีกหนึ่งซีรี่ย์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากใน Netflix ด้วยตัวบทที่น่าสนใจ ด้วยการแสดงของนักแสดงนำที่น่าชื่นชม โดยเฉพาะ พัค อึน-บิน (Park Eun-bin) ผู้รับบท “อูยองอู” ทนายความคนแรกของเกาหลีใต้ที่มีภาวะออทิสติกสเปคตรัม (Autism Spectrum Disorder) ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้จะขอพาคุณมาทำความรู้จักกับภาวะออทิสติกสเปคตรัม เพื่อให้อินกับการดู Extraordinary Attorney Woo มากยิ่งขึ้น และเพื่อให้เกิดความเข้าใจกับผู้ที่มีภาวะออทิสติกสเปคตรัมในครอบครัว ในที่ทำงาน หรือในสังคมค่ะ


ภาวะออทิสติกสเปคตรัม (Autism Spectrum Disorder) คืออะไร?

ภาวะออทิสติกสเปคตรัม หรือศัพท์ทางจิตวิทยาใช้คำว่า Autism Spectrum Disorder ตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชฉบับ DSM – 5 (Diagnostic and Statistical Manual of Mental disorders fifth edition) ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ซึ่งได้นำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชในระดับสากลตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 แต่ในประเทศไทยจะรู้จักกันในชื่อ “ออทิสติก” แต่ก็ยังไม่ได้เข้าใจดีนักว่าผู้ที่มีภาวะออทิสติก หรือออทิสติกสเปคตรัมเป็นอย่างไร


รู้ได้อย่างไรว่าเป็นภาวะออทิสติกสเปคตรัม?

เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคตามคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชฉบับ DSM – 5 พบว่า ออทิสติกสเปคตรัม มีอาการชัดเจน 2 อย่าง คือ (1) มีความบกพร่องอย่างชัดเจนในการสื่อสาร และการเข้าสังคม (social communication and social interaction) และ (2) มีแบบแผนพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัด มักจะทำเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ให้ความสนใจแต่เรื่องเดิม ๆ (restricted, repetitive patterns of behavior, interest or activities) โดยกำหนดหลักเกณฑ์การวินิจฉัย ดังนี้


1. มีความบกพร่องอย่างชัดเจนในการสื่อสาร และการเข้าสังคม ในหลากหลายสถานการณ์โดยแสดงออก ดังนี้

  1. บกพร่องในการตอบสนองทางอารมณ์และสังคม (social - emotional reciprocity) เช่น อูยองอู นางเอกของเรามักจะไม่ค่อยสบตาคู่สนทนา และแทบจะไม่เคยแสดงสีหน้าอารมณ์ หรือความรู้สึกออกมาเลย

  2. บกพร่องในการใช้ภาษาท่าทางเพื่อการสื่อสารทางสังคม จากในซีรี่ย์อูยองอูจะไม่เข้าใจภาษากายที่คนอื่นแสดงออก จนต้องใช้วิธีจดจำว่าท่าทางแบบใดใช้ในการแสดงอารมณ์ใด

  3. บกพร่องในการพัฒนา รักษา และเข้าใจในความสัมพันธ์ เนื่องจากความบกพร่องในการตอบสนองทางอารมณ์และสังคม จึงทำให้เป็นการยากที่ผู้ที่มีภาวะออทิสติกสเปคตรัมจะสามารถเข้าใจความรู้สึกของคนรอบข้าง และเป็นการยากมากที่เขาจะแสดงความรู้สึกให้คนรอบข้างได้รับรู้

2. มีแบบแผนพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัด มักจะทำเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ให้ความสนใจแต่เรื่องเดิม ๆ โดยแสดงออกอย่างน้อย 2 ข้อ ดังนี้

  1. มักโยกตัวไปมา (stereotyped) หรือมีการเคลื่อนไหว ใช้คำพูด หรือใช้วัตถุสิ่งของเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เช่น อูยองอู ในสมัยเด็กที่จะกระโดดซ้ำ ๆ พอโตมาหน่อยก็พูดตามคนอื่นซ้ำ ๆ ทานอาหารเดิม ๆ

  2. ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันได้ ในทุกวันตารางชีวิตของผู้ที่มีภาวะออทิสติกสเปคตรัมจะต้องเหมือนเดิม ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย เพราะการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็ก่อให้เกิดความเครียดมหาศาลต่อผู้ที่มีภาวะออทิสติกสเปคตรัมได้

  3. มีความสนใจที่จำกัดอยู่เฉพาะบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น เช่น นางเอกของเราที่สนใจใน “วาฬยักษ์” ที่ในซีรี่ย์ Extraordinary Attorney Woo ทำ CG ออกมาได้อย่างน่ารัก ซึ่งอูยองอูก็จำรายละเอียดของสัตว์ตัวโปรดของเธอได้ทุกอณู หรืออย่างตัวบทกฎหมายที่เธอชอง เธอก็ท่องมันออกมาประหนึ่งกินหนังสือเข้าไปเลยทีเดียว

  4. การรับสัมผัสไม่ปกติ เช่น รับรู้อุณหภูมิไวมาก หรือไม่รับรู้อะไรเลย หรือรับรู้การเปลี่ยนแปลงของผิวสัมผัสได้แม้จะเล็กน้อยก็ตาม เป็นต้น

3. มักแสดงออกอย่างชัดเจนตั้งแต่อายุ 18 เดือนเป็นต้นไป


4. อาการส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิต การเข้าสังคม และการประกอบอาชีพ


5. ไม่สามารถอธิบายจากความบกพร่องทางสติปัญญา (intellectual disability) หรือความล่าช้าทางพัฒนาการทุกด้าน (global developmental delay) เพราะที่มีภาวะออทิสติกสเปคตรัมหลายคนที่มีความอัจฉริยะ ดังเช่นอูยองอู จากซีรี่ย์ Extraordinary Attorney Woo และหลายคนมีพัฒนาการทางร่างกายปกติ


การใช้ชีวิตของผู้ที่มีภาวะออทิสติกสเปคตรัม

ผู้ที่มีภาวะออทิสติกสเปคตรัมสามารถใช้ชีวิตได้ เพราะเขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ดูแลตนเองได้ และหลาย ๆ คนสามารถทำงานได้อย่างดีมากด้วย ดังเช่น Tony DeBlois อัจฉริยะด้านดนตรี ที่ถึงแม้จะมีความพิการทางสายตาและมีภาวะออทิสติกสเปคตรัม แต่เพียงแค่เขาได้ยินเสียงเพลงเพียงครั้งเดียว ก็สามารถเล่นตามได้แล้ว หรือ Alonzo Clemons อัจฉริยะยอดนักปั้นดินเหนียว ที่เพียงมองเห็นสัตว์ต่าง ๆ ก็สามารถจดจำและนำมาปั้นขึ้นรูป 3 มิติ ได้อย่างสวยงามและได้สัดส่วนที่เหมาะสม หรือ Stephen Wiltshire อัจฉริยะยอดนักวาดภาพ ที่สามารถสเก็ตแบบเมืองออกมาได้ราวกับภาพถ่าย แต่พวกเขาเหล่านี้ก็มีความยากลำบากในการอยู่ในสังคมอันเนื่องมาจากความบกพร่องหลักที่เขามี คือ ความบกพร่องในการสื่อสาร และการเข้าสังคม รวมถึงความบกพร่องด้านพฤติกรรมและความสนใจ ทำให้เป็นอุปสรรคในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในสังคม โดยเฉพาะในที่ทำงาน ดังนั้น นักจิตวิทยาจึงขอเน้นย้ำว่า ต้องอาศัยความเข้าใจและความใจดีของเพื่อนร่วมงานในการอยู่ร่วมกันพอสมควร พวกเขาจึงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เนื่องจาก ผู้ที่มีภาวะออทิสติกสเปคตรัมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นสูง บางคนไม่ชอบแสงจ้า บางคนไม่ชอบเสียงดัง จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องสร้างความเข้าใจให้แก่สังคมในที่ทำงาน เพื่อลดความเครียด และสร้างความสุขในการอยู่ร่วมกันค่ะ


สุดท้ายนี้ขอฝากประโยคเด่นจากภาพยนตร์ดัง Forrrest gump ที่ว่า “ฉันอาจจะไม่ฉลาดมากนัก แต่ฉันรู้ว่าความรักคืออะไร” ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นภาพยนตร์ขึ้นหิ้งของทอม แฮงค์ ที่ว่าด้วยการเรียนรู้ชีวิตของชายหนุ่มที่มีภาวะออทิสติกสเปคตรัม โดยประโยคดังกล่าวได้สะท้อนว่า ถึงแม้พวกเขาจะแสดงอารมณ์ไม่เก่ง แต่พวกเขาก็มีความรู้สึก และมีคุณค่าในตัวของเขาเองค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : American Psychiatric Association, Neurodevelopmental Disorders. In: American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed. (DSM-5). Washington DC: American Psychiatric Publishing; pp. 31-86.

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปโดนใจคนอ่าน


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page