Existential Crisis เมื่อชีวิตมาถึงจุดที่ได้แต่ถามตัวเองว่า “เกิดมาทำไม?” ควรจะไปยังต่อ
หลายคนอาจจะเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า “Midlife Crisis” หรือ “Quarter-life Crisis” ซึ่งเป็นวิกฤตที่มักจะเกิดกับชีวิตโดยสัมพันธ์กับช่วงวัย แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤตในชีวิตของมนุษย์ไม่ได้มีเพียงสองแบบเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายวิกฤตที่มนุษย์แต่ละคนอาจจะต้องเผชิญมากน้อยแตกต่างกันไป หนึ่งในนั้นก็คือ Existential Crisis
ซึ่งเป็นวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับความหมายของการมีชีวิตอยู่ ภาพสะท้อนที่ง่ายที่สุดของการเกิดวิกฤตนี้ก็คือ การที่บุคคลเริ่มมีคำถามอย่างเข้มข้นกับตัวเองว่า “ฉันเกิดมาทำไม?” “ชีวิตคืออะไร?” “ฉันมาทำอะไรที่นี่(โลกใบนี้)” แล้วก็มักจะไม่มีคำตอบให้กับตัวเอง ตรงข้าม กลับยิ่งทำให้เกิดคำถามเพิ่มขึ้นมากมาย นำไปสู่ความรู้สึกล่องลอยเคว้งคว้าง และหลายคนมักลงเอยที่ความรู้สึกหดหู่กับชีวิตของตัวเอง
ซึ่งคำว่า “Existential” ที่ว่านี้มาจากคำในปรัชญาแบบอัตถิภาวนิยม (existentialism) ซึ่งเป็นปรัชญาที่มีมุมมองต่อมนุษย์ว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกและมนุษย์กำหนดชีวิตของตนเอง มนุษย์มีความปรารถนา และไม่มีอะไรที่กำหนดชีวิตของมนุษย์ไม่ว่าจะชะตาฟ้าลิขิตหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน ทุกสิ่งที่มนุษย์กระทำล้วนมาจากการตัดสินใจเลือกของตัวเองว่าจะกระทำสิ่งนั้น
หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่อง “ความหมายของชีวิต” ที่ผู้เขียนตีความว่า หากมนุษย์เกิดมาพร้อมกับความว่างเปล่าที่สามารถถูกเติมเต็มได้ด้วยความหมายของชีวิต หากเป็นเช่นนั้น มนุษย์ที่ไม่อาจบอกตัวเองได้ว่าความหมายของชีวิตของตัวเองคืออะไรก็อาจจะรู้สึกว่างเปล่าอยู่ภายในจิตใจ และไม่อาจตอบคำถามของตัวเองได้ว่า “เกิดมาทำไม?” นำไปสู่สภาวะ Existential Crisis
แม้ว่า Existential Crisis จะค่อนข้างดูไปในทางปรัชญา แต่ในทางจิตวิทยาก็มีการอธิบายสภาวะ Existential Crisis เอาไว้ด้วยเช่นกัน โดยจากบทความบนเว็บไซต์ PsychCentral ระบุว่า Existential Crisis อาจสัมพันธ์กับอาการของโรคจิตเวชได้อยู่เหมือนกัน โดยโรคทางจิตวิทยาที่อาจส่งผลให้เกิดสภาวะ Existential Crisis ได้แก่
โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder)
โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder)
โรคซึมเศร้า (Depression)
โรควิตกกังวล (Anxiety)
อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ไม่ได้มีป่วยทางจิตเวชก็มีโอกาสเกิดสภาวะ Existential Crisis ได้เช่นกัน และสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดช่วงอายุ กล่าวง่าย ๆ ก็คือถ้ามันจะเกิดก็เกิดโดยไม่เลือกว่าคุณป่วยจิตเวชหรือไม่ และไม่ได้เกี่ยวกับการมีอายุที่มากขึ้น เพราะไม่ว่าคุณจะมีอายุ 20 30 หรือ 40 ปี คุณก็อาจจะมีสภาวะ Existential Crisis ได้เหมือนกัน นอกจากนั้น ในหนึ่งคนอาจจะเกิด Existential Crisis ได้หลายครั้ง
สัญญาณของสภาวะ Existential Crisis
รู้สึกวิตกกังวลเพิ่มขึ้นสูงมาก ในบางรายอาจมี panic attacks เกิดขึ้น
หงุดหงิดหรือลังเลสงสัยอยู่เกือบตลอดเวลา
มีอาการเหมือนกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า
รู้สึกกลัวขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล
รู้สึกว้าเหว่และว่างเปล่า
ขาดแรงจูงใจในการทำงานหรือการดูแลพัฒนาตนเอง
มองตัวเองไปในทางลบ ไม่รู้ว่าตัวเองมีคุณค่าอะไรหรือมีคุณค่าจริงไหม
มีปัญหาความสัมพันธ์แบบเรื้อรังหรือมีความสงสัยในความสัมพันธ์กับผู้อื่น
รู้สึกเศร้าโศก
มีความคิดอยากตาย
ทำยังไงเมื่อมี Existential Crisis เกิดขึ้น
วิธีการรับมือกับตัวเองเมื่อมี Existential Crisis เกิดขึ้นมีหลายวิธีที่หลายเว็บไซต์แนะนำซึ่งอาจจะมีทั้งเหมือนและต่างกันไปแล้วแต่มุมมองของผู้แนะนำ ยกตัวอย่างเช่น
การเขียนบันทึกความคิดของตัวเอง โดยอาจจะเริ่มต้นจากการระบุความรู้สึกหรือสิ่งที่ทำให้เป็นกังวล จากนั้นถามตัวเองต่อไปว่าความกังวลนี้มันกำลังบอกอะไร ความกังวลมันยึดโยงคุณไว้กับอะไรหรือไม่ แล้วอ่านทุกสิ่งที่คุณเขียนขึ้นมาเพื่อมองหาคำตอบจากมัน
ขอความช่วยเหลือจากใครสักคน คุยกับคนที่คุณรักหรือรู้สึกไว้วางใจว่าคุณมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น การเล่าหรือระบายออกไปจะช่วยให้คุณได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับคนอื่น ซึ่งคุณอาจจะได้รับเสียงสะท้อนว่าที่จริงแล้วคุณมีความหมายกับพวกเขายังไงบ้าง รวมถึงคุณอาจจะได้ยินสิ่งดี ๆ เกี่ยวกับตัวเองจากปากของพวกเขาด้วย
ลองฝึกสมาธิ (Meditation) การฝึกสมาธิสามารถช่วยลดความคิดทางลบได้ และยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกกังวลหรือย้ำคิดอยู่กับสิ่งที่คาดเดาไม่ได้จนทำให้เกิดสภาวะ Existential Crisis ขึ้นมา
ทำจิตบำบัด นักจิตบำบัดจะช่วยคุณในการฝึกฝนวิธีรับมือกับความวิตกกังวลที่เกี่ยวข้องกับการมีชีวิตอยู่ เช่น กังวลที่จะต้องใช้ชีวิตต่อไปอีกยาวไกลแต่ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปเพื่ออะไร ยังไม่พบคำตอบว่าอะไรคือสิ่งที่ตั้งใจอยากจะทำในชีวิตนี้ ซึ่งนักจิตบำบัดแต่ละคนจะมีความชำนาญแตกต่างกันไปและความถนัดของนักจิตบำบัดจะส่งผลต่อรูปแบบการบำบัดด้วย เนื่องจากเทคนิคและวิธีการของจิตบำบัดแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแนวคิดพื้นฐานทางทฤษฎีของจิตบำบัดประเภทดังกล่าว เช่น Cognitive Behavioral Therapy (CBT) นักจิตบำบัดจะเอื้อให้คุณได้สำรวจความคิดและพฤติกรรมของตนเองเพื่อให้เกิดทักษะและมีประสบการณ์ในการจัดการกับอารมณ์ที่เป็นผลจากความคิด
รับการรักษาด้วยยา หากคุณมีความประสงค์ที่จะใช้ยาเพื่อรักษาอาการที่เกิดขึ้น คุณควรปรึกษาจิตแพทย์เป็นอันดับแรก ไม่ควรขอยาจากคนอื่นมาทดลองรับประทานด้วยตนเอง เพราะแม้ว่าอาการของเขาและคุณจะใกล้เคียงกัน แต่คุณจะไม่ได้รับยาที่ถูกต้องซึ่งมันอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ทำให้คุณมีอาการแย่ลงหรือมีอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ เช่น แพ้ยา
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
[1] What’s an Existential Crisis and How Can I Overcome It? https://psychcentral.com/lib/existential-crisis-and-dread
[2] Existential Crisis: What It Is and How to Cope https://www.verywellmind.com/coping-with-existential-anxiety-4163485
[3] ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยมกับแนวคิดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย* https://so06.tci-thaijo.org/index.php/dhammathas/article/download/117295/164911/842042
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ ISTRONG
Commentaires