top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

4 วิธีปลูกฝังความเท่าเทียม หยุดการ bullying ในวัยเด็ก

"เด็ก ม.1 ยิงเพื่อนดับเพราะถูก bullying"

"เด็ก ป.5 ผูกคอตัวเองเพื่อหนีจากการถูก bullying"

จากพาดหัวข่าวใหญ่ 2 ข่าวที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน จะสามารถเห็นได้ว่าสาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็คือ การที่เด็กคนหนึ่งถูก bullying เพียงเพราะเขามีบางอย่างแตกต่างจากเพื่อน ซึ่งการที่เด็กถูก bullying ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใดเลยค่ะ เพราะการแกล้งกันมีมานานและไม่ได้เป็นแค่เฉพาะวัยเด็กเสียด้วยสิ ยังสามารถพบได้ทั่วไปแม้แต่ที่ทำงาน หรือในครอบครัว ทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่า การ bullying เป็นเรื่องปกติธรรมดา และไม่ได้ตระหนักว่านี่คือระเบิดเวลาที่รอวันทำร้ายชีวิตของเด็กคนหนึ่ง หรือของคนหลาย ๆ คนได้เลยทีเดียว


นอกจากนี้ จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตได้บอกไว้ว่า ประเทศไทยมีจำนวนเด็กที่ถูก bullying สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่นเลยค่ะ และจากข้อแนะนำของตำราทางจิตวิทยา รวมถึงอาชญาวิทยา ก็จะเห็นว่าผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อแนะนำมาว่า “วิธีการหยุด bullying ที่ได้ผลต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก” ดังนั้น ในบทความจิตวิทยานี้ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมวิธีหยุดการ bullying ด้วยการปลูกฝังความเท่าเทียมให้กับเด็ก ๆ 4 วิธีด้วยกันค่ะ



1.สร้างความเข้าใจในความแตกต่าง

อย่างที่ได้บอกไว้ตอนต้นนะคะว่า สาเหตุที่เกิดการ bullying ส่วนใหญ่มาจาก “ความแตกต่าง” ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นสีผิว ลักษณะเส้นผม รูปฟัน บุคลิก สัญชาติ ศาสนา ฐานะทางบ้าน เอาเป็นว่าอะไรที่ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ หรือไม่เป็นไปตามค่านิยมของสังคม คน ๆ นั้นก็เสี่ยงต่อการถูก bullying อย่างมากเลยค่ะ ดังนั้น การปลูกความเท่าเทียมให้แก่เด็ก ๆ ด้วยการสอนให้เข้าใจว่า “ความแตกต่าง” เป็นเรื่องปกติ และ “ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ” เพราะคนทุกคนไม่มีใครที่เหมือนกัน ต่อให้เป็นแฝดกัน ยังมีบางอย่างที่ไม่เหมือนกันเลยค่ะ การสอนให้เด็กเรียนรู้ที่อยู่ร่วมกับเพื่อนที่มีความแตกต่าง จะทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าเพื่อนแปลกแยกจากตัวเอง การ bullying ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะเด็กจะเข้าใจได้ว่า ทุกคนเท่ากัน ไม่มีใคร “ประหลาด” หรือ “แปลกแยก” ค่ะ




2.ปฏิบัติต่อเด็กอย่างเท่าเทียม

อีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการ bullying ก็คือ “การทำให้คน ๆ หนึ่งรู้สึกด้อยกว่าคนอื่น” แล้วใครกันละที่เริ่มทำให้เด็กบางคนรู้สึกด้อยกว่าความเป็นจริง ก็ผู้ใหญ่ยังไงละค่ะ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติผู้ใหญ่ทั้งหลาย รวมไปถึงคุณครูด้วยที่เป็นคนตั้งฉายาขำ ๆ (แต่เด็กไม่ขำด้วย) ให้กับเด็กคนหนึ่ง เช่น ตูดหมึก ลูกหมา อ้วน เหยิน ดำจังแก ซึ่งผู้ใหญ่อาจพูดด้วยความเอ็นดูหรือด้วยเจตนาอะไรก็ตาม แต่ทำให้เด็กหรือคนอื่น ๆ ที่ได้ยิน ก็จะเรียกฉายานั้นตามด้วยความรู้สึกสนุกสนาน โดยไม่ได้คิดถึงเลยว่ากำลังทำร้ายความรู้สึกของเด็กคนที่ถูก bullying ทำให้เด็กคนหนึ่งมีปมด้อย ขาดความมั่นใจ และความรู้สึกทางลบเหล่านี้ละค่ะที่ทำให้เด็กป่วยด้วยโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคทางอารมณ์ และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาสามารถให้ความช่วยเหลือ เพื่อตัดสาเหตุของปัญหาทั้งหมดได้ แต่ผู้ใหญ่ต้องปฏิบัติต่อเด็กด้วยความเท่าเทียมค่ะ เช่นการกำหนดกฎในบ้าน แล้วทุกคนต้องทำตาม หากมีการให้ของขวัญต้องให้ในมาตรฐานเดียวกันค่ะ เช่น ให้ของขวัญวันเกิด ให้เพราะเด็กช่วยงานบ้าน ให้เพราะเด็กทำตามที่ตกลงกันไว้ได้ เป็นต้น แล้วยิ่งบ้านไหนมีเด็กหลายคน ต้องระวังเรื่องความเท่าเทียมให้ดี เพราะเพียงแค่การตักข้าวให้เด็กไม่เท่ากัน ก็สร้างปมในใจให้เด็ก ๆ ได้แล้วค่ะ



3.เชื่อมั่นในตัวเด็ก และสนับสนุนให้เด็กเชื่อมั่นในตัวผู้อื่น

การแสดงความเชื่อมั่นในตัวเด็กโดยการให้โอกาสเด็กได้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง จะเป็นการลด bullying ได้ทางหนึ่งค่ะ เพราะการที่เขาได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ได้ลองผิดลองถูก ได้ทดลองแก้ปัญหาด้วยตัวเอง จะทำให้เขาเกิดความมั่นใจ และเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเอง ให้ความสำคัญกับความสามารถของตัวเอง และเมื่อเขาได้อยู่กับเพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆในสังคม เขาจะเลียนแบบวิธีการที่เราสอนเขา คือ เขาจะให้โอกาสคนอื่น และเชื่อว่าคนทุกคนสามารถเรียนรู้ที่จะฝึกฝนตัวเองได้ ดังนั้นแล้วต่อให้เขาถูก bullying เขาจะสามารถรับมือและหาทางเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นได้ และเชื่อมั่นได้เลยว่า คนที่ให้โอกาสคนอื่นจะไม่มีทาง bullying ใครค่ะ


4.แสดงความภาคภูมิใจในตัวเด็ก และสนับสนุนให้เด็กภูมิใจในตังเอง

วิธีการปลูกฝังความเท่าเทียมตามคำแนะนำของนักจิตวิทยาวิธีที่ 4 ก็คือ “การสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เด็ก” ค่ะ ซึ่งวิธีการไม่ยากเลยค่ะ เพียงแค่ผู้ใหญ่อย่างเราหมั่นแสดงความรัก ความภูมิใจให้เด็ก ๆ รับรู้ เช่น บอกว่าเด็กทำอะไรได้ดี ชื่นชมข้อดีของเด็ก กอด หอม หรือให้รางวัลเมื่อเด็กสามารถทำสิ่งที่ยาก ๆ ได้สำเร็จ หรือเพียงแค่คุณผู้อ่านรับฟังความคิดเห็นของเด็ก ๆ อย่างตั้งใจ ก็สามารถทำให้เด็ก ๆ ภูมิใจในตัวเองได้แล้วค่ะ และเมื่อเด็ก ๆ ภูมิใจในตัวเองแล้ว เขาจะมองโลกในแง่ดี มีกำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิต และแน่นอนว่าเขาจะมองคนอื่นในแง่ดี และมีความเชื่อมั่นว่าทุกคนมีข้อดี ดังนั้นเขาจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการ bullying และไม่เป็นคนทำร้ายคนอื่นแน่นอนค่ะ





การ bullying นอกจากจะทำให้เด็กที่เป็นเหยื่ออับอายแล้ว หากเกิดต่อเนื่อง และรุนแรง ก็ยังสามารถทำให้เด็กที่ถูกแกล้งมีแนวโน้มสูงที่จะป่วยด้วยโรคทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็น โรคซึมเศร้า โรคทางอารมณ์ โรคหลายบุคคลิกภาพ บุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม เป็นต้น ซึ่งจะสร้างปัญหามากมายให้กับทั้งตัวเด็กที่เป็นเหยื่อของการ bullying ครอบครัวของเด็ก และอาจเป็นภัยต่อชีวิตของคนแกล้งเองด้วยนะคะ ผู้เขียนจึงหวังว่า 4 วิธีที่ได้นำเสนอจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ bullying ลดน้อยลงไปได้ค่ะ


 

iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย


 

อ้างอิง : Thai PBS. 12 ตุลาคม 2561. เด็กไทยถูกแกล้งใน ร.ร.สูงสุด อันดับ 2 ของโลก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2562 จาก https://news.thaipbs.or.th/content/275069

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page