top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

พลังแห่ง RQ: Resilience Quotient แม้ถูกบีบจนยุบก็ไม่บุบสลาย



หลายคนอาจจะเคยทราบข้อมูลเกี่ยวกับ Q: Quotient กันมาบ้างแล้ว โดยในยุคหนึ่ง Q ที่ถูกพูดถึงกันมากจนใคร ๆ ก็รู้จักคือ IQ: Intelligence Quotient ที่มีความหมายถึงความฉลาดทางด้านสติปัญญา ซึ่งในยุคต่อมาก็มีคำว่า EQ: Emotional Quotient หรือความฉลาดทางอารมณ์ออกมาให้เป็นที่รู้จัก เนื่องจากการมีเพียงความฉลาดทางสติปัญญานั้นไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม แต่ในความจริงแล้วยังมีอีกหลาย Q ที่เป็นคุณลักษณะทางจิตวิทยาที่สำคัญ โดยในบทความนี้จะหยิบเอา RQ: Resilience Quotient มาแบ่งปันให้รู้จักกันค่ะ


คำว่า Resilience เป็นคำที่มาจากภาษาละตินคือคำว่า Resile มีความหมายในทำนองของการดีดหรือเด้งกลับ (jump back, bounce back, spring back) ถ้าหากจะพูดให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นก็อยากจะชวนให้คุณนึกถึงลูกบอลยางเวลาที่ไปบริจาคเลือดแล้วพยาบาลชอบเอามาให้บีบ เวลาที่คุณบีบลูกบอลมันก็จะบุบยุบตัวลง แต่พอคุณคลายมืออกมันก็จะเด้งกลับมาเป็นลูกบอลกลม ๆ เหมือนเดิม หากเปลี่ยนเป็นมนุษย์ มนุษย์คนไหนที่มี Resilience ก็จะมีคุณลักษณะแบบเดียวกับลูกบอลยางดังที่กล่าวมา ส่วนความหมายของ RQ: Resilience Quotient นั้นก็คือความฉลาดหรือมีเชาวน์ปัญญาในด้านการทนทานต่อแรงกดดันปัญหาต่าง ๆ นั่นเอง

แบบไหนถึงจะเรียกว่ามี RQ

RQ ก็เหมือน IQ และ EQ ที่เป็นความสามารถที่มีอยู่ในตัวเองของแต่ละคน ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนมีมันไม่เท่ากัน บางคนมีมาก บางคนมีน้อย บางคนก็มีน้อยจนเหมือนไม่มีเลย สำหรับคนที่มี RQ ปรากฏอย่างชัดเจนมักจะมี 3 พลังเด่น ดังนี้


1. พลังอึด

คนที่มี RQ ปรากฏชัดเจนหรือมีเยอะ จะมีลักษณะเป็นคนที่สามารถทนทานต่อความบีบคั้นกดดันได้ เวลาที่มีปัญหาชีวิตเข้ามาไม่ว่าจะหนักหนาเพียงใดก็สามารถอดทนและพาตัวเองให้ผ่านปัญหานั้นไปได้ในที่สุด โดยกรมสุขภาพจิตระบุว่า “พลังอึดเป็นพื้นฐานจิตใจที่สำคัญของคนมีพลังสุขภาพจิตที่ดี”


2. พลังฮึด

พลังฮึดอาจจะเรียกได้อีกอย่างว่า “มีกำลังใจ” ไม่ว่าจะเป็นกำลังใจจากคนอื่นหรือกำลังใจที่ตัวเองสร้างขึ้นมา ทำให้มีจิตใจที่มุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย แม้จะท้อแท้บ้างแต่ก็ไม่ท้อถอย บางครั้งก็อาจจะเจอกับความล้มเหลวแต่ก็ไม่ล้มเลิก ซึ่งคนที่จะมีพลังฮึดได้นั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่มีคนรอบข้างคอยให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา เวลาที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากหรือวิกฤต “ปัญหายิ่งยากยิ่งต้องอาศัยกำลังใจ” เพื่อให้เกิดพลังฮึดจนสามารถไปต่อสู้กับปัญหาและเอาชนะอุปสรรคจนไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้


3. พลังสู้

คนที่มีพลังสู้จะเป็นคนที่มีมุมมองทางบวกต่อปัญหา ไม่หนีปัญหา และมองว่าอุปสรรคปัญหาคือความท้าทาย จึงพยายามที่จะมองหาหนทางที่จะพาตัวเองออกจากปัญหาหรือวิกฤต มีการชั่งน้ำหนักว่าวิธีไหนเป็นวิธีที่ดี วิธีไหนเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่เหมาะสม และมักจะใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ รวมไปถึงกล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเมื่อตัวเองมีปัญหา เช่น ขอคำปรึกษาในกรณีที่ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้


ทำยังไงถึงจะเป็นคนที่มี RQ


หากคุณเป็นคนที่มี RQ อยู่แล้วก็คงจะนึกภาพตามได้ไม่ยากและไม่ต้องพยายามอะไรมากก็สามารถฝ่าฟันปัญหาหรือวิกฤตไปได้ แม้ในเรื่องที่คนอื่นมองว่าเป็นเรื่องยากจะผ่านไปได้แต่คนที่มี RQ จะสามารถหาหนทางให้กับตัวเองจนได้ เช่น ล้มละลาย หย่าร้าง ท้องไม่พร้อม สอบตก อกหัก หรือเผชิญกับภัยพิบัติที่ทำให้ต้องสูญเสียอะไรไปหลายอย่าง แต่สำหรับคนที่มี RQ น้อยก็ไม่ต้องตกใจค่ะ เพราะ RQ นั้นสร้างได้ แต่ในคนที่มีความเข้มแข็งทางใจต่ำก็อาจจะต้องสร้างมากหน่อย เพราะความเข้มแข็งทางใจก็เหมือนกับทางกาย คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอเมื่อไปวิ่งมาราธอนก็จะเหนื่อยน้อยกว่าคนที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนเลย การสร้าง RQ จึงต้องอาศัยการฝึกฝนในทุก ๆ วันจนมันกลายเป็นคุณลักษณะของคุณในด้านต่าง ๆ ได้แก่


1. ด้านความทนทานทางอารมณ์

ทำได้โดยการฝึกหายใจ ฝึกสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง ฝึกควบคุมอารมณ์ของตนเองให้สงบลงได้เวลาที่เผชิญกับสถานการณ์ที่บีบคั้นหรือเมื่อต้องผิดหวัง ฝึกคิดในทางบวก เช่น “ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไข” “ความทุกข์เข้ามาแล้วมันก็ผ่านไปไม่ได้คงอยู่ตลอดกาล” ในกรณีที่อารมณ์ของคุณไม่สงบไม่มั่นคงเพราะมีปัญหาสะสมหรือมีบาดแผลทางใจก็ควรที่จะมองหาผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ในการสะสางอารมณ์ที่คั่งค้างซึ่งคุณอาจจะไม่สามารถนำมันออกไปได้ด้วยตัวเอง


2. ด้านกำลังใจ

หมั่นคิดถึงสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่แทนที่จะไปโฟกัสสิ่งที่ตัวเองขาด คิดถึงสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจหรือเป็นความหมายของชีวิต อยู่กับปัจจุบันและโฟกัสกับสิ่งที่คุณควบคุมได้ เมื่อมีปัญหาก็ค่อย ๆ คิดแก้ไขทำไปทีละขั้นตอน พยายามไม่ไปคิดล่วงหน้าถึงสิ่งที่น่ากลัว ไม่คิดไปก่อนว่าตัวเองจะทำไม่ได้


3. ด้านการจัดการกับปัญหา

พยายามฝึกตัวเองให้เป็นคนที่แก้ปัญหาได้ โดยเริ่มฝึกจากการแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ หาข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก คิดหาวิธีสำรองไว้เผื่อวิธีแรกที่ลองนำมาใช้มันไม่ได้ผล เมื่อมีทักษะในการแก้ปัญหามากขึ้นก็จะมีโอกาสในการผ่านพ้นปัญหาได้มากขึ้น ขณะที่โอกาสที่จะตกอยู่ในความรู้สึกบีบคั้นตึงเครียดนั้นลดลง เพราะการแก้ปัญหาได้สำเร็จจะทำให้คุณเกิดการเรียนรู้ว่า “การแก้ไขปัญหามันก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถของมนุษย์”


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

[2] แบบประเมินความเข้มแข็งทางใจ (RQ ฉบับ 6 ข้อ) จัดทำโดยศูนย์สุขภาพจิตที่ 10

[3] คู่มือสร้างสรรค์พลังใจให้วัยทีน กรมสุขภาพจิต



บทความที่เกี่ยวข้อง

3 เทคนิคเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีความสุข. https://www.istrong.co/single-post/3techniques-to-change-yourself-to-be-happy

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


ความคิดเห็น


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page