“empathy” หัวใจของการให้คำปรึกษา
คุณเคยเป็นไหม? ไปปรึกษาพูดคุยกับใครสักคนแล้วรู้สึกว่ายิ่งปรึกษาไปก็ยิ่งรู้สึกแย่ ยิ่งพูดคุยกันไปยิ่งรู้สึกปวดหัว เหมือนพูดกันคนละภาษาหรืออยู่กันคนละโลก และหลังจากการปรึกษาพูดคุยในครั้งนั้น คุณก็รู้สึกเข็ดกับการรับคำปรึกษาไปเลย ความรู้สึกทางลบที่เกิดขึ้นจากการให้คำปรึกษาเป็นผลมาจากผู้ให้คำปรึกษาขาดความเข้าอกเข้าใจ อันเป็นหัวใจของการให้คำปรึกษา ซึ่งความเข้าอกเข้าใจที่ว่า มีคำศัพท์เฉพาะในภาษาอังกฤษว่า “empathy”
“empathy” ตามนิยามของ oxford dictionary มีความหมายว่า ความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกและประสบการณ์ของบุคคลอื่น และมีความหมายตามนิยามของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American psychological association: APA) ว่าเป็นความเข้าใจบุคคลอื่นผ่านมุมมองประสบการณ์ของเขาไม่ใช่ประสบการณ์ของเรา เข้าใจผู้อื่นโดยไม่ไปคิดแทนเขา ซึ่งในการบำบัดให้คำปรึกษา empathy จะเปรียบเสมือนหนทางสู่การเข้าใจผู้รับบริการว่าเขามีความรู้สึกนึกคิด มีความต้องการ มีแรงจูงใจในการแสดงพฤติกรรมอย่างไรบ้าง
มันจึงเป็นที่มาว่าทำไม empathy จึงเป็นหัวใจของการให้คำปรึกษา โดยหากนักให้คำปรึกษาไม่ได้ใช้ empathy ระหว่างที่ให้คำปรึกษา ผลที่ตามมาก็คือการให้คำปรึกษามักจะล้มเหลวไม่เป็นท่า กล่าวคือ ผู้รับบริการมักจะเกิดความรู้สึกต่อต้านไม่พอใจหลังการให้คำปรึกษาในครั้งนั้นจบลง โดยอาจแสดงออกผ่านทางการตำหนิโดยตรงหรือมีการพูดถึงในเชิงลบแบบปากต่อปากว่านักให้คำปรึกษามีทัศนคติที่แย่หรือมีเทคนิควิธีการที่ดูไม่เป็นมืออาชีพไม่น่าเชื่อถือเอาซะเลย
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่านักให้คำปรึกษาควรจะมี empathy ต่อผู้รับบริการเพื่อให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจ แต่บทบาทสำคัญของ empathy ก็คือการพาให้นักให้คำปรึกษาไปสู่ก้นบึ้งของหัวใจผู้รับบริการ ซึ่งจะทำให้การให้คำปรึกษาบรรลุถึงเป้าหมายไปด้วย นั่นก็คือ การเข้าใจสาเหตุของความทุกข์ความไม่สบายใจของผู้รับบริการ และถ้านักให้คำปรึกษาสามารถใช้ empathy พาตัวเองให้เข้าใจผู้รับบริการได้ลึกกว่านั้น ก็จะทำให้รับรู้ถึงความต้องการในระดับลึกของผู้รับบริการ โดยความต้องการในระดับลึกบางครั้งก็มีชื่อเรียกว่า “ความโหยหา (yearning)”
ซึ่งหากนักให้คำปรึกษาสามารถช่วยให้ผู้รับบริการรับรู้ความโหยหาของตนเองและสามารถบอกได้ว่ามันคืออะไร ก็จะสามารถพาให้ผู้รับบริการเข้าใจตนเองมากยิ่งขึ้น นำไปสู่หนทางในการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องตามแบบฉบับของผู้รับบริการไม่ใช่จากคำแนะนำในแบบฉบับของนักให้คำปรึกษาที่อาจจะขัดแย้งกับความคิดความเชื่อของตัวผู้รับบริการ ซึ่งนักให้คำปรึกษาที่ให้คำแนะนำขัดแย้งกับความคิดความเชื่อของผู้รับบริการ ก็มักจะมีความขัดแย้งระหว่างผู้รับบริการและนักให้คำปรึกษาไปด้วยในเวลาเดียวกัน
และนอกจากนักให้คำปรึกษาที่ดีควรจะมี empathy กับผู้รับบริการแล้ว นักให้คำปรึกษาก็ควรจะฝึกการมี empathy กับตนเองด้วยเช่นกัน เพราะโดยหลักการแล้ว เรามักจะไม่สามารถให้ในสิ่งที่ตนเองขาดกับผู้อื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนมาขอเงินเราหนึ่งร้อยบาท แต่เราไม่มีเงินติดตัวอยู่เลย เราก็คงจะไม่สามารถแบ่งปันหรือมอบเงินให้คนที่มาขอเราได้ ในอีกนัยยะหนึ่ง นักให้คำปรึกษาที่ดีก็ควรจะสามารถให้คำปรึกษาตนเองได้ด้วยเช่นกัน หรืออย่างน้อยก็ควรจะสามารถมี empathy กับตัวเองได้ หรือที่เรียกว่า “self-empathy”
สำหรับแนวทางในการฝึกให้ตัวเองมี empathy กับตนเองนั้น Andrea Brandt นักบำบัดชาวอเมริกันได้เขียนไว้บนเว็บไซต์ GoodTherapy เอาไว้ดังนี้
1. พูดคุยกับตัวเองอย่างเป็นมิตร ไม่พูดสิ่งที่ทำร้ายจิตใจตัวเอง โดยให้คิดว่าหากเรามีเพื่อนสนิทสักคนที่เรารักมาก สิ่งไหนที่เราไม่อยากพูดกับเพื่อนสนิทคนนั้น เราก็จะต้องไม่พูดสิ่งนั้นกับตัวเอง
2. หมั่นฝึกฝนให้ตัวเองมีสติอยู่เสมอ (mindfulness) เพื่อไม่ให้มีการตัดสินตัวเองเกิดขึ้น
3. อภัยตัวเองให้เป็น โดยการให้อภัยตนเองนั้นจะต่างจากการหาข้อแก้ตัวให้กับตนเอง แต่เป็นการยอมรับข้อบกพร่องของตนเองและโอบกอดมัน
4. ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แม้ว่าข้อนี้อาจจะทำยากสักหน่อย เพราะในยุคเทคโนโลยีแบบนี้ ผู้คนมักจะมีโลกอีกใบก็คือโลกออนไลน์ใน social media ซึ่งการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมักจะเกิดขึ้นอยู่เกือบตลอดเวลา แต่หากคุณสามารถเข้าใจว่าคุณมีเส้นทางในแบบของคุณ โดยคุณไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบแข่งขันกับคนอื่น เพราะการเดินบนหนทางในแบบฉบับของคุณมันก็สามารถพาคุณไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า empathy จะเป็นหัวใจของการให้คำปรึกษา แต่ในการให้คำปรึกษา ก็ยังต้องการปัจจัยอื่น ๆ ในการทำให้การให้คำปรึกษาบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดก็คือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ของผู้รับบริการ อาทิ สัมพันธภาพในการให้คำปรึกษา เทคนิคและทักษะการให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง รวมถึงจรรยาบรรณของนักให้คำปรึกษาที่จะช่วยคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้รับบริการจากการให้คำปรึกษาโดยขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง
หรือการนำเทคนิควิธีการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมมาใช้กับผู้รับบริการ จนทำให้ผู้รับบริการเกิดความรู้สึกแย่หลังได้รับการให้คำปรึกษา อันเป็นการละเมิดจรรยาบรรณของนักให้คำปรึกษาในเรื่องของการรักษาสวัสดิภาพของผู้รับบริการไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ เช่น การใช้เทคนิคในการให้คำปรึกษาที่มีลักษณะเป็นกิจกรรมเชิงบังคับหรือทำให้ผู้รับบริการรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกนักให้คำปรึกษาลดทอนความเป็นมนุษย์
หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
แหล่งอ้างอิง :
4 Ways to Be Kinder to Yourself and Build Self-Empathy
https://www.goodtherapy.org/blog/4-ways-to-be-kinder-to-yourself-build-self-empathy-0524185
Oxford Learner’s Dictionaries
https://www.oxfordlearnersdictionaries.com/definition/american_english/empathy
APA Dictionary of Psychology
ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช
จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ
ระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มีประสบการณ์ด้านการจิตวิทยาการปรึกษากว่า 7 ปี ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำ
อยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นผู้เขียนบทความของ iSTRONG
Comentarios