7 เทคนิคจิตวิทยา ฝึกการฟังให้ลึกถึงหัวใจ (Empathic listening)
หลายท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า Deep Listening กันแล้ว แต่ในบทความจิตวิทยานี้ขอนำเสนอเทคนิคการฟังที่ลึกไปอีกขั้น คือ Empathic listening หรือการรับฟังอย่างเข้าใจ เนื่องจากปัญหาความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว หรือในสังคมที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการไม่พูดกัน และไม่ฟังกันให้เข้าใจ ต่างคนต่างคิดไป ส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แล้วเกิดความรู้สึกทางลบต่อกัน แล้วกลายเป็นบาดแผลในความสัมพันธ์ ที่กัดกร่อนความรัก ความผูกพันในระยะยาว
โดย Empathic listening มีการให้นิยามโดย Stephen Covey ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา เอาไว้ว่า เป็นการฟังอย่างเข้าใจ เข้าใจให้ลึกถึงจิตใจของคนพูด ทั้งในด้านความคิด และความรู้สึก โดยหลักสำคัญในการฟังอย่างเข้าใจ ก็คือ รับฟังเรื่องราวของเขาตั้งแต่ต้นจนจบ โดยไม่มีการตัดสิน ซึ่งในปัจจุบันนี้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงได้แบ่งระดับการ (ตั้งใจ) ฟัง ออกมาได้ถึง 5 ระดับ เพื่อให้เราสังเกตตัวเอง ดังนี้
1. ฟังแบบไม่ใส่ใจ (Ignoring)
การฟังแบบไม่ใส่ใจ หรือการฟังแบบไม่สนใจใยดี เป็นการฟังที่ไม่ได้ตั้งใจฟังเสียด้วยซ้ำ โดยคนฟังได้ยินเสียงของคนพูด แต่ไม่เข้าใจความหมาย ไม่ได้รับรู้อารมณ์ ความรู้สึกของคนพูดเลยสักน้อย เพราะสิ่งที่คนพูดต้องการจะสื่อสารไม่ได้เข้าไปในโสตประสาทของคนฟัง
2. ฟังแบบผ่าน ๆ (Pretend Listening)
การฟังแบบผ่าน ๆ นั้น เป็นการตั้งใจฟังในระดับที่ดีกว่าการฟังแบบไม่ใส่ใจขึ้นมานิดหนึ่ง เพียงนิดเดียวเท่านั้น เพราะการฟังในระดับนี้นอกจากคนฟังจะได้ยินเสียงคนพูดแล้ว ยังเข้าใจในสิ่งที่คนพูดต้องการจะสื่ออีกด้วย แต่ไม่ได้ลึกซึ้ง หรือเข้าใจอย่างถ่องแท้
3. ฟังเฉพาะเรื่องที่ตนเองสนใจ (Selective Listening)
การฟังเฉพาะเรื่องที่ตนเองสนใจ เป็นการตั้งใจฟังที่เข้าใจถึงสิ่งที่คนพูดต้องการจะสื่อเป็นอย่างดี แต่จะเข้าใจเฉาะในเรื่องหรือในส่วนที่ตนเองสนใจเท่านั้น ไม่ได้จดจำเรื่องราวที่คนพูดถ่ายทอดออกมาทั้งหมด ส่งผลให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือใส่ใจผิดจุด และอาจเกิดปัญหาตามมาได้
4. ฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
เป็นการฟังในระดับที่รับรู้ถึงความรู้สึกแท้จริงของคนพูด ไม่ใช่เพียงรับรู้เรื่องราวของสิ่งที่คนพูดต้องการสื่อสาร โดยคนฟังที่ฝึกการตั้งใจฟังมาถึงระดับนี้จะสามารถวิเคราะห์ได้เลยว่าสิ่งที่คนพูดพูดออกมา กับสิ่งที่เขารู้สึกนั้นเป็นอย่างไร เพราะบางคนอาจแสดงออกในรูปแบบโมโหร้าย เกรี้ยวกราด แต่ความรู้สึกข้างในแตกสลายอยู่ก็เป็นได้
5. ฟังอย่างเข้าใจ (Empathic listening)
การฟังอย่างเข้าใจ เป็นระดับการตั้งใจฟังในระดับสูงสุด คือ นอกจากจะรับรู้เรื่องราวที่คนพูดสื่อสารออกมาตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว ยังเข้าใจได้ถึงความคิด ความรู้สึก และเข้าถึงจิตใจของคนพูด แต่ทั้งนี้การฟังอย่างเข้าใจนั้น ไม่ใช่การฟังที่เรานำตัวเราไปอยู่ในตำแหน่งเดียวกับคนพูด แต่เป็นการมองในมุมของกัลยาณมิตรที่เข้าใจ และต้องการช่วยเหลือเขาอย่างจริงใจ
โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้แนะนำแนวทางการฝึก Empathic listening 7 แนวทาง ดังนี้
1. ฟังเรื่องราวอย่างตั้งใจ
ก่อนที่เราจะสามารถฟังอย่างเข้าใจได้ เราก็ต้องฟังอย่างตั้งใจให้ได้เสียก่อน โดยการฝึกสมาธิอยู่กับเรื่องราวของคนพูดที่พูดกับเราตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อเราตั้งใจฟังเรื่องราวของเขาอย่างครบถ้วน เราจะสามารถฝึกในขั้นต่อ ๆ ไปที่จะพัฒนาให้เราฟังอย่างเข้าใจได้
2. ฝึกการฟังโดยไม่คิดแทน ไม่ตัดสิน
การฝึกขั้นต่อมา ก็คือ ฝึกไม่คิดแทน ไม่ตัดสินเขาจากเรื่องที่เล่า เพราะในการฟังทุกวันนี้เรามักจะเผลอคิดแทนคนพูดว่า ทำไมไม่ทำอย่างนั้นละ ไม่ทำอย่างนี้ละ หรือถ้าฉันเป็นเธอฉันจะทำแบบนี้ ซึ่งแน่นอนค่ะว่าเราไม่ใช่เขา เราไม่รู้หรอกว่าในตอนนั้นเขามีข้อจำกัด หรือถูกกดดันอย่างไรบ้าง
หรือแย่กว่าคิดแทน ก็คือ เราด่วนตัดสินไปเลยว่าคนพูดเป็นอย่างไรจากเรื่องที่เขาเล่า เช่น คนนี้เป็นลูกอกตัญญู โกรธแม่ตัวเอง หรือผู้หญิงคนนี้แย่จังเลย มีแฟนตั้งแต่ยังเด็ก เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่เรายังฟังเรื่องราวของเขาไม่ครบทุกด้าน
3. คิดในมุมมองของเขา
การคิดในมุมมองของคนฟัง เป็นคนละอย่างกับการคิดแทนนะคะ การคิดแทน คือ การนำความคิดของเราไปแทนการตัดสินใจของเขา แต่การคิดในมุมมองเดียวกับคนพูด เป็นการคิดภายใต้ปัจจัย แรงกดดัน ข้อจำกัด ในสถานการณ์เดียวกันกับที่คนพูดเผชิญมา เพื่อให้เราได้จินตนาการว่าถ้าเป็นเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เราจะมีความคิด มีความรู้สึกอย่างไร เพื่อให้เราเข้าใจเขามากขึ้นนั่นเอง
4. รับฟังแล้วไม่บอกต่อ
กฎเหล็กของการฟังอย่างเข้าใจ ก็คือ เมื่อใครก็ตามไว้ใจเล่าเรื่องราวของเขาให้เราฟังแล้ว เราก็ควรจะเก็บไว้ที่เรา ไม่ควรบอกต่อ หรือนำเรื่องของเขาไปนินทา เพราะถ้าคนพูดรู้เขาเสียใจ เสียความรู้สึก และอาจเสียความไว้วางใจ ไม่กล้านำความทุกข์ใจไปปรึกษาใครอีกเลย เพราะฉะนั้นหากเราต้องการช่วยเหลือคนใกล้ชิด หรือเพื่อนร่วมสังคม เราก็ควรจะต้องทำตัวให้เป็น Safe Zone ของเขา โดยการช่วยรักษาความลับให้กับเขาค่ะ
5. เงียบบ้างก็ได้ ไม่ต้องถาม หรือโต้ตอบตลอดการสนทนา
ในการสนทนาปกติ การที่คนสองคน หรือคนในกลุ่มจะพูดคุยกัน ก็ต้องมีทั้งคนพูด และคนฟัง โดยอาจสลับบทบาทหน้าที่การพูด – การฟัง สลับกันไปตามเรื่องที่พูด แต่ในกรณีของการฟังอย่างเข้าใจ มักจะเป็นสถานการณ์ที่คนพูดพร้อมระบายสิ่งที่อัดอั้นตันใจออกมา เพราะฉะนั้น การเงียบของคนฟังจะดีต่อคนพูดอย่างมาก เพราะทำให้คนพูดระบายความในใจอย่างต่อเนื่อง และคนฟังก็จะได้เข้าใจในสิ่งที่เขาพูดอย่างแท้จริง
6. หมั่นทวนความรู้สึกของคนพูด
การทวนความรู้สึกของคนพูด เช่น หากเขาเล่าความยากลำบากในการเป็นเดอะแบกของครอบครัว เราก็สามารถสะท้อนไปว่า “คุณรู้สึกเหนื่อยไหมคะ” หรือในกรณีที่เขาเล่าเรื่องคนรักนอกใจ เราก็อาจสะท้อนไปว่า “ได้ฟังแล้ว รับรู้ถึงความเจ็บปวด” เป็นต้น การสะท้อนความรู้สึกเช่นนี้จะช่วยตรวจสอบได้ว่าเราเข้าใจเรื่องที่เขาพูดจริงหรือไม่ และยังเป็นการช่วยให้คนพูดได้ทบทวนความคิด ความรู้สึกของตนเองที่มีต่อสถานการณ์อีกด้วย
7. ฟังโดยวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เขาพูดเรื่องไหน คือ “เรื่องจริง” เรื่องไหนเป็น “ความรู้สึก”
และมาถึงเทคนิคทางจิตวิทยาขั้นสุดท้ายในการฝึกการฟังอย่างตั้งใจ ก็คือ การวิเคราะห์ให้ออกว่า เรื่องที่เขาเล่านั้น ส่วนไหนเป็นเรื่องจริง ส่วนไหนเป็นสิ่งที่เขารู้สึก เช่น หากเขาเล่าว่าหัวหน้าในที่ทำงานกดดัน ใจร้ายมาก จนทำให้เขาเบื่อหน่าย หมดไฟ
ซึ่งเรื่องจริง ก็คือ “เขาได้รับการกดดันจากหัวหน้างาน” และความรู้สึกของเขาก็คือ “เขารู้สึกว่าหัวหน้าใจร้าย จนทำให้เหนื่อยหน่าย ไม่อยากทำงาน” เป็นต้น ซึ่งประโยชน์ของการวิเคราะห์ “ความจริง” และ “ความรู้สึก” ก็คือ เราสามารถวางแผนการช่วยเหลือ หรือสามารถแนะแนวทางการให้ความช่วยเหลือให้แก่เขาได้อย่างถูกต้องนั่นเองค่ะ
การฝึก Empathic listening หรือการฟังอย่างเข้าใจ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อคนฟังในแง่ของการฝึกสติ (Mindfulness) แล้ว ยังเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อคนที่จะมาพูดคุยกับเรา เพราะเราจะสามารถดูแลจิตใจของพวกเขาได้ ส่งผลให้ทั้งคนพูดและคนฟังสามารถเติบโตทางจิตใจกลายเป็นคนที่ดียิ่งกว่าเดิมได้อีกด้วย
หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
1. Adecco. (23 เมษายน 2563). Empathic Communication ทักษะการสื่อสารแบบเห็นอกเห็นใจกัน. [ออนไลน์].
สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2567 จาก https://adecco.co.th/th/knowledge-center/detail/career-advice/emphatic-communication
2. ณัฏฐ์ เพิ่มทรัพย์. (2022, 27 มกราคม). 5 ระดับการฟัง ที่เราควรรู้เพื่อเป็นผู้ฟังที่ดี. [ออนไลน์].
สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2567 จาก https://blog.cariber.co/post/5-level-of-listening
3. ศศิมา สุขสว่าง. (มปป.). ฟังอย่างเข้าใจ (Empathic listening) ต่างจากได้ยิน (hear) อย่างไร โดยศศิมา สุขสว่าง.[ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2567 จาก https://www.sasimasuk.com/17209389/
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments