top of page

การเลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจ : ทำไมการเห็นอกเห็นใจคือเครื่องมือสำคัญในการสร้างเด็กที่มีความสุข

iSTRONG การเลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจ : ทำไมการเห็นอกเห็นใจคือเครื่องมือสำคัญในการสร้างเด็กที่มีความสุข

การเลี้ยงลูกในยุคสมัยก่อนมักจะเป็นไปตามสุภาษิตที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” แปลว่า หากต้องการให้ลูกเติบโตมาเป็นคนดีต้องเข้มงวด ต้องฝึกให้ลูกอยู่ในระเบียบวินัย ต้องใช้ไม้แข็งในการเลี้ยงดูลูก


แต่ในปัจจุบันนี้แนวคิดในการเลี้ยงลูกเปลี่ยนไปมากแล้วค่ะ เป็น “รักลูกให้เห็นอกเห็นใจ” คือ หากเราต้องการให้ลูกมีความสุข ชีวิตดี มีคุณภาพ พ่อแม่อย่างเราก็ต้องใส่ใจ เข้าใจ และมีความเห็นอกเห็นใจแก่ลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข


โดยคำกล่าวข้างต้นได้รับการยืนยันจากผลการวิจัยทางจิตวิทยาของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา Cara Goodwin เมื่อปี ค.ศ. 2024 ที่พบว่า เด็กและวัยรุ่นที่มีพ่อแม่เห็นอกเห็นใจมักจะมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น เนื่องจากเด็ก ๆ มีการเรียนรู้เรื่องการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นผ่านการแสดงออกของพ่อแม่ที่มีต่อเขา


หากพ่อแม่สามารถเข้าใจและรับรู้อารมณ์ของเขา ก็มีแนวโน้มสูงว่าเขาเองก็สามารถเข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้เช่นกัน นอกจากนี้ผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า เด็กที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะมีความเป็นมิตรสูง มีทักษะทางสังคมที่ดี และมีความพึงพอใจในชีวิตสูง


นอกจากนี้แล้ว งานวิจัยทางจิตวิทยาในต่างประเทศยังพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยความเห็นอกเห็นใจ มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความสุขและพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็ก เนื่องจากการเลี้ยงลูกด้วยความเห็นอกเห็นใจเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูก ผ่านการสื่อสารเชิงบวก การให้กำลังใจ และการสนับสนุน


ส่งผลให้ลูกมีความสุข ช่วยเสริมสร้างสมองของเด็ก ทำให้มีอารมณ์ที่มั่นคง ตัดสินใจได้ดี สามารถปรับตัวในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป


โดยสามารถสรุปเหตุผลในการเลี้ยงลูกด้วยความเห็นอกเห็นใจคือเครื่องมือสำคัญในการสร้างเด็กที่มีความสุข ดังนี้


  1. ช่วยพัฒนาอารมณ์ที่มั่นคงและลดความเครียด

    เด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยความเห็นอกเห็นใจ จะรับรู้ได้ว่าเขาได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ จึงมีแนวโน้มที่จะจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น โดยงานวิจัยทางจิตวิทยา พบว่า การตอบสนองของพ่อแม่ที่มีความเห็นอกเห็นใจสามารถช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) ในเด็ก และช่วยให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น


  2. สร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงและรู้จักเห็นคุณค่าตัวเอง

    เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความเห็นอกเห็นใจจะเรียนรู้ที่จะไว้วางใจผู้อื่นและมีความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง (Self-worth) เนื่องจากเขาได้รับการปฏิบัติอย่างมีเมตตา ใส่ใจ และได้รับการเอาใจใส่อย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลให้เขาตระหนักว่าเขามีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของความสุขในระยะยาวต่อไป 


  3. พัฒนาแนวคิดเชิงบวกและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

    การที่พ่อแม่ฟังและเข้าใจความรู้สึกของลูก จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะคิดเชิงบวกและมีวิธีแก้ปัญหาที่ดีขึ้น แทนที่จะตอบสนองต่อความเครียดด้วยความการทำโทษ การแสดงออกอย่างก้าวร้าวหรือความวิตกกังวล การที่พ่อแม่แสดงออกต่อเขาในเชิงบวกแม้ในสถานการณ์ที่มีปัญหาก็ตาม จะส่งผลให้เด็ก ๆ สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์ อีกทั้งยังมีวุฒิภาวะเหมาะสมกับวัย


  4. เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence - EQ)

    ความฉลาดทางอารมณ์ มีความเกี่ยวข้องโดยตรงที่ทำให้ลูกมีความสุข เนื่องจากการที่พ่อแม่แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อลูกจะช่วยให้เด็กเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น รวมถึงสามารถเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาทักษะทางสังคม และความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง


  5. ปลูกฝังพฤติกรรมเมตตาและความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี

    เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ จะเรียนรู้ที่จะปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเมตตาและเข้าใจ ซึ่งช่วยให้พวกเขามีเกราะทางสังคมที่เข้มแข็ง เป็นที่รักของผู้คนรอบข้าง เมื่อเขาต้องเข้าไปสู่สังคมใหม่ ๆ เช่น โรงเรียนใหม่ การเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย หรือการเข้าทำงานก็ตาม ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากเพื่อนและคนรอบข้างมากขึ้นอีกด้วย  


    และสุดท้ายนี้เพื่อการเลี้ยงลูกให้ลูกมีความสุข จึงขอนำเสนอ 6 เทคนิคจิตวิทยาในการเลี้ยงลูกด้วยความเห็นอกเห็นใจมาฝากกัน ดังนี้ค่ะ


  1. การฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening)

    การฟังลูกโดยให้ความสนใจเต็มที่และสะท้อนความรู้สึกของพวกเขา จะสามารถช่วยให้ลูกเกิดความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับและเข้าใจ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อลูก


  2. การยืนยันความรู้สึกของลูก (Validating Emotions)

    การบอกลูกว่าอารมณ์ของเขามีความหมายและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอารมณ์และความมั่นใจในตนเองให้แก่ลูก เพราะลูกรับรู้ว่ามีคนเข้าใจพวกเขา


  3. การใช้วินัยเชิงบวก (Positive Discipline)

    การตั้งกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนแต่มีความเมตตา เช่น การใช้การอธิบายแทนการลงโทษ การกำหนดเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ การลงโทษเชิงบวก ต่างก็ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีได้โดยที่ไม่ทำให้ลูกรู้สึกถูกควบคุมหรือเกิดความรู้สึกหวาดกลัว 


  4. การเป็นแบบอย่างของความเห็นอกเห็นใจ (Modeling Compassion)

    ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า พ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างความเห็นอกเห็นใจให้แก่ลูก เพราะลูกเรียนรู้พฤติกรรมจากพ่อแม่ และผู้ปกครอง ดังนั้นการแสดงออกถึงความเมตตาและความเข้าใจในการแก้ปัญหาของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ใกล้ชิด จะช่วยปลูกฝังพฤติกรรมเชิงบวกให้แก่ลูกได้ 


  5. การสร้างความผูกพันที่มั่นคง (Secure Attachment)

    การตอบสนองต่อความต้องการของลูกอย่างอบอุ่นและสม่ำเสมอจะช่วยให้ลูกเกิดความรู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นใจในความสัมพันธ์ของตนเองกับผู้อื่น 


  6. การฝึกสติและการควบคุมอารมณ์ (Mindful Parenting)

    การฝึกสติช่วยให้พ่อแม่ตอบสนองต่อลูกอย่างมีเหตุผลมากกว่าการตอบสนองตามอารมณ์ ซึ่งทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่สงบและเต็มไปด้วยความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น


การเลี้ยงลูกด้วยความเห็นอกเห็นใจ เป็นแนวทางที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่กับลูก และมีผลดีต่อพัฒนาการของเด็กในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการมีอารมณ์ที่มั่นคง การเห็นคุณค่าในตนเอง การมีทักษะทางสังคมที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ มีความฉลาดทางอารมณ์ และมีความเมตตาในการใช้ชีวิต โดยพ่อแม่สามารถให้ลูกมีความสุขผ่านการเลี้ยงดูด้วยความเห็นอกเห็นใจตามเทคนิคจิตวิทยาที่ได้แนะนำไปข้างต้นทั้ง 6 ข้อได้เลยค่ะ


และหากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดสนใจฝึกฝนทักษะความเห็นอกเห็นใจ หรือการรับฟังอย่างเข้าใจ เพื่อปรับใช้ในครอบครัว การเลี้ยงลูก สามารถดูคอร์สเรียนจิตวิทยาจากทาง iSTRONG ทีเกี่ยวข้องได้ที่นี่ คอร์สนักให้คำปรึกษาระดับ Fundamental

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง  


อ้างอิง: Borba, M. (2018). Unselfie: Why empathetic kids succeed in our all-about-me world. Touchstone.

Goodwin, C. (2024, September 11).


Siegel, D. J., & Bryson, T. P. (2012).

The whole-brain child: 12 revolutionary strategies to nurture your child's developing mind. Delacorte Press.

The Potential. (n.d.). Positive parenting: How empathy shapes children's development. The Potential. https://thepotential.org/knowledge/positive-parenting-2

 

ประวัติผู้เขียน

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2025 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page