เปิดเคล็ดลับการครองคนครองงานอย่างผู้นำที่ใช้หัวใจนำองค์กร (Empathic Leader)
สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์อื่น ๆ คือ ในขณะที่สัตว์มักจะใช้ชีวิตไปตามสัญชาตญาณ แต่มนุษย์สามารถใช้หัวใจนำชีวิตของตนเองได้ด้วย ทักษะหนึ่งที่มักจะถูกพูดถึงในยุคปัจจุบันก็คือทักษะในการเห็นอกเห็นใจ หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Empathy” ซึ่งถูกจัดไว้อยู่ในทักษะที่เรียกว่า “Soft Skill” และยังถือว่าเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนประสิทธิภาพของการเป็นผู้นำอีกด้วย เพราะ Empathy จะทำให้บุคคลกลายเป็นผู้นำที่มีความแตกต่างไปจากผู้นำที่เน้นการใช้อำนาจ โดยผู้นำที่ใช้ Empathy ในการทำงานบริหารด้วยจะตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Empathetic Leader”
Empathetic Leader หมายถึง ผู้นำที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในองค์กรมาก่อน ทั้งระหว่างผู้นำกับพนักงาน และพนักงานกับพนักงาน ผู้นำแบบ Empathetic Leader จึงมีลักษณะเป็นคนที่เข้าอกเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น และยังเป็นผู้นำที่สามารถดึงเอาศักยภาพของพนักงานออกมาได้อีกด้วย ซึ่งผู้นำแบบ Empathetic Leader จะเป็นผู้นำที่สามารถสร้างความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจกันในองค์กร โดยเฉพาะในยุคที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 พนักงานจำนวนมากมีระดับของความตึงเครียดวิตกกังวลและหดหู่มากขึ้น ซึ่งจากบทความที่เขียนโดย Tara Van Bommel ได้กล่าวถึงงานวิจัยที่ศึกษาในกลุ่มพนักงานจำนวน 899 คนในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้นำที่ได้รับการฝึกฝนทักษะ Empathy จะช่วยให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า รวมถึงช่วยให้ธุรกิจขององค์กรมีผลประกอบการในภาพรวมสูงขึ้นด้วย
ทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้นำแบบ Empathetic Leader ?
หากคุณเริ่มรู้สึกว่าอยากจะเป็นผู้นำแบบ Empathetic Leader แต่ไม่แน่ใจคุณมีคุณลักษณะนั้นแล้วหรือไม่ หรือไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองทำตามด้านล่างนี้ดูค่ะ
1. แสดงออกอย่างจริงใจว่าคุณใส่ใจพนักงาน
สิ่งสำคัญประการหนึ่งของการเป็นผู้นำที่ใช้หัวใจนำองค์กรก็คือ คุณจะต้องมีการแสดงออกอย่างจริงใจว่าคุณเข้าใจถึงสถานการณ์ของพนักงานแต่ละคนที่ไม่มีใครเหมือนใคร ผู้นำแบบ Empathetic Leader จะมอบหมายงานให้เหมาะสมกับตัวของพนักงานและสถานการณ์ที่พนักงานกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความใส่ใจและเข้าใจความรู้สึกของพนักงานในองค์กร เมื่อพนักงานรับรู้ได้ว่าตนเองได้รับความใส่ใจก็จะเกิดความรู้สึกผูกพันกับองค์กร อยากจะทุ่มเทและพยายามเพื่อองค์กรมากขึ้น
2. เต็มใจที่จะช่วยเหลือพนักงานที่มีปัญหาส่วนตัว
แม้ว่าโดยหลักการของการทำงานควรที่จะแยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องงาน โดยเมื่อมาทำงานก็ควรที่จะปิดประตูใส่ปัญหาส่วนตัวไปก่อน แต่ในบางครั้งปัญหาส่วนตัวก็ส่งผลมาถึงประสิทธิภาพในการทำงานได้หากพนักงานอยู่ในสภาวะเครียดสูง ผู้นำแบบ Empathetic Leader จะเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถเข้ามาพูดคุยเรื่องงานและปัญหาส่วนตัวด้วยได้ และทำให้พนักงานไม่รู้สึกกลัวที่จะเข้าถึงเจ้านาย ซึ่งบ่อยครั้งก็พบว่าพนักงานไม่ได้ต้องการอะไรมากมายนอกจากอยากจะพูดปัญหาของตัวเองออกมาให้คนอื่นได้รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเขา
3. จัดให้มีการพบปะแบบตัวต่อตัวกับพนักงาน
วิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้คุณทราบถึงความรู้สึกนึกคิดหรือสถานการณ์ของพนักงานก็คือการพบปะพูดคุยกัน โดยอาจจะแจ้งให้พนักงานทราบว่าพวกเขาสามารถนัดหมายเพื่อขอพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับเจ้านายได้หากต้องการ ซึ่งอาจจะเป็นการพบปะอย่างเป็นทางการในออฟฟิศเลยหรือจะพบปะกันในคาเฟ่เพื่อเพิ่มความเป็นกันเองกับพนักงานก็ได้ ยิ่งบรรยากาศการทำงานเป็นไปด้วยความเป็นกันเองและผ่อนคลายมากเท่าไหร่ พนักงานก็จะยิ่งรู้สึกว่าตัวเองถูกคุกคามล้ำเส้นน้อยลงเท่านั้น ส่งผลให้บรรยากาศการทำงานเป็นบรรยากาศที่ปลอดภัยและน่าทำงาน
4. เฝ้าระวังภาวะหมดไฟในการทำงาน
ภาวะหมดไฟในการทำงานของพนักงานเป็นภาวะที่ไม่ดีต่อองค์กรเลย ยิ่งพนักงานมีความเครียดสูงก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน ภาวะหมดไฟในการทำงานส่งผลให้พนักงานทำงานได้แย่ลงและมันยังแพร่กระจายถึงกันได้ด้วย เพราะพนักงานที่หมดไฟอาจจะมีพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงานทั้งในด้านอารมณ์ ความสัมพันธ์ และเนื้องาน รวมไปถึงมีผลต่ออัตราการลาออกของพนักงาน ผู้นำแบบ Empathetic Leader จะเฝ้าระวังไม่ให้พนักงานเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน โดยจะพิจารณาในเรื่องของแรงจูงใจในการทำงาน ปริมาณงาน วันกำหนดส่งงาน ให้มีความเหมาะสม เพื่อให้พนักงานยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน
5. นำเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลพนักงาน (Employee Analytic) มาใช้
การวิเคราะห์ข้อมูลสามารถนำมาใช้กับบุคคลได้เช่นกัน โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ที่ผู้นำองค์กรไม่สามารถเข้าถึงพนักงานทุกคนได้ ซึ่งเทคโนโลยีที่ว่านี้จะช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ของพนักงาน เช่น คาดคะเนอัตราการลาออกของพนักงาน วิเคราะห์ความสุขของพนักงานในองค์กร ฯลฯ ซึ่งเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลพนักงานจะเข้ามามีส่วนช่วยในการวางแผนกลยุทธ์ในการบริหารบุคคลได้ ส่งผลให้พนักงานมีปัญหาจากการทำงานลดลง มีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น
Empathy ยังคงเป็นทักษะที่ถูกมองข้ามไป ทั้งที่มันเป็นทักษะที่สำคัญมาก โดยไม่ว่าจะเป็นผู้นำองค์กรหรือใครก็ตามควรที่จะมี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในบางคนอาจจะมี Empathy ขึ้นมาโดยธรรมชาติ อาจจะด้วยบุคลิกภาพส่วนตัวหรือได้รับการปูพื้นฐานมาจากครอบครัว/โรงเรียน แต่ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เพราะข่าวดีคือ Empathy เป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้ฝึกฝนกันได้
โดยสรุปแล้ว ผู้นำแบบ Empathetic Leader สามารถช่วยให้องค์กรมีบรรยากาศการทำงานที่เป็น “Happy Workplace” ซึ่งบรรยากาศแบบนี้จะเอื้อให้พนักงานรู้สึกมีเป้าหมายในการทำงาน มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น ส่งผลให้องค์กรมีโอกาสประสบความสำเร็จในภาพรวมมากขึ้น
องค์กรที่มี ผู้นำแบบ Empathetic Leader มักจะได้เปรียบกว่าองค์การที่มีผู้นำแบบไม่มีหัวใจ กล่าวคือผู้นำองค์กรไม่ได้มองพนักงานว่าเป็นมนุษย์แต่ปฏิบัติกับพนักงานเหมือนเป็นเครื่องจักรผลิตผลงานให้กับองค์กร ส่งผลให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่พนักงานไม่มีความสุข นำไปสู่การเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน และพนักงานประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รวมไปถึงมีอัตราการลาออกของพนักงานสูงขึ้น
ดังนั้น Empathy ในที่ทำงานหรือในองค์กรจึงมีความสำคัญมาก เพราะมันจะช่วยให้องค์กรของคุณโดดเด่นไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณชูนโยบายองค์กรที่สะท้อนถึงความเป็นองค์กรที่มีผู้นำที่ใช้หัวใจนำองค์กรในแคมเปญของบริษัท มันก็จะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์องค์กรของคุณดูดีมากขึ้นไปอีก
หากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] Can Empathic Leadership be the Secret to Your Success on a Team? : Retrieved from. https://rockcontent.com/blog/empathic-leadership/
[2] Why Empathetic Leadership Is More Important Than Ever : Retrieved from. https://www.entrepreneur.com/article/390310
[3] Empathy Is a Force for Innovation, Flourishing, and Intent to Stay : Retrieved from. https://www.catalyst.org/reports/empathy-work-strategy-crisis
[4] Data Analytic and Digital Technology, บทความสำหรับบุคคลทั่วไป : Retrieved from. https://www.ftpi.or.th/2019/31410
บทความที่เกี่ยวข้อง
[1] มาบ่มเพาะ EMPATHY จิตวิทยาสร้างความไว้วางใจในการทำงานร่วมกัน. https://istrong.center/empathy-in-team/
[2] EMPATHY กุญแจสำคัญในการทำงาน. https://istrong.center/the-importance-of-empathy-in-the-workplace/
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (เริ่มทำงานในปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน)
และเป็นนักเขียนของ istrong
Comments