top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

7 สัญญาณของความสัมพันธ์แบบมีแฟนเหมือนไม่มี (Emotionally Unavailable)



มีแฟนเหมือนไม่มี” “ไม่ว่างจริง ๆ หรือว่ามีคนอื่น หลายคนตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดคำถามเหล่านั้นอยู่ในใจบ่อย ๆ ซึ่งบางคนก็เก็บคำถามเอาไว้ในใจด้วยความรู้สึก “อยากรู้แต่ไม่อยากถาม” บางคนก็เลือกที่จะเคลียร์ใจกับแฟนให้รู้กันไปเลย แต่ก็มีบางคนอีกเหมือนกันที่ลงเอยด้วยการที่..แฟนไม่ยอมเลิกแต่ก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เปิดใจคุยกันกี่ครั้งก็ไม่เห็นจะดีขึ้นเลยทำให้เกิดคำถามใหม่ว่า “ควรไปต่อหรือพอแค่นี้”

ทำไมจึงเกิดความรู้สึกว่ามีแฟนเหมือนไม่มีขึ้นมาได้?


แฟนบางคนมีลักษณะห่างเหินเย็นชา ลักษณะแบบนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Emotionally Unavailable คำว่า Unavailable แปลว่า ไม่ว่าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการที่แฟนไม่ว่างแบบ Physically Unavailable มักสร้างปัญหาน้อยกว่า เพราะเป็นการไม่ว่างจริง ๆ เช่น งานยุ่ง ติดธุระ แต่การไม่ว่างแบบ Emotionally Unavailable จะต่างออกไปเพราะมันจะทำให้เกิดความคลุมเครือไม่ชัดเจนว่าแฟนไม่ว่างจริง ๆ หรือแค่ไม่ให้ความสำคัญ


ตัวอยู่ด้วยกันแต่ใจอยู่ที่ไหน คนที่มีแฟนเป็นพวก Emotionally Unavailable จึงมักเกิดความรู้สึกว่ามีแฟนเหมือนไม่มี นำไปสู่อารมณ์ทางลบต่าง ๆ เช่น น้อยใจ สับสน เจ็บปวด โดดเดี่ยวอ้างว้าง ไม่มีความสุข ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าอารมณ์นั้นย่อมมีความสัมพันธ์กับความคิดและพฤติกรรมด้วย การที่ต้องอยู่ในความสัมพันธ์ที่กระตุ้นอารมณ์ทางลบอย่างต่อเนื่องจึงมักทำให้ความสัมพันธ์มีปัญหาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง


ลักษณะของแฟนที่เป็นคนแบบ Emotionally Unavailable


1. เขาไม่เคยเป็นฝ่ายวางแผน


เขาหรือเธอมักจะเฉยเมยไม่กระตือรือร้น และปล่อยให้คุณเป็นฝ่ายเดียวที่คอยวางแผนต่าง ๆ เช่น การไปเที่ยววันหยุดยาว กิจกรรมวันครบรอบ หรือแผนในอนาคตที่จะมีร่วมกัน


2. เขาเป็นฝ่ายเลือก คุณเป็นฝ่ายยอม


เขาหรือเธอมักทำตัวเหมือนเป็นเจ้านาย ในการตัดสินใจทุกอย่างคุณมักต้องเป็นฝ่ายยอมละทิ้งความต้องการของตัวเองเพื่อทำตามใจแฟน เช่น คุณอยากจะไปกินข้าวนอกบ้านในวันเกิดของคุณแต่แฟนของคุณขี้เกียจออกจากบ้าน คุณก็เลยยอมสั่งอาหารมากินที่บ้านด้วยกันแทน


3. คุณรู้สึกว่าต้องพยายามอยู่ฝ่ายเดียว


แม้ว่าในบางครั้งคุณจะรู้สึกดีและมีความสุขเวลาที่อยู่กับแฟน แต่ในการที่จะรักษาความสัมพันธ์เป็นไปอย่างราบรื่นนั้นขึ้นอยู่กับคุณเพียงฝ่ายเดียว เช่น เวลาทะเลาะกันคุณเป็นฝ่ายเดียวที่ต้องง้อ เวลาคิดถึงกันคุณเป็นฝ่ายเดียวที่คอยทักหรือโทรหาแฟนก่อน และไม่ต้องถามถึงการทดลองหายไปเพราะเขาหรือเธอก็จะหายไปเลยเช่นกัน


4. ความสัมพันธ์แบบไม่มีชื่อเรียก


สาเหตุของการเป็นแฟนแบบ Emotionally Unavailable มักสัมพันธ์กับการเป็นคนที่ “กลัวการผูกมัด” เขาหรือเธอจึงมักเลี่ยงที่จะใช้คำระบุความสัมพันธ์เพราะมันเป็นคำที่จะทำให้เขาหรือเธอเกิดความกลัวขึ้นมา และอาจจะพยายามบ่ายเบี่ยงด้วยการออกตัวว่า “ยังไม่พร้อมจะจริงจังกับใคร” บางคนก็ชอบพูดถึงแฟนเก่าบ่อย ๆ ชอบเล่าเรื่องราวในอดีตที่ไม่สมหวัง


ซึ่งหากแฟนของคุณเป็นแบบนี้ก็มีความเป็นไปได้ว่าเขาหรือเธออาจจะมีบาดแผลทางใจจากอดีตที่มารบกวนความสัมพันธ์ในปัจจุบัน


5. ยิ่งคบกันไปยิ่งรู้สึกห่าง


ตอนคบกันใหม่ ๆ ก็ดูเหมือนจะไปกันได้ดี แฟนของคุณก็แบ่งปันเรื่องราวชีวิตกับคุณตามปกติ แต่ก็ไม่รู้ทำไมยิ่งคบกันไปนานวันขึ้นเขาหรือเธอกลับยิ่งทำตัวห่างเหิน หรือบางครั้งก็เหมือนมีอะไรในใจแต่ก็ไม่พูดออกมาซึ่งพอถามก็บอกว่าไม่มีอะไร ทำให้คุณเกิดความรู้สึกเหมือนมีกำแพงกั้นระหว่างคุณกับแฟน


6. แทนที่จะบอกว่าเขารู้สึกยังไง เขากลับมาสะท้อนความรู้สึกของคุณเหมือนเป็นกระจก


คุณดูไม่ออกว่าเขาหรือเธอรู้สึกยังไงกันแน่ เพราะทุก ๆ ครั้งเขาหรือเธอมักจะใช้วิธีการสะท้อนอารมณ์ของคุณให้คุณรู้ตัวว่าคุณรู้สึกอะไร แต่เขาหรือเธอกลับไม่เคยบอกความรู้สึกของตัวเองเลย เช่น ในเหตุการณ์ที่มีความขัดแย้งกัน เขาหรือเธอมักจะบอกว่าคุณกำลังวีนหรือกำลังหงุดหงิดไม่พอใจ แต่ตัวเองกลับนิ่งเฉยไม่แสดงอารมณ์อะไรออกมาและไม่บอกด้วยว่ารู้สึกยังไง


7. เขามักจะมาสายหรือทำลายแผน


เวลาที่เขาหรือเธอไม่อยากจะทำอะไรแต่ก็ไม่อยากจะปฏิเสธตรง ๆ ก็จะใช้วิธีมาสายหรือทำบางอย่างที่ทำให้ต้องล้มเลิกแผนที่วางเอาไว้ไป แม้ในบางครั้งเขาหรือเธอจะพยายามแสดงอาการขอโทษอย่างจริงใจ แต่มันก็เดาออกได้ไม่ยากว่าจริง ๆ แล้วเขาหรือเธอไม่ได้เห็นด้วยกับแผนของคุณตั้งแต่แรกแล้วและไม่ได้สนใจความรู้สึกของคุณ


ควรไปต่อหรือพอแค่นี้?


ไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับคำถามนี้ เพราะความสัมพันธ์ของแต่ละคู่มีรายละเอียดที่เฉพาะตัว รวมไปถึงสาเหตุที่ทำให้แต่ละคนกลายเป็นแฟนแบบ Emotionally Unavailable ก็อาจจะไม่เหมือนกัน ดังนั้น ก่อนที่จะทำการตัดสินใจก็ควรจะมองอย่างรอบคอบ เพราะบางคนก็ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นคนที่เย็นชาห่างเหิน บางคนก็อยากจะมีความรักดี ๆ แต่ก็กลัวการผูกมัด เวลามีความสัมพันธ์ก็เลยกลายเป็นเจ็บทั้งสองฝ่าย


ซึ่งปัญหาความสัมพันธ์ในบางกรณีหากได้ไปพบนักจิตบำบัดที่เชี่ยวชาญด้านความรักความสัมพันธ์ ก็สามารถช่วยปรับความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้ โดยหลายคนหากได้รับการทำจิตบำบัดที่ช่วยบรรเทาอาการกลัวการผูกมัดก็สามารถเปลี่ยนแปลงกลายเป็นคนที่สามารถมีความรักและยอมรับความรักจากคนอื่นได้


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

[1] What It Really Means to Be Emotionally Unavailable. Retrieved from https://www.healthline.com/health/emotionally-unavailable


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


1 Comment


D. K.
D. K.
Aug 10

เราจำเป็นต้องเลิกกันเพราะยิ่งเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้นเขาก็ยิ่งเย็นชา... her blog

Like
facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page