เสพติดการอ่านข่าวร้ายทั้งที่รู้ว่ามันไม่ดีต่อใจ คุณอาจเข้าข่ายมีพฤติกรรม ‘Doomscrolling’
คุณเป็นคนหนึ่งไหมคะที่หากเลื่อน feed ใน Social Media มาเจอข่าวร้ายชวนให้รู้สึกหดหู่แล้วจะไม่สามารถมูฟออนได้เลย บางครั้งก็ตามข่าวแทบจะทุก platform ไม่ว่าจะ Facebook Twitter Instragram Tiktok เรียกว่ายอมขอบตาดำเป็นหมีแพนด้าเพื่อตามข่าวร้ายที่กำลังเป็นกระแสกันเลยทีเดียว หากคำตอบของคุณคือ “ใช่” แล้วล่ะก็ คุณอาจจะมีพฤติกรรมแบบที่เรียกว่า “Doomscrolling”
Doomscrolling มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษสองคำมาผสมกัน โดยคำว่า Doom แปลว่า “หายนะหรือเคราะห์กรรม” และคำว่า Scrolling ซึ่งแปลว่า “การเลื่อน” โดยคำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกพฤติกรรมของคนที่เช็คโทรศัพท์มือถือเกินกว่า 2 ชั่วโมงเพื่อเลื่อนดูข่าวร้ายที่อยู่ใน Social Media จนแทบจะไม่หลับไม่นอน ซึ่งพฤติกรรม Doomscrolling นี้สามารถบั่นทอนสุขภาพจิตของคนเราในระยะยาว โดยที่เจ้าตัวอาจจะไม่ทันรู้เลยด้วยซ้ำว่าสภาพจิตของตัวเองกำลังแย่ลงที่ละนิดเหมือนน้ำเซาะหินที่ทุกวันหินมันยังกร่อนอย่างไร พฤติกรรมเสพติดการเลื่อนอ่านข่าวร้ายก็จะกัดกร่อนสุขภาพจิตให้แย่ลงไปทีละนิดละหน่อยอย่างนั้น โดยบางคนที่เสพติดการติดตามข่าวร้ายแล้วใช้เวลาไปกับการเลื่อนดูมันเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจจะรู้สึก “ดิ่ง” ไปเลย
ทำอย่างไรหากรู้ตัวแล้วว่าตัวเองเข้าข่ายมีพฤติกรรม Doomscrolling?
1. จัดตารางเวลาให้ตัวเอง
คุณอาจจะแบ่งเวลาให้ตัวเองเป็นช่วง ๆ ว่าช่วงไหนที่คุณจะอนุญาตให้ตัวเองอ่านข่าวและช่วงไหนจัดไว้เป็นเวลาสำหรับพักจากการเสพข่าว เพื่อไม่ให้ตัวเองเสพข่าวตลอดทั้งวันทั้งคืน โดยเฉพาะการเลื่อนอ่าน ‘new feed’ ในช่วงที่ใกล้จะเข้านอน มันมีผลต่อการนอนของคุณ ไม่ว่าเป็นการทำให้นอนไม่หลับ หลับยาก หรือฝันร้าย ทำให้การนอนหลับของคุณไม่มีคุณภาพ
2. เลือกติดตามแค่บางแหล่งข่าว
สมัยก่อนที่หนังสือพิมพ์เป็นสื่อหลักในการนำเสนอข่าว คนเราจะมีโอกาสได้อ่านข่าวต่อหนึ่งวันในปริมาณที่จำกัด แต่เมื่อแหล่งข่าวเปลี่ยนรูปแบบมาเป็น digital แล้ว กลายเป็นว่าคนเราจะสามารถได้รับข่าวสารต่าง ๆ อย่างไม่จำกัด และยิ่งกดติดตามแหล่งข่าวเอาไว้มากมายหลายแหล่ง ก็จะยิ่งทำให้ new feed เต็มไปด้วยข่าวสารหลั่งไหลเข้ามาอย่างทะลักทะลาน คุณจึงควรที่จะเลือกติดตามแหล่งข่าวเพียงบางแหล่ง และควรจะคัดเลือกแหล่งข่าวที่มีความน่าเชื่อถือสูง นำเสนอข้อเท็จจริงมากกว่าดึงดราม่าให้สุขภาพจิตย่ำแย่หากไปเสพมันเยอะ ๆ
3. Unsubscribe ช่องทางที่นำเสนอแต่ข่าวดราม่าหนัก ๆ
บางแหล่งข่าวมักจะนำเสนอพาดหัวข่าวที่เน้นดราม่าหนัก ๆ เพื่อดึงความสนใจจากผู้อ่านให้ได้มากที่สุด แต่อาจจะไม่ค่อยมีข้อเท็จจริงหรือประโยชน์อะไรให้กับผู้ที่กดติดตามมากมายนักเมื่อเทียบกับแหล่งข่าวที่นำเสนอเพียงข้อเท็จจริงล้วน ๆ การกด Unsubscribe ช่องที่นำเสนอข่าวดราม่าหนัก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรม Doomscrolling แล้วเลือกติดตามแค่บางช่องที่คุณชอบมากจริง ๆ ก็จะช่วยลดการมองเห็นข่าวสารที่บั่นทอนสุขภาพจิตของคุณลง
4. ห่างจากโทรศัพท์มือถือบ้าง
คุณอาจจะต้องหากิจกรรมทำเพื่อลดการใช้เวลาไปกับโทรศัพท์มือถือลง เช่น ไปทำอาหาร ออกไปเดินเล่น (แบบไม่เอาโทรศัพท์มือถือไป) ใช้เวลาอยู่กับคนที่คุณรักโดยแสร้งทำเป็นเหมือนคุณอยู่ใน พ.ศ. 2500 ที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจของคุณให้กลับมามีพลังบวกคล้าย ๆ กับการทำ “Social Detox” ให้กับตัวคุณเอง
5. อย่าให้ข่าวร้ายกลายมาเป็นแหล่งข้อมูลหลักของคุณ
Social Media มักจะทำให้คนเราต้องเจอกับเรื่องหดหู่อยู่ทุกวัน และยิ่งคุณไปกดดูข่าวร้ายก็ยิ่งกลายเป็นการเปิดประตูสู่ความหดหู่ให้กับตัวเอง ดังนั้น คุณควรจะเลือกแหล่งข้อมูลให้กับตัวเอง โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ช่วยให้คุณพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งดีกว่าปล่อยให้ตัวเองเกิดความรู้สึกดิ่งไปกับข่าวหดหู่จนกลายเป็นพฤติกรรม Doomscrolling ที่สุดท้ายมันก็กลับมาบั่นทอนสุขภาพจิตของคุณ
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเสพติดการเสพข่าวร้ายบางทีก็มีปัจจัยภายในลึก ๆ ที่ขับเคลื่อนให้คนเราไม่อยากจะเลิกติดตามข่าวเหล่านั้นแม้มันจะทำให้รู้สึกหดหู่แค่ไหนก็ตาม เช่น กลัวตกข่าว (Fear of Missing Out : FOMO) กลัวคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ซึ่งคุณอาจจะต้องฝึกให้ตัวเองมี Self-awareness เพิ่มขึ้น เพื่อจะได้เป็นคนที่ใช้ประโยชน์จากข่าวและไม่กลายเป็นคนที่ถูกใช้ประโยชน์จากผู้ผลิตสื่อใน Social Media ซึ่งหากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจจะฝึกให้ตัวเองมี Self-awareness เพิ่มขึ้น ก็สามารถมองหาคอร์สจิตวิทยาสั้น ๆ และใช้เวลาไปกับคอร์สพัฒนาตัวเองแทน ซึ่งก็สามารถช่วยลดพฤติกรรม Doomscrolling ได้เช่นกัน
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] Doomscrolling Is Slowly Eroding Your Mental Health. Retrieved from. https://www.wired.com/story/stop-Doomscrolling/
[2] ARE YOU DOOMSCROLLING RIGHT NOW? HERE’S HOW TO STOP. Retrieved from. https://www.itstimetologoff.com/2020/07/17/are-you-Doomscrolling-right-now-heres-how-to-stop/
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) การศึกษา: ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การทำงาน: พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
และเป็นนักเขียนของ istrong
Kommentare