เข้าใจ 4 บุคลิกของเพื่อนร่วมงาน ตามแนวคิดจิตวิทยา DISC Model
การที่เราจะต้องทำงานร่วมกับใครก็ตามนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้ “ธรรมชาติ” ของเพื่อนร่วมงานแต่ละคนก่อน เพื่อให้การทำงานราบรื่น โดยนักจิตวิทยาองค์กรก็จะมีการนำทฤษฎีจิตวิทยาองค์กร หรือทฤษฎีจิตวิทยาสังคมมาใช้ในการประเมินบุคลิกภาพ แนวคิด ทัศนคติในการใช้ชีวิตของพนักงานในองค์กร ผ่านแบบทดสอบต่าง ๆ เช่น MBTI (Myers-Briggs Type Indicator) ซึ่งสามารถประเมินบุคลิกภาพได้มากถึง 16 รูปแบบ หรือ DISC Model ที่เราจะมาพูดถึงกันในบทความจิตวิทยานี้ ที่สามารถประเมินบุคลิกภาพออกมาเป็น 4 ลักษณะ ซึ่งสามารถบอกได้ถึงจุดแข็ง ข้อควรระวัง และวิธีการประสานงาน ตามบุคลิกของคนแต่ละแบบค่ะ
DISC Model เป็นแนวคิดของ William Marston ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชื่อดังจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) โดยสามารถแปลผลบุคลิกภาพออกมาได้ 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ (1) Dominance – บุคลิกภาพแบบผู้นำ (2) Influence – บุคลิกภาพแบบผู้สร้างแรงบันดาลใจ (3) Steadiness – บุคลิกภาพแบบมั่นคง และ (4) Compliance – บุคลิกภาพแบบยอมตาม โดยเพื่อนร่วมงานแต่ละกลุ่มก็มีจุดแข็ง ข้อควรระวัง และแนวทางการประสานที่แตกต่างกัน ดังนี้ค่ะ
Dominance – บุคลิกภาพแบบผู้นำ
จุดแข็ง : มาเริ่มที่เพื่อนร่วมงานกลุ่มแรก คือ Dominance หรือผู้ที่มีบุคลิกภาพที่มีความเป็นผู้นำสูง โดยคนกลุ่มนี้มีจุดแข็งอยู่ที่ความมั่นใจ ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ ไม่ชอบอยู่ในกรอบ และบ่อยครั้งที่มักจะเป็นผู้สร้างกฎขึ้นมาเอง เป็นกลุ่มคนที่ทำงานเร็ว ดี มีประสิทธิภาพ และมักจะเป็นดาวในห้องประชุม คือ แสดงความคิดเห็นบ่อย เป็นตัวหลักที่ช่วยให้การประชุมขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว ชอบความท้าทาย
ข้อควรระวัง : แต่เพื่อนร่วมงานกลุ่มนี้ก็มีข้อควรระวัง ก็คือ พวกเขามักจะเผลอผิดพลาดในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ทำงานเร็วแต่ไม่ครบ ทำงานไวแต่ไม่เรียบร้อย เป็นต้น นอกจากนี้ด้วยความที่พวกเขามั่นใจในตัวเองสูง จึงมักจะไม่ค่อยฟังใคร จะนำอย่างเดียว ไม่ค่อยทำงานเป็นทีม เมื่อต้องร่วมทีมจึงค่อนข้างเข้าหายากสักหน่อย
เทคนิคประสานงานให้ราบรื่น : ด้วยเหตุนี้นักจิตวิทยาองค์กรจึงได้แนะนำว่า ในการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานกลุ่มนี้ เราต้องบอกผลลัพธ์ให้ชัดเจน เพื่อ Set Goal หรือกำหนดเป้าหมายร่วมกันว่า ทำแล้วได้อะไร? รวมถึงกำหนดกรอบเวลางานที่ชัดเจน และเราจะต้องให้อิสระในการทำงานแก่เขา โดยเรามีหน้าที่หลักคือตรวจงานก่อนส่งมอบงาน เพื่อเก็บรายละเอียดของงานให้สมบูรณ์ค่ะ
2. Influence – บุคลิกภาพแบบผู้สร้างแรงบันดาลใจ
จุดแข็ง : กลุ่มบุคลิกภาพต่อมาของ DISC Model คือ Influence หรือผู้มีอิทธิพลต่อคนในองค์กร หรือผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนในองค์กร โดยจุดแข็งของเพื่อนร่วมงานกลุ่มนี้ คือ มองโลกในแง่ดี มีพลังล้นเหลือ เข้าสังคมเก่ง ยิ้มง่าย อัธยาศัยดี มีวาทศิลป์ในการโน้มน้าวใจผู้อื่น เป็นดาวเด่นในที่ทำงาน ไปไหนใคร ๆ ก็รัก รู้จักคนทั่วทั้งองค์กรเลยทีเดียว เป็นผู้ที่ทำให้องค์กรน่าอยู่
ข้อควรระวัง : แต่ข้อควรระวังของผู้ที่มีบุคลิกภาพ แบบ Influence ก็คือ เน้นการเข้าสังคมจนลืมทำงาน เป็นคนที่นำเสนองานได้เก่งกว่าลงมือทำงานจริง อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะไว้ใจคนอื่นจนเกินไป และปฏิเสธใครไม่เป็นเพราะต้องการเป็นที่รักของทุกคน
เทคนิคประสานงานให้ราบรื่น : ในการร่วมงานกับ Influence นั้นง่ายที่สุดในบรรดา 4 บุคลิกภาพของ DISC Model แล้วค่ะ เพราะคนกลุ่มนี้ใจดี มนุษยสัมพันธ์ดี แม้จะมีจุดอ่อนที่ไม่ค่อยลงมือทำก็ตาม ดังนั้นเทคนิคการร่วมงานกับพวกเขาให้ราบรื่น ก็คือ อธิบายรายละเอียดงานให้เขาเข้าใจอย่างแท้จริง ซึ่งเราอาจจะต้องอธิบายทุกขั้นตอนเพื่อให้เขาเห็นภาพ รวมถึงมีการแบ่งงานที่ชัดเจนว่าเขาต้องทำอะไร และต้องกำหนดกรอบเวลาให้ชัดว่าต้องส่งงานเมื่อไร ไม่เช่นนั้นน่าจะปล่อยยาวค่ะ
3. Steadiness – บุคลิกภาพแบบมั่นคง
จุดแข็ง : ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบ Steadiness ถือว่าเป็นมนุษย์งานของแท้เลยค่ะ เพราะพวกเขาจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานมาก ทำจนกว่าจะเสร็จ คิดเป็นขั้นเป็นตอน มีการวางแผนก่อนลงมือทำเสมอ ใจเย็นสุด เวลาโดนดุ หรือโดนนินทา จะนิ่ง และทำงานต่อไปเสมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น หากงานมาอยู่ในมือคนกลุ่มนี้ รับรองเลยค่ะว่าคุณภาพระดับ 5 ดาวแน่นอน
ข้อควรระวัง : ถึงแม้คนกลุ่มนี้จะดีเลิศเรื่องการทำงาน แต่ก็ยังมีข้อควรระวังในเรื่องการเข้าสังคมค่ะ ดูเผิน ๆ จะเหมือนว่าคนกลุ่มนี้ไม่ยุ่งกับใคร แต่จริง ๆ แล้วโดยส่วนใหญ่จะมีบุคลิกภาพแบบ Introvert คือ ชอบอยู่กับตัวเองมากกว่า และถึงแม้คนกลุ่มนี้จะมีความยืดหยุ่นสูง แต่ก็ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบเรื่องเซอร์ไพรส์ และอาจแสดงท่าทีหงุดหงิดได้ถ้าหากมีการเปลี่ยนแผนกะทันหัน
เทคนิคประสานงานให้ราบรื่น : หากคุณมีเพื่อร่วมงานลักษณะนี้อยู่ในทีม ขอให้คุณสบายใจได้เลยค่ะว่างานเสร็จและออกมาดีเยี่ยมแน่นอน โดยเทคนิคการประสานกับคนกลุ่มนี้ ก็คือ อธิบายให้เขาเข้าใจว่าเข้าต้องทำอะไรบ้าง หากมีคู่มือให้เขาด้วยจะดีมาก เพราะคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มชอบอ่าน ทบทวน และลุยงานด้วยตัวเอง หากไม่ใช่ปัญหาใหญ่เขามักไม่รบกวนใครมาช่วยง่าย ๆ ด้วยเหตุนี้เราอาจจะต้องคอยสังเกตเขาหน่อยว่าเขาต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ เพราะคนกลุ่มนี้ขี้เกรงใจมาก จนเราต้องเป็นฝ่ายเสนอความช่วยเหลือ เขาถึงจะยอมแบ่งงานให้เราทำ (บ้าง)
4. Compliance – บุคลิกภาพแบบปฏิบัติตามกฎ
จุดแข็ง : มาถึงบุคลิกภาพกลุ่มสุดท้ายกันแล้วนะคะ สำหรับกลุ่ม Compliance จะเป็นเพื่อนร่วมงานที่มีบุคลิกภาพแบบผู้ปฏิบัติตามกฎระเบียบแบบไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ในการทำงานสักอย่างหนึ่ง คนกลุ่มนี้จะตรวจทาน และทบทวนแล้วทบทวนอีกว่างานที่ออกมาตามคำสั่ง 100% หรือไม่ เพื่อนร่วมงานกลุ่มนี้จะทำตามคำสั่งองค์กรทุกอย่าง จะให้ความร่วมมือกับทุกกิจกรรมขององค์กรแม้จะไม่อยากทำ ไม่อยากเข้าร่วมก็ตาม นอกจากนี้พวกเขายังเป็นนักวิเคราะห์ นักวางแผนตัวยง มีความรอบคอบสูง ช่างสังเกต
ข้อควรระวัง : ด้วยความที่คนกลุ่มนี้ต้องทำตามกฎระเบียบอยู่เสมอ จึงส่งผลให้การทำงานค่อนข้างช้า มีความกังวลสูง ไม่กล้าออกนอกกรอบ จึงมีข้อจำกัดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ งานที่เขาทำออกมาจะเหมือนสั่งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ คือ จะเป็นงานรูปแบบเดิม ไม่มีการประยุกต์ หรือปรับเปลี่ยนใด ๆ และถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในองค์กรคนกลุ่มนี้จะเกิดความเครียดสูงมาก นอกจากนี้การถูกตำหนิ หรือพบข้อผิดพลาดในงานแม้จะเพียงเล็กน้อย จะกลายเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับพวกเขาทันที
เทคนิคประสานงานให้ราบรื่น : ตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในทีมสำหรับเพื่อนร่วมงานกลุ่มนี้ คือ ผู้ตรวจสอบความถูกของผลงานค่ะ เพราะพวกเขาจำกฎระเบียบ ข้อบังคับ และแบบฟอร์ม หรือรูปแบบของงานได้อย่างขึ้นใจ รวมถึงอย่าไปปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของเขา เพราะนั่นจะทำให้พวกเขาเครียดมาก และอย่าลืมย้ำกำหนดส่งงานกับเขาบ่อย ๆ ไม่เช่นนั้นอาจจะส่งล่าช้าได้ เพราะพวกเขาจะกังวลอยู่กับความสมบูรณ์แบบนั่นเอง
ถึงแม้ว่า DISC Model จะแบ่งคนออกมาเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามบุคลิกภาพหลักก็ตาม แต่นักจิตวิทยาก็ได้เน้นย้ำว่า คนเราหนึ่งคนอาจมีหลายบุคลิกภาพ และในสถานการณ์ที่แตกต่างกันเราก็อาจจะแสดงบุคลิกภาพแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม การที่เราสามารถรู้ได้ว่าตัวเราเองมีบุคลิกภาพหลักแบบไหน หรือเพื่อนร่วมงานมีบุคลิกภาพหลักแบบใด ก็จะเป็นประโยชน์ในการปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นค่ะ
หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : HR Management. (2565, 21 พฤษภาคม). สำรวจพฤติกรรมการทำงาน กับคน 4 ประเภท ไปกับ DISC Model. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://th.hrnote.asia/personnel-management/220521-disc-model/
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
コメント