top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เหตุผลที่ไม่ควรบอกว่าใครเป็นโรคซึมเศร้า หากว่าเขายังไม่เคยพบจิตแพทย์



แม้ว่าสมัยนี้จะมีเครื่องมือในการประเมินโรคซึมเศร้าให้ใช้ได้ฟรีผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ แต่ผลการประเมินที่ได้จากเว็บไซต์เหล่านั้นไม่สามารถใช้วินิจฉัยว่าใครเป็นโรคซึมเศร้าได้ ทำได้เพียงแค่ระบุความเสี่ยงและแนวโน้มเท่านั้น ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยตอบคำถามที่ว่า “ฉันต้องไปหาหมอหรือยังนะ?” โดยจิตแพทย์เท่านั้นที่จะวินิจฉัยหรือระบุได้ว่าใครป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและควรได้รับการรักษาไปในทิศทางใด หรืออย่างน้อยเมื่อเกิดความสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ก็ควรไปรับการตรวจจากแพทย์ก่อน เหตุผลได้แก่


1. เพราะมีโรคทางกายบางโรคที่ส่งผลให้อารมณ์มีการเปลี่ยนแปลง

โรคทางกายบางโรคทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่คล้ายกับคนเป็นโรคซึมเศร้า หากไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างละเอียดแล้วไปแก้ปัญหาด้วยตนเอง เช่น ไปขอแบ่งยาจากผู้ป่วยที่กำลังรับการรักษามากิน เพราะคิดว่าอาการมันเหมือนกัน น่าจะใช้รักษาด้วยชนิดเดียวกันนี้ได้ การทำเช่นนี้นอกจากจะทำให้ได้รับยาที่ไม่เหมาะสมกับอาการของตัวเองแล้ว หากผู้ป่วยมีโรคทางกายก็จะทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตามไปด้วย โดยโรคทางกายที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า ยกตัวอย่างเช่น


  • ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome: CFS) ผู้ป่วยมักมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ สมาธิความจำด้อยประสิทธิภาพลง และรู้สึกอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง 

  • โรคติดเชื้อจากแบคทีเรียจากเห็บ (Lyme Disease) ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการสมาธิความจำถดถอย ซึมเศร้า มึนงง และอ่อนเพลีย

  • โรคต่อมไทรอยด์ผิดปกติ (Thyroid Disorder) ผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ (hypothyroid) มักจะมีอารมณ์ซึมเศร้าหดหู่ ซึ่งโดยมากแล้วผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำจะไม่ได้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็มักไม่ได้มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ

  • โรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาเชื้อดังกล่าวก็จะไปทำลายประสาทและสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาด้านความคิดความจำ และมีความคิดที่คล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าในระดับรุนแรง 

  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea) ผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลียในตอนกลางวัน และไม่ว่าจะหลับมากหรือน้อยก็จะยังรู้สึกอ่อนเพลียอยู่ดี ทำให้มักมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้าไม่สดชื่น และมีอาการวิตกกังวล

  • เนื้องอกประสาทต่อมไร้ท่อ (Neuroendocrine Tumors) ยกตัวอย่างเช่น เนื้องอกต่อมหมวกไต (pheochromocytoma) ซึ่งส่งผลให้ร่างกายผลิต adrenaline ออกมามากเกินไป ทำให้ผู้ป่วยบางคนมีอาการแพนิกหรือวิตกกังวล เหงื่อออกมาก ปวดหัว และใจสั่น

  • การขาดวิตามินดี (Vitamin D deficiency) วิตามินดีจะช่วยการทำงานของร่างกายเป็นไปได้ตามปกติ การขาดวิตามินดีจนร่างกายเสียสมดุลจะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามร่างกาย และอารมณ์มีการเปลี่ยนแปลง


2. ยังมีโรคทางจิตใจอีกหลายโรคที่มีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า ยกตัวอย่างเช่น

  • โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) 

  • ความผิดปกติที่เกิดหลังจากเผชิญเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ (Posttraumatic stress disorder: PTSD)

  • กลุ่มอาการผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจอย่างรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual dysphoric disorder: PMDD)


จะเห็นได้ว่าโรคที่ยกตัวอย่างขึ้นมาจะมีอาการบางส่วนที่มีความคล้ายคลึงกับอาการหลัก ๆ ของโรคซึมเศร้าซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการดังต่อไปนี้

  1. ความอยากอาหารมีการเปลี่ยนแปลง

  2. อ่อนเพลีย

  3. รู้สึกผิดหรือรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า

  4. มีอารมณ์หดหู่ซึมเศร้า

  5. ไม่รู้สึกว่าอยากจะทำอะไรแม้แต่สิ่งที่เคยเป็นความชอบ

  6. พลังงานน้อย (ทำให้ทำอะไรช้ากว่าที่เคยเป็น เช่น คิดช้า พูดช้า ตัดสินใจช้า)

  7. มีความคิดอยากตายหรือรู้สึกว่าถ้าตายไปก็คงดี

  8. มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ

  9. สมาธิความจำลดลง

  10. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นจนสังเกตได้


ตามที่ยกตัวอย่างมาแล้วทั้งหมด จะเห็นได้ว่าการจะบอกให้แน่ชัดว่าใครป่วยหรือไม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้นไม่ง่ายเลย แม้แต่ผู้เขียนเองที่มีโปรไฟล์สายตรงด้านจิตวิทยาก็ขอบอกว่าในชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยวินิจฉัยโรคให้กับคนที่มาปรึกษา เพราะคนที่จะบอกหรือวินิจฉัยโรคได้จะต้องมีทั้งคุณวุฒิและประสบการณ์ที่ทำให้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรค ซึ่งหลายครั้งจิตแพทย์เองก็ต้องทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ เช่น นักจิตวิทยาคลินิกที่จะชำนาญด้านการใช้เครื่องมือทดสอบทางจิตวิทยา เนื่องจากผลกระทบที่ตามมานั้นอาจรุนแรงถึงขั้นผู้ป่วยมีการเสียชีวิตซึ่งเป็นความสูญเสียที่ไม่สามารถซ่อมแซมหรือรีเซตกลับคืนมาใหม่ได้ 


และในทางตรงข้ามกัน ผู้เขียนก็อยากเชิญชวนให้ไม่ตัดสินใครว่า “ไม่ได้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า” ด้วยเช่นกัน เนื่องจากบ่อยครั้งก็มีคนมาบอกกับผู้เขียนว่า “คนนี้ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าหรอก ก็แค่วอนนาบี เรียกร้องความสนใจ” ในส่วนนี้อยากชวนให้ระมัดระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากโรคซึมเศร้านั้นไม่ได้มาในรูปแบบซึมเศร้าหดหู่เสมอไป ยังมีโรคซึมเศร้าแบบแฝงที่ทำให้ผู้ป่วยมีลักษณะแบบ “ยิ้มให้คนทั้งโลก ร้องไห้กับตัวเอง”


ซึ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการแบบนี้มักจะพยายามไม่แสดงออกว่าตัวเองกำลังรู้สึกทุกข์ทรมานหรือมีปัญหาอยู่  แต่จะพยายามทำให้คนรอบข้างรู้สึกสบายใจด้วยการยิ้มหัวเราะ บางคนยังมีนิสัยชอบสร้างสีสันให้กับกลุ่มเพื่อนอีกด้วย ดังนั้น ไม่ควรตัดสินว่าใครเรียกร้องความสนใจนะคะ หากรู้สึกเหนื่อยกับพฤติกรรมของผู้ป่วยก็ขอให้เปลี่ยนจากการตำหนิหรือด่วนตัดสินผู้ป่วยเป็นการสนับสนุนให้ผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอจะดีกว่าค่ะ เนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาหายได้ ขอเพียงได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page