โลกซึมเศร้าของตัวละคร Calum จากหนัง Aftersun ในมุมมองของนักเขียน istrong
หากใครเป็นหนังสายรางวัลหรือหนังนอกกระแสก็คงจะรู้จักหนังเรื่อง Aftersun หรืออาจมีโอกาสได้รับชมไปแล้ว ซึ่งหนังเรื่องนี้ค่อนข้างจะเป็นหนังปลายเปิดที่คนดูสามารถตีความได้อย่างอิสระไปตามความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ของตนเอง ในส่วนของผู้เขียนเองนั้นก็มีมุมมองต่อตัวละคร Calum ในฐานะที่เป็นคนทำงานด้านการปรึกษาเชิงจิตวิทยาว่าตัวละคร Calum นั้นมีอาการหลายอย่างที่ดูคล้ายผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ทำให้การรับชมหนังเรื่อง Aftersun สำหรับผู้เขียนมันเหมือนกับการได้สัมผัสเข้าไปในโลกซึมเศร้าของ Calum ก็เลยอยากจะแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้เขียนผ่านบทความ ได้แก่
1. ในบางช่วงเวลาอาการก็สงบจนดูเหมือนไม่ได้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะมีช่วงเวลาที่ก็ดู “ฟังก์ชั่นดี” คือทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ มีการออกไปเที่ยว พูดคุยกับคนใกล้ชิดอย่างสนุกสนาน บางเวลาก็ดูร่าเริงเต้นรำฮัมเพลง จนหลายครั้งคนรอบข้างก็ดูไม่ออกเลยว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าหากเขาไม่บอกว่าเขาเป็น ซึ่งก็อาจมาจากทั้งในแบบที่เขาอยู่ในช่วงที่อาการสงบจริงๆ และแบบที่เขาพยายามเก็บซ่อนความเศร้าเอาไว้ไม่ยอมให้คนอื่นเห็น คนรอบข้างจะต้องเป็นคนที่ไวต่อความรู้สึกและช่างสังเกตมากจริง ๆ ถึงจะสัมผัสได้ว่าคนใกล้ชิดกำลังต้องการความช่วยเหลือ
2. อาการของโรคซึมเศร้าที่แสดงออกในปัจจุบันมักสัมพันธ์กับประสบการณ์ในวัยเด็ก
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะมีประวัติได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดประสบการณ์กระทบกระเทือนจิตใจจนฝังแน่นอยู่ในความทรงจำทางอารมณ์ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกสาวถามถึงงานวันเกิดในวัยเด็กของ Calum ว่าบรรยากาศงานวันเกิดเป็นยังไงบ้าง Calum เล่าว่าในวันเกิดปีนึงของเขา เขาไปบอกแม่ว่าวันนี้เป็นวันเกิดเขา แต่สิ่งที่เขาได้รับก็คือเขาถูกแม่ดึงหูข้างหนึ่งแล้วลากตัวไปหาพ่อของเขาเพื่อให้พ่อของเขาทำอะไรสักอย่าง ซึ่งเขาก็เลือกโทรศัพท์ของเล่นเป็นของขวัญวันเกิดให้กับตัวเอง การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมสามารถทำให้เด็กเกิดบาดแผลทางใจได้ และบาดแผลทางใจรวมถึงความตึงเครียดที่สะสมเป็นเวลานานสามารถกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ในภายหลัง
3. มักจะงีบหลับในตอนกลางวันแม้ว่าตอนกลางคืนก็นอนหลับไม่ได้อดนอน หรือบางทีก็นอนไม่หลับ
Calum มีพฤติกรรมหนึ่งที่ตรงกับสัญญาณของโรคซึมเศร้าก็คือการนอนหลับมากเกินไปหรือบางทีก็นอนไม่หลับ ในหนังคนดูจะเห็นได้ว่า Calum มักจะงีบหลับบ่อย ๆ ในตอนกลางวัน ทั้งที่ในตอนกลางคืนเขาก็นอนหลับ แต่ก็จะมีบางคืนที่เขาปล่อยใจล่องลอยไปกับความคิดของตัวเองไม่มาเข้านอน แม้ว่าจะดึกดื่นมากแล้วก็ตาม
4. ใช้สารเสพติดมากขึ้น
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคนจะมีพฤติกรรมใช้สารเสพติดมากขึ้น ซึ่งจะเห็นจาก Calum ว่าเขามักจะดื่มหนักและมีการสูบบุหรี่ ซึ่งในหนังเราอาจจะเห็นเพียงฉากสั้น ๆ แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจริง ๆ บางคนจะดื่มหนักมากจนแทบจะกลายเป็นคนติดเหล้า หรือบางคนก็สูบบุหรี่เป็นซอง ๆ ในเวลาเพียงแค่หนึ่งวัน โดยที่ตัวผู้ป่วยก็ไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมดังกล่าวนั้นมาจากอาการของโรคซึมเศร้า แต่เขาคิดว่าเหล้าบุหรี่ช่วยให้ความไม่สงบในใจมันลดลงจึงเข้าใจว่ามันคือตัวช่วยในการเยียวยา แต่ในระยะยาวแล้วผลมันจะตรงกันข้ามเลยก็คือเหล้าบุหรี่(และสารเสพติดประเภทอื่น ๆ รวมถึงกัญชา) จะทำให้อาการของโรคซึมเศร้าแย่ลง
5. รู้สึกไม่ดีพอ ไม่มีค่า นำไปสู่ความรู้สึกเกลียดตัวเอง
ความรู้สึกเกลียดตัวเอง (self-loathing) มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นผลมาจากอาการของโรคซึมเศร้าที่ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดต่อตนเองในทางลบ เช่น ไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ ไม่คู่ควร ทำให้ผู้ป่วยเชื่อว่าตัวเองไร้ค่า ไม่มีค่า และตามมาด้วยความรู้สึกเกลียดตัวเอง ในข้อนี้ผู้เขียนอยากชวนให้ทั้งผู้ป่วยและคนรอบข้างของผู้ป่วยระมัดระวังให้มาก เพราะผู้ป่วยที่อยู่กับความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและเกลียดตัวเองเป็นเวลานาน ๆ มักจะนำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตาย (suicide idea) ในทางกลับกัน พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยทำก็สะท้อนถึงความคิดฆ่าตัวตาย เหมือนที่ Calum ทำพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ยืนที่ราวระเบียง หายใจผ่านผ้าที่เปียกน้ำ เดินลงทะเลในคืนที่มืดมิด หรือก่อนหน้าที่จะเริ่มเรื่องราว คนดูก็ไม่ทราบเลยว่าเขาต้องใส่เฝือกที่แขนเพราะไปทำอะไรมา ซึ่งมันอาจจะมาจากการพยายามทำร้ายตัวเองก็ได้ สัญญาณอันตรายก็คือการเริ่มตระเตรียม มีการทำภารกิจที่ดูเป็น mission สุดท้าย เช่น ใช้เงินเกือบทั้งหมดของตัวเองเพื่อซื้อความสุขทั้งที่กำลังมีปัญหาการเงิน มีการเขียนข้อความที่ดูเหมือนเป็นการบอกลาหรือสั่งเสีย ฯลฯ
สำหรับคนที่อ่านแล้วรู้สึกว่าตัวเองเข้าข่ายหลายข้อ ผู้เขียนแนะนำให้รีบไปพบจิตแพทย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ และอยากให้ระลึกเอาไว้เสมอว่าอาการที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ตัวคุณ แต่มันเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพจิตบางอย่างที่จำเป็นต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อรับความช่วยเหลือ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ ISTRONG
Comments