top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้จักกลไกป้องกันตนเองแบบ Projection เพื่อลดพฤติกรรม “ตั้งใจจะว่าเขา..แต่ดันเข้าตัวเอง”



“ตั้งใจจะว่าเขา..แต่ดันเข้าตัวเอง” น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่หลายคนเคยเจอบ่อยหรืออาจจะเคยเป็น ส่วนใหญ่แล้วการที่ใครสักคนตั้งใจจะต่อว่าหรือติเตียนคนอื่นแต่มันดันกลายเป็นเหมือนมาพูดต่อว่าตัวเองมักเกิดขึ้นโดยผู้พูดเองก็ไม่รู้ตัว และมักจะเป็นบุคคลที่สามซึ่งอยู่ในเหตุการณ์มากกว่าที่รู้สึกได้ว่ามันเหมือนเป็นการ “ส่องกระจก” พูดให้ตัวเองฟัง ปรากฏการณ์นี้จัดว่าเป็นกลไกป้องกันตนเอง (defense mechanism) ประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “Projection”


คำว่า “Projection” ตรงกับภาษาไทยว่า “การฉายภาพ” หากใครเคยใช้เครื่องฉายภาพ (projector) ก็จะทราบว่ากลไกของมันคือการฉายภาพผ่านระบบเลนส์ไปยังจอรับภาพ นั่นหมายความว่าภาพที่ปรากฏอยู่บนจอนั้นไม่ได้มาจากจอแต่มาจากตัวส่งข้อมูลผ่านกลไกการฉายภาพ หากนำมาเปรียบเทียบกับกลไกป้องกันตนเองแบบ Projection แล้ว คนอื่นก็คือจอภาพนั่นเอง


Projection ในความหมายทางจิตวิทยาคืออะไร?

Projection เป็นคำจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ Sigmund Freud โดยเป็นหนึ่งในกลไกป้องกันตนเองซึ่งเป็นกลไกที่จิตไร้สำนึก (unconscious) สร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องจิตใจของตนเอง (ego) จากความรู้สึกไม่สบายใจ กล่าวคือ เมื่อคนเราเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ เช่น กลัว กังวล รู้สึกผิด ก็จะเกิดกลไกป้องกันตนเองซึ่งกลไกของ Projection ก็คือเมื่อคนเรามีความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้นจากการมีความรู้สึกบางอย่างที่ตนเองเชื่อว่ามันไม่เหมาะสมหรือถูกปลูกฝังมาว่ามันไม่ดีที่จะรู้สึกนึกคิดแบบนั้น จิตไร้สำนึกจึงทำการฉายภาพความรู้สึกดังกล่าวที่เกิดขึ้นในจิตใจตนเองไปยังคนอื่น โดย Projection จะตรงกับสำนวนไทยว่า “รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง”


ยกตัวอย่างเช่น หญิงคนหนึ่งแต่งงานมีลูกเมื่ออายุยังน้อย เธอมีพฤติกรรมหาเรื่องสามีอยู่เป็นประจำว่าสามีไม่ต้องการเธอและลูก สามีอยากจะทิ้งเธอและลูกไปมีความสุขกับชีวิตอิสระ เมื่อนักบำบัดได้เข้ามาเอื้อให้เธอได้สำรวจโลกภายในของตนเองก็พบว่าที่จริงแล้วเป็นตัวเธอเองที่รู้สึกโกรธและไม่พอใจที่ตนเองจะต้องมีลูกตั้งแต่อายุยังน้อยทำให้เธอขาดอิสระ แต่เพราะสังคมได้สร้างกรอบนิยามว่าผู้เป็นแม่จะต้องทุ่มเทอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เวลาที่เธอรู้สึกเหนื่อยและเบื่อหน่ายกับการเป็นแม่ขึ้นมาเธอจึงรู้สึกผิด จิตไร้สำนึกของเธอจึงฉายภาพความรู้สึกเหนื่อยและเบื่อหน่ายกับการมีครอบครัวไปยังสามีของเธอแทน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสามีของเธอนั้นไม่เคยมีความคิดที่จะทอดทิ้งครอบครัวเลย


กลไกป้องกันตนเองแบบ Projection เกิดขึ้นจากอะไร?

กลไกป้องกันตนเองแบบ Projection มีความเชื่อมโยงกับการเรียนรู้เรื่องความ “ผิด/ถูก” โดยคนเราจะเริ่มใช้กลไกป้องกันตนเองในช่วงวัยเด็กตอนกลาง ซึ่งเป็นช่วงที่มนุษย์เริ่มมีพัฒนาการในเรื่องของความผิดชอบชั่วดี (conscience) ขึ้นมาแล้ว Projection ถือว่าเป็นกลไกป้องกันตนเองแบบแรก ๆ ที่ถูกนำมาใช้ เพราะมันเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจเรื่องของความดีความเลวแบบขาวกับดำ


ซึ่งความเข้าใจแบบนี้มักพบในวัยรุ่นตอนต้นจนถึงตอนกลาง และพบน้อยลงในวัยรุ่นตอนปลายเนื่องจากเป็นวัยที่สามารถพัฒนากลไกป้องกันตนเองแบบอื่นที่ healthy มากกว่า ส่วน Projection นั้นถือว่าเป็นกลไกป้องกันตนเองที่ไม่ healthy อย่างไรก็ตามแม้มันจะเป็นกลไกแบบไม่ใช้วุฒิภาวะ (immature defense mechanism) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่จะไม่ใช้มันเพราะจะต้องสักครั้งหนึ่งที่ต้องใช้มันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อปกป้องความรู้สึกของตัวเองจากสิ่งที่มันคุกคามอัตตา (sense of self)


เช่น กรณีผู้ใหญ่คนหนึ่งถูกเหน็บแนมว่าเป็นคนที่เข้าข้างคนคดโกงซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สังคมบอกว่าไม่ดี แต่ว่ามันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตนเอง(แต่ไม่อยากยอมรับ) จึงโต้ตอบอีกฝ่ายกลับไปอย่างเจ็บแสบว่าเป็นขี้ข้าโจร ทำให้มีผู้สังเกตการณ์หลายคนเกิดข้อสังเกตว่าทุกสิ่งที่เขาโต้ตอบไปนั้นมันเหมือนเขาพูดต่อว่าตัวเองไปหมดทุกอย่างเลย


ผลกระทบจากกลไกป้องกันตนเองแบบ Projection

กลไกป้องกันตนเองทุกแบบนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องคนเราจากความรู้สึกไม่สบายใจ ดังนั้น ในระยะสั้นมันจึงมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยลดความรู้สึกด้านลบ เช่น รู้สึกผิด หวาดกลัว วิตกกังวล แต่หากใช้บ่อย ๆ และใช้ไปนาน ๆ อย่างไม่ตระหนักรู้ในตนเอง กลไกการป้องกันตนเองแบบ Projection จะส่งผลต่อความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง เพราะคนที่มีพฤติกรรมแบบ “รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง” นั้นมักจะมีพฤติกรรมชอบ bully คนอื่น มีจิตใจริษยา


หรือเป็นคนที่กล่าวโทษคนที่ถูกกระทำ (victim blaming) ซึ่งโดยรวมแล้วก็เป็นพฤติกรรม toxic ที่ทำให้คนรอบข้างรู้สึกแย่ นอกจากนั้น บางแหล่งข้อมูลยังระบุว่ากลุ่มคนที่มีบุคลิกภาพผิดปกติมักจะใช้กลไกป้องกันตนเอง เช่น borderline, narcissistic, histrionic, and psychopathic personality disorders


ทำอย่างไรถึงจะรู้เท่าทันตัวเองได้ว่ากำลังใช้กลไกป้องกันตนเองแบบ Projection

กลไกป้องกันตนเองนั้นเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วและเกือบจะเป็นอัตโนมัติ ดังนั้นมันจึงเป็นความท้าทายอย่างมากในการที่จะเท่าทันและควบคุมมัน อย่างไรก็ตาม วิธีการเหล่านี้อาจช่วยคุณได้


1. ทำ self-reflection พยายามซื่อสัตย์กับตัวเองแล้วสำรวจว่าส่วนใหญ่แล้วตัวเองมักจะมีอารมณ์ความรู้สึกอะไรบ้าง และอะไรที่มักจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดในทางลบขึ้น เช่น ความรู้สึกไม่มั่นคง วิตกกังวล เพื่อจะได้รู้ว่าอารมณ์อะไรที่ควรรับมือกับมันอย่างมีสติ


2. พยายามมองตัวเองอย่างเป็นกลาง ฝึกถอยออกมามองอารมณ์ของตัวเองอย่างเป็นผู้สังเกตการณ์ ไม่ตัดสินตัวเอง ฝึกยอมรับและโอบกอดข้อผิดพลาดหรือด้านลบของเองเพื่อลดการผลักไสด้านลบของตัวเอง เมื่อเรายอมรับตัวเองอย่างที่เราเป็นก็จะทำให้เราโยนความผิดให้คนอื่นหรืออยากตำหนิคนอื่นน้อยลง


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] What Does It Mean To Project? A Psychological Defense Mechanism. https://www.youtube.com/watch?v=L4IbF0wNPKc


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comentarios


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page