ทำไมบางคนถึงไม่รู้สึกดีในเวลาที่เห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ
อารมณ์หนึ่งที่มักเกิดขึ้นเป็นปกติกับมนุษย์ทุกคนก็คืออารมณ์ “อิจฉา” แต่จะมีมากหรือน้อยรวมถึงเจ้าตัวจะยอมรับอย่างเปิดเผยหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งในบางคนอาจจะไปถึงขั้นที่เวลาเห็นเพื่อนร่วมงานได้เลื่อนตำแหน่ง เพื่อนคนหนึ่งประสบความสำเร็จ มีบ้านหลังใหญ่กว่า หรือสามารถหาเงินได้มากกว่า แทนที่จะรู้สึกดีใจไปด้วยแต่มันดันกลับกลายเป็นว่าเรื่องราวเหล่านั้นนำมาซึ่งความรู้สึกหดหู่ ไม่พอใจ หรือแม้กระทั่งอยากจะเห็นคนที่ประสบความสำเร็จเหล่านั้นล้มเหลว แต่ในขณะเดียวกัน พวกเรามักจะถูกสอนมาว่าการอิจฉาคนอื่นมันเป็นสิ่งที่ไม่ดีจึงทำให้เวลาที่รู้สึกอิจฉาก็จะรู้สึกไม่ชอบตัวเองขึ้นมาและเป็นการยากที่จะยอมรับว่าตัวเองกำลังอิจฉาคนอื่นอยู่
ทำความรู้จักกับ “Envious Mind” ความคิดที่นำพาไปสู่ความรู้สึกอิจฉา
- คน ๆ นั้นไม่สมควรที่จะได้รับมัน
- พวกเขาคงจะคิดว่าตัวเองเหนือกว่าฉัน(สินะ)
- พวกเขาเหนือกว่าฉัน
- ฉันทนไม่ได้ที่จะต้องอยู่ใกล้กับพวกเขา
- ฉันหวังว่าพวกเขาจะล้มเหลว
และนอกจากความคิดที่มีต่อคนอื่นอย่างที่ยกตัวอย่างไปข้างบนแล้ว มันก็ยังมีความคิดที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองอีกด้วย เช่น
- ความสำเร็จของคนอื่นมันทำให้ฉันรู้สึกด้อย
- ฉันมักจะรั้งท้ายคนอื่นเสมอเลย
- คนอื่นก็คงจะมองว่าฉันมันเป็นคนขี้แพ้
- ที่จริงแล้วฉันก็ควรที่จะได้มันเหมือนกัน (แต่ฉันไม่ได้)
พฤติกรรมอะไรบ้างที่สะท้อนว่ามีความอิจฉาเกิดขึ้น?
- ปฏิเสธที่จะร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จของคนอื่น
- รับรู้ได้ว่าตัวเองไม่มีความสุขเวลาที่อยู่ใกล้กับคนที่ประสบความสำเร็จ
- พบว่าตัวเองดีใจเวลาที่เห็นคนอื่นพ่ายแพ้หรือล้มเหลว
- ชอบจับผิดหรือตัดสินคนอื่นในทางลบ
- ชอบลดทอนหรือด้อยค่าความสำเร็จของคนอื่น
- รู้สึกแย่เวลาที่ได้ยินคนอื่นได้รับคำชม
- แสร้งทำเป็นชมคนอื่นแบบปลอม ๆ
- ปล่อยข่าวลือหรือให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับคนอื่น
- พยายาม ‘ก๊อบ’ ตัวตนหรือทำตัวแข่งกับคนที่ตัวเองกำลังรู้สึกอิจฉา
แม้ว่าอารมณ์อิจฉามันจะเป็นอารมณ์ของมนุษย์ทั่วไป แต่ถ้าหากมีมากจนเกินไปมันก็อาจจะย้อนกลับมากัดกินใจตัวเองได้ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่อยากถูกความอิจฉากัดกินตัวเองก็สามารถฝึกฝนตัวเองเพื่อให้คนที่มีความอิจฉาคนอื่นน้อยลงได้ ดังนี้
ท้าทายความคิดอัตโนมัติทางลบของตัวเอง โดยเริ่มจากการนำเอาหมวดหมู่ของความคิดที่ไม่สมเหตุสมผลมาเป็นหลักในการสำรวจตัวเองว่ามีความคิดอัตโนมัติทางลบที่เข้ากับหมวดหมู่นั้น เพื่อที่จะได้เอาความคิดแบบอื่นมาท้าทายความคิดเดิม เช่น
- คิดแทนคนอื่น (Mind Reading) เช่น “คนอื่นต้องคิดว่าฉันเป็นคนขี้แพ้แน่ ๆ” ความคิดทางเลือก “จริง ๆ แล้วคนอื่นก็อาจจะสนใจแต่เรื่องของตัวเองซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับฉันเลย”
- ลดคุณค่าสิ่งที่ดี (Discounting Positive) เช่น “ความสำเร็จของเขามันหมายความว่าสิ่งที่ฉันทำมันไม่มีค่าอะไรเลย” ความคิดทางเลือก “ชีวิตไม่ได้เป็น zero-sum game ที่มีคนแพ้คนชนะ ดังนั้น การที่คนอื่นประสบสำเร็จจึงไม่ได้แปลว่าฉันล้มเหลว” (ในชีวิตจริงมันสามารถมีคนที่ประสบความสำเร็จพร้อมกันได้หลายคนและอาจจะประสบความสำเร็จกันไปคนละด้าน)
- ทำนายอนาคต (Fortune Telling) เช่น “ฉันไม่มีวันที่จะประสบความสำเร็จได้แบบนั้น” ความคิดทางเลือก “การประสบความสำเร็จมันขึ้นอยู่กับการกระทำและระยะเวลา สิ่งที่เราทำไปมันก็ต้องมีสักอย่างที่สำเร็จได้ในสักวัน”
เปลี่ยนความรู้สึกอิจฉาให้มาเป็นพลังทางบวก มันอาจจะดูยากแต่จริง ๆ แล้วคุณสามารถใช้ความรู้สึกอิจฉามาเป็นจุดตั้งต้นในการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เช่น ถ้าคุณอยากได้รถคันใหม่บ้างก็อาจจะวางแผนการใช้จ่ายเพื่อให้คุณสามารถมีเงินมากพอที่จะออกรถคันใหม่ได้
ฝึกขอบคุณ (Gratitude) การขอบคุณจะช่วยบรรเทาความรู้สึกแย่ ๆ ที่เข้มข้นให้เจือจางลง การฝึกขอบคุณบ่อย ๆ จะช่วยให้คุณสามารถก้าวข้ามอารมณ์ลบ ๆ ของตัวเองไปได้ โดยวิธีการก็คือพยายามมองหาสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นกับตัวคุณเองในแต่ละวันเพื่อที่จะขอบคุณ
รู้เท่าทันตัวเองว่ากำลังรู้สึกอะไร แทนที่จะจมไปกับความรู้สึกอิจฉาอย่างไม่รู้ตัวก็พยายามถอยกลับมาทบทวนว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไรและคุยกับตัวเอง เช่น “สถานการณ์อะไรที่มักกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอิจฉาขึ้นมา” “มีใครบ้างที่ตัวเองกำลังรู้สึกอิจฉาอยู่” “อะไรที่มันทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกอิจฉา”
ลองชื่นชมยินดีกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วบ้าง เวลาที่กำลังอิจฉาในสิ่งที่คนอื่นมีหรือประสบความสำเร็จมันมักจะทำให้คุณหลงลืมไปว่าตัวเองมีอะไรอยู่แล้วบ้าง แต่จริง ๆ แล้วคุณเองก็อาจจะมีอะไรที่ดีหรือก็เคยประสบความสำเร็จอยู่บ้าง ลองหันกลับมาทบทวนในสิ่งที่ตัวเองมีและอย่าลืมที่จะชื่นชมยินดีกับมันบ้าง
เปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณด้วยตัวคุณเอง บางความอิจฉามันก็เป็นสัญญาณว่าคุณควรที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แล้ว โดยมันอาจจะเป็นการลองเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เปลี่ยนงานใหม่ หรือย้ายไปอยู่ที่อื่น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตมันเป็นทางเลือกที่คุณสามารถกำหนดให้กับตัวคุณเองได้
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอารมณ์อิจฉามันก็เกิดขึ้นมาจากสาเหตุปัจจัยที่ซับซ้อน หรือบางครั้งมันก็ไปลึกจนเกินกว่าจะถอนขึ้นมาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม หากคุณพบว่าอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเองมันดับได้ยากและมันเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของตัวเองก็ควรที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักจิตบำบัด เพื่อให้ตัวเองสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพและมีความสุขมากยิ่งขึ้น
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] Why It Doesn’t Feel Good When Someone Else Succeeds. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/intl/blog/anxiety-files/201804/why-it-doesn-t-feel-good-when-someone-else-succeeds
[2] Understanding the Characteristics of Envy and How to Grow Past It. Retrieved from https://www.healthline.com/health/relationships/characteristics-of-an-envious-person
[3] Signs of Jealousy (Envious). Retrieved from https://www.webmd.com/mental-health/signs-jealousy-envious
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments