เทคนิคเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานด้วยการกำหนด Deadline หลอกให้ตัวเอง
- Chanthama Changsalak
- Jul 13, 2023
- 2 min read
Updated: Feb 28

สุภาษิตโบราณว่า “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” ฉันใด “Deadline ไม่มา งานก็ไม่เกิดฉันนั้น” แล้วเพราะอะไร เราถึงมักจะขยันไฟลุกตอนใกล้ Deadline หรือกำหนดส่งงาน นั่นก็เพราะในงานศึกษาทางจิตวิทยา พบว่า เมื่อเราทำงานใกล้ Deadline เราจะมีแรงจูงใจเพิ่มขึ้นมามหาศาลอย่างไม่น่าเชื่อ
เนื่องจากร่างกายของเราจะหลั่งสารอะดรีนาลีน (Adrenaline) จากต่อมหมวกไต ส่งผลให้ร่างกายตื่นตัวอย่างเต็มที่ สามารถทำสิ่งที่ทำไม่ได้จนสำเร็จได้ เช่น อ่านหนังสือทั้งเล่มก่อนสอบในคืนเดียว หรือทำงานที่เคยใช้เวลาครึ่งวัน ให้เสร็จในครึ่งชั่วโมง เป็นต้น แต่ถ้าถามเรื่องคุณภาพงานก็อาจจะไฟลุก หรือลวก ๆ แต่กับคุณภาพชีวิตการทำงานแล้วละก็ต้องบอกเลยว่าย่ำแย่
เพราะการทำงานภายใต้ภาวะกดดันสูงเช่นนี้จะส่งผลให้ร่างกายตึงเครียด กล้ามเนื้อหลอดเลือดหัวใจทำงานหนักเกินไป หัวใจบีบตัวถี่ อัตราการเต้นของหัวใจพุ่งสูง ความดันเลือดทะลุเกณฑ์วัด ถ้าเป็นเช่นนี้นาน ๆ โรคหัวใจ โรคความดัน โรคเครียดก็จะตามมา
ถ้าการทำงานใกล้ Deadline ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจขนาดนั้น แล้วเพราะอะไรเราถึงยังต้องรออานุภาพแห่ง Deadline ถึงจะทำงาน นักจิตวิทยาก็ได้ไปค้นหาคำตอบมาค่ะ ว่า เพราะคนเรามีนิสัยหนึ่งที่มีอยู่ในตัวของเราทุกคน คือ “นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง” หรือศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกว่า Procrastination
คือ พฤติกรรมที่เรารู้สึกว่าสิ่งที่ต้องทำยังไม่จำเป็นต้องทำตอนนี้ จึงเลื่อนวัน เวลาในการทำงานไปเรื่อยจนถึง Deadline ที่ต้องส่งงานแล้วจึงจะขยันและลงมือทำแบบไม่ลืมหูลืมตาจนเสร็จในครั้งเดียว
นั่นจึงเป็นที่มาของการรออภินิหารแห่ง Deadline ซึ่งได้มีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้ทำการทดสอบพลังแห่ง Deadline โดยการแบ่งผู้เข้าทดสอบเป็น 2 กลุ่ม ให้ทำงานชิ้นหนึ่งด้วยระยะเวลาเท่ากัน โดยกลุ่มหนึ่งกำหนด Deadline ครั้งเดียว คือ เมื่อจบการทดลอง
ส่วนอีกกลุ่มแบ่งงานออกเป็นภารกิจย่อย ๆ และมี Deadline หลอกเป็นระยะ ผลการทดลอง พบว่า กลุ่มที่มี Deadline หลอกทำงานได้ดีกว่ากลุ่มที่มี Deadline เดียว เพราะกลุ่มที่มี Deadline เดียวจะขยันทำงานตอนใกล้จบ Deadline เท่านั้น ส่งผลให้งานที่ออกมาไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร
และจากการทดลองทางจิตวิทยา ของ Kristen Berman ร่วมกับ Platform ชื่อ kiva.org ซึ่งเป็น Platform สำหรับกู้ยืมสำหรับธุรกิจขนาดย่อม (SME) โดยการให้ผู้ยื่นกู้ กรอกแบบฟอร์มที่มีความยาว 8 หน้า โดยกลุ่มหนึ่งระบุ Deadline ชัดเจน แต่อีกกลุ่มไม่มี Deadline ผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่ไม่กำหนด Deadline กรอกแบบฟอร์มสำเร็จเพียง 20%
แต่กลุ่มที่มี Deadline สามารถกรอกสำเร็จได้ถึง 44% ด้วยเหตุนี้จากหนังสือ The Deadline Effect ทำงานสำเร็จได้ก่อนเดดไลน์เสมอ ของ Christopher Cox จึงได้แนะนำเทคนิคเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานด้วยการกำหนด Deadline หลอกให้ตัวเอง ด้วย 6 เทคนิค ดังนี้
1. เรียงลำดับงานตามความเร่งด่วน
หากคุณมีหลายงานที่ต้องทำ อันดับแรกสุดเลย คือ แบ่งงานตามความเร่งด่วน ว่างานไหนส่งหลังสุด งานไหนต้องทำด่วน ด่วนมาก ด่วนที่สุด เพื่อที่เราจะได้กำหนด Deadline ได้อย่างเหมาะสม และจะได้ส่งงานได้ทันตามกำหนดที่แท้จริง
2. กำหนด Deadline ก่อนวันส่งงานจริง 1 - 2 วัน
ในการสร้างแรงจูงใจในการทำงานเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพ เราควรที่จะตั้ง Deadline ไว้ก่อนกำหนดส่งงานจริงอย่างน้อย 1-2 วัน หรือหากสามารถแบ่งงานออกเป็นภารกิจย่อย ๆ ได้ ก็ลองแบ่งออกตามความเหมาะสม และตั้ง Deadline ของแต่ละภารกิจงานไว้ เพื่อให้มีแรงจูงใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น
3. หาผู้คุมงาน/ผู้ตรวจงานก่อนส่งงานจริง
สิ่งที่สามารถเพิ่มแรงจูงใจให้แก่สายชิว สายสบาย สายไม่เร่งรีบมากที่สุด ก็คือ การมีผู้คุมงาน หรือผู้ตรวจงานก่อนส่งงานจริง เมื่อมีคนคอยคุมงาน หรือการที่เรารู้สึกว่ามีคนรอตรวจงานจากเรา เราจะมีพลังในการทำงานให้เสร็จตามเวลาที่ตั้งไว้อย่างมาก
4. ทำงานให้เสร็จทีละชิ้นงาน
สำหรับเทคนิคการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ ทำงานทีละชิ้นงานให้เสร็จไปเป็นงาน ๆ เพื่อให้เราใส่ใจ และทุ่มเทพลังให้งานใดงานหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะจากประสบการณ์ตรงที่สังเกตทั้งตัวเองและเพื่อนร่วมงานมา หากรับงานซ้อน ทำงานพร้อมกันหลายอย่างทีไร เละทุกทีค่ะ งานออกมาทันเวลา แต่ไม่มีคุณภาพสักงาน
5. ทำอย่างสม่ำเสมอ
เคล็ดลับต่อมาที่เราจะสามารถเอาชนะ Deadline โดยการทำงานส่งก่อนกำหนดอย่างมีคุณภาพ ก็คือ การทำตามเทคนิคที่แนะนำข้างต้น ได้แก่ เรียงลำดับงานตามความเร่งด่วน กำหนด Deadline ก่อนวันส่งงานจริง 1 - 2 วัน หาผู้คุมงาน/ผู้ตรวจงานก่อนส่งงานจริง และทำงานให้เสร็จทีละชิ้นงาน อย่างสม่ำเสมอ แล้วเราจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเช่นนี้เป็นความเคยชิน กลายเป็นมาตรฐานในการทำงานของเราค่ะ
6. ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
และเทคนิคสุดท้ายที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ ต้องไม่ผัดวันประกันพรุ่งค่ะ เพราะความไม่รีบร้อน และความนิ่งนอนใจว่ากำหนดส่งยังอยู่อีกนาน ก็จะทำให้เราวางงานไว้ทำทีหลัง กว่าจะนึกขึ้นได้ก็เส้นตายอีกแล้วจ้ะ เพราะฉะนั้นหากเราไม่อยากเป็นคนไฟลุกในวัน Deadline ก็อย่าได้ผัดวันเลยค่ะ
การกำหนด Deadline หลอกให้ตัวเอง แท้จริงแล้วเราก็อาศัยพลังแห่ง Deadline หรืออานุภาพแห่งเส้นตายที่เราคุ้นชินมาปรับใช้นั่นเอง เพราะการกำหนดเส้นตายก็เหมือนกับเป็นการกำหนดจุดมุ่งหมาย (Set Goal) ในการทำงานให้กับตัวเราเอง เมื่อเรามีเป้าหมาย เราก็จะมีแรงจูงใจที่จะผลักดันตัวเองให้พุ่งชนงานจนสำเร็จได้ก่อน Deadline ค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
1. ณภัค ภูมิชีวิน. (2565, 30 มิถุนายน). ว่าด้วยพลังของ 'DEADLINE' ไม่เห็นเส้นตาย สมองไม่มา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2566 จาก https://www.altv.tv/content/pr/62bb58f074fa8bd56bcaf2d1
2. Christopher Cox. (2006).The Deadline Effect ทำงานสำเร็จได้ก่อนเดดไลน์เสมอ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ อมรินทร์ How To.
3. Reeracoen. (2002, 3 August). พลังแห่ง DEADLINE มีอยู่จริง หรือเราแค่ติดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2566 จาก https://www.reeracoen.co.th
4. Salary Investor. (2020, 15 กรกฎาคม). พลังแห่ง “Deadline” เพื่อความก้าวหน้าและพัฒนาตัวเอง!!!. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2566 จาก https://www.facebook.com/salaryinvestor/posts/1642104759272216/
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้