top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษา น้อยแต่มาก ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย



เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงจะเคยมีประสบการณ์การพูดคุยหรือระบายให้ใครสักคนฟัง และบางคนก็อาจจะเคยเป็นทั้งฝ่ายระบายทั้งฝ่ายรับฟังในคนเดียวกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็จะมีบางคนที่รู้สึกชอบการให้คำปรึกษารับฟังเรื่องราวความไม่สบายใจของคนอื่นแถมยังดูจะให้คำปรึกษาได้ดีเสียด้วย


อย่างไรก็ตาม การให้คำปรึกษาทั่ว ๆ ไปนั้นมีทั้งความเหมือนและความต่างกับการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่ทำโดยนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษา และแม้ว่ามันจะดีที่มีคนรับฟังการระบาย แต่การทำงานของนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษานั้นจะต้องมีหลักการ มีเป้าหมาย และคนที่ทำจะต้องเข้าใจจิตวิทยารวมถึงต้องผ่านการฝึกฝนทักษะการให้คำปรึกษามาอย่างเข้มข้นจนมีชั่วโมงฝึกบินมากพอถึงจะปฏิบัติงานจริงได้


นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาต้องทำอะไรบ้าง?

  • การช่วยเหลือผู้คนให้เพิ่มพูนสุขภาวะทุก ๆ ด้านโดยเน้นสุขภาวะทางด้านจิตใจ

  • การยกระดับผู้คนจากภาวะไม่เป็นสุข หรือภาวะทุกข์ (distress) ให้มีสมรรถนะในการดำรงชีวิตอย่างเต็มที่ อย่างสมบูรณ์ อย่างอิ่มเอม และเป็นสุข ตลอดจนการพาผู้คนดำเนินผ่านภาวะวิกฤต (crisis) ต่าง ๆ ในชีวิต

  • การเพิ่มพูนส่งเสริมการพัฒนาความงอกงามด้านจิตใจ (psychological growth)

  • การพัฒนารักษาเยียวยาทางด้านจิตใจ (psychological growth, support and healing) ในปัญหาทางอารมณ์ ทางจิตใจ หรือทางกายที่เชื่อมโยงมาถึงอารมณ์และจิตใจ หรือความไร้ระเบียบทางจิตใจ (mental disorders)


ทั้งนี้สมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทยได้ระบุไว้ว่า “งานบริการของนักวิชาชีพจิตวิทยาการปรึกษาครอบคลุมผู้คนทุกช่วงวัยและทุกพื้นฐานวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดสุขภาวะในจิตใจ ในการดำรงชีวิตและการงาน (career) ในการศึกษา และในสุขภาวะทางจิตใจ (mental health)”


คุณสมบัติของการเป็นนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษา

แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดให้นักจิตวิทยาการ(ให้คำ)ปรึกษาต้องมีใบประกอบวิชาชีพ แต่นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาก็ต้องทำงานภายใต้หลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง รวมถึงจะต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพอยู่เสมอ

ดังนั้น นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาจึงควรเป้นผู้ที่สำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญาสาขาจิตวิทยามาโดยตรง


โดยเฉพาะจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling psychology) เนื่องจากงานให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยานั้นเป็นงานที่เรียกว่า น้อยแต่มาก ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย กล่าวคือ การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยานั้นไม่จำเป็นต้องมีคำแนะนำสั่งสอนหรือพูดอะไรออกไปมาก แต่ทุกเทคนิคและกระบวนการที่ถูกใส่เข้ามาใน session การปรึกษาจะต้องเกิดประโยชน์ต่อผู้รับบริการเป็นอย่างมาก


ซึ่งบางเทคนิคนั้นดูเหมือนจะง่าย แต่กับบางคนอาจจะใช้เทคนิคนั้นได้ลำบาก โดยเฉพาะหากเทคนิคนั้นขัดต่อบุคลิกภาพส่วนตัว เช่น เป็นคนที่ติดสั่งสอนแนะนำและทนรับฟังคนอื่นพูดเยอะ ๆ ไม่ไหว ก็จะเกิดความรู้สึกอึดอัดใจเมื่อต้องรับฟังผู้รับบริการโดยไม่แทรกการแนะนำสั่งสอนออกไประหว่างที่ผู้รับบริการยังเล่าไม่จบ หรือเป็นคนที่เก็บความลับเอาไว้ไม่ไหว เวลาที่ฟังอะไรมาแล้วจะรู้สึกอึดอัดใจมากถ้าหากไม่ได้เล่าต่อ


นอกจากนี้ นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาจะต้องฝึกฝนตนเองจนมีมุมมองต่อผู้รับบริการอย่างให้คุณค่าและความสำคัญในความเป็นมนุษย์ และทำความเข้าใจปัญหาของผู้มารับบริการผ่านมุมมองด้านการพัฒนาการ นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาจึงจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานทางทฤษฎีที่มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์และพัฒนาการทุกด้านของมนุษย์


ทักษะความสามารถที่นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาควรทำได้

ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association: APA) ได้ระบุไว้ว่านักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาควรมีทักษะและความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทำงานอย่างน้อยในขอบเขตดังต่อไปนี้

  • การให้คำปรึกษา/การทำจิตบำบัดแบบรายบุคคล แบบกลุ่ม และแบบครอบครัว (Individual, family and group counseling and psychotherapy)

  • การดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤต ผู้ที่เผชิญกับเหตุการณ์เลวร้าย และผู้ที่มีบาดแผลทางใจ

  • การประเมินความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในเบื้องต้น

  • การให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตและปัญหาสุขภาพจิตในบริบทต่าง ๆ เช่น โรงเรียน ครอบครัว สถานประกอบการ โดยเน้นการทำงานเชิงป้องกันก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นหรือก่อนที่ปัญหาจะไปถึงระดับที่รุนแรง

  • การให้คำปรึกษาแก่หน่วยงาน/องค์กรต่าง ๆ

  • การจัดโปรแกรมการฝึกอบรม

  • การให้ความเห็นทางคลินิก*

  • การสร้างและการตรวจสอบความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ*

  • การศึกษาวิจัย*

หมายเหตุ: ข้อที่มี (*) เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน ซึ่งการปฏิบัติงานของนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาไทยอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากนี้


นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาทำงานกับผู้ป่วยจิตเวชหรือไม่?

ผู้รับบริการกลุ่มหลักของนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาจะเป็นบุคคลทั่วไปที่ยังไม่มีอาการป่วยทางจิตเวช ซึ่งหมายถึงบุคคลใดก็ได้ที่เกิดความรู้สึกไม่สบายแต่ไม่สามารถรับมือหรือจัดการกับปัญหาได้ตามลำพังอีกต่อไป จึงมีความต้องการที่จะพูดคุยกับคนอื่นเพื่อให้สามารถพบแนวทางในการออกจากปัญหาที่หลากหลายมากขึ้น


ได้รับการสนับสนุนให้กำลังใจ จนสามารถเกิดความเข้าใจในตนเองมากขึ้น นำไปสู่การจัดการปัญหาของตนได้อย่างสอดคล้อง และเหมาะสมกับความเป็นจริง รวมไปถึงสามารถค้นพบศักยภาพของตนเองและใช้ศักยภาพนั้นได้อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ และขยายทัศนะในการมองโลก และชีวิตก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองในทางที่ดี


อย่างไรก็ตาม อาจมีบางครั้งที่ผู้รับบริการมีปัญหาสุขภาพจิตที่จัดอยู่ในอาการป่วยทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ซึ่งผู้รับบริการกลุ่มนี้ควรได้รับการช่วยเหลือจากจิตแพทย์/นักจิตวิทยาคลินิก/นักจิตบำบัดควบคู่กันไป ซึ่งหากผู้รับบริการมีอาการที่มากจนไม่สามารถใช้การพูดคุยช่วยเหลือได้ นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาจะต้องมีความสามารถในการประเมินระดับความรุนแรงของอาการเพื่อแนะนำให้ผู้รับบริการได้พบจิตแพทย์และรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม


หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] สมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย https://www.thaicounseling.org/about

[3] จิตวิทยาการปรึกษา https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/counpsy

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยา

Komentáře


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page