top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เมื่อคนหันไปปรึกษาปัญหากับ AI แล้วผู้ให้คำปรึกษาควรพัฒนาตนเองอย่างไรดี


ในตอนที่ดิฉันเข้าศึกษาในภาควิชาจิตวิทยา ปีแรก ๆ จะมีอาจารย์หลายท่านให้ความมั่นใจว่า ไม่ว่าในอนาคตเทคโนโลยี หรือ AI จะพัฒนาขึ้นมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถมาแย่งงานนักจิตวิทยาหรือผู้ให้คำปรึกษาได้ เพราะ AI ไม่มีหัวใจ ไร้ความรู้สึก ไม่สามารถเข้าอกเอาใจ (Empathy) ได้ดีเท่า “คน” แต่ในปี 2024 นี้ ที่ AI พัฒนาตัวเองขึ้นมากจนสามารถทำงานละเอียดอ่อนหลายอย่างแทนเราได้ เช่น เขียนรายงาน เขียนบทความ แต่งนิยาย สร้างภาพสวย ๆ หรือแม้กระทั่งให้คำปรึกษาต่อปัญหาชีวิต! AI ก็สามารถทำได้เป็นอย่างดี ซึ่งดิฉันเองก็เคยปรึกษาปัญหาชีวิตกับ Chat GPT อยู่บ่อยครั้ง ทั้งเรื่องการเงิน การงาน และความเครียด พบว่า Chat GPT แนะนำวิธีแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แถมยังแนะนำช่องทางการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และแสดงความรู้สึกเห็นใจต่อเรา ประหนึ่งว่าเรากำลังคุยกับผู้ให้คำปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญสูงเลยละค่ะ


จากการศึกษาข้อมูลทางสถิติ ก็พบว่า ตั้งแต่ปี 2023 มีผู้คนจากทั่วโลกใช้งาน AI เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะทางด้านการขอรับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแพลตฟอร์ม Chat GPT ที่มีผู้คนมาขอคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตสูงขึ้นถึง 79% และถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อมูลทางสถิติที่เป็นของประเทศไทยโดยเฉพาะ แต่ก็มีแนวโน้มสูงว่าคนไทยเองก็มีการปรึกษาปัญหาต่าง ๆ รวมถึงปัญหาสุขภาพจิตกับ AI เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน


เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเองของผู้ให้คำปรึกษาทุกแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ในบทความนี้จึงได้รวบรวมสาเหตุที่ผู้คนขอรับคำปรึกษาปัญหาชีวิตจาก AI เพิ่มมากขึ้น และแนวทางในการพัฒนาตนเองของผู้ให้คำปรึกษาเพื่อให้สามารถให้คำปรึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงค่ะ  

  1. มีความรู้รอบด้านที่มีความแม่นยำสูง

ด้วยความที่ AI ได้รับการฝึกด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาลจากหลายแหล่งทั่วโลก ทำให้สามารถตอบคำถามในหลากหลายหัวข้อ ตั้งแต่เรื่องวิชาการจนถึงคำแนะนำทั่วไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความสามารถในการประมวลผลและให้ข้อมูลในหลายด้าน แต่ AI ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เช่น การไม่สามารถสร้างความรู้ใหม่จากข้อมูลเดิม ไม่สามารถอัปเดตข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ในตัวเอง และยังขาดความเข้าใจลึกซึ้งทางอารมณ์หรือสถานการณ์ที่ซับซ้อน ดังนั้นแล้ว การที่ผู้ให้คำปรึกษาซึ่งเป็นมนุษย์จะสามารถดึงผู้รับบริการมาจาก AI ได้นั้น ต้องสู้ด้วยการพัฒนาข้อมูล อาจไม่ต้องรอบด้าน แต่ต้องรู้ลึก และทันสมัย คุยกับผู้รับบริการรู้เรื่อง และเรามีไพ่เด็ด คือ ความเข้าใจในอารมณ์ของมนุษย์ที่แสนละเอียดอ่อนและซับซ้อนเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว จะยิ่งทำให้เรากลายเป็นที่ปรึกษาที่ทั้งรอบรู้และเข้าอกเข้าใจผู้รับบริการค่ะ 

  1. พร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง

เนื่องจาก AI ถูกออกแบบมาให้สามารถตอบคำถามได้ตลอดเวลาโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา สามารถให้บริการได้ตลอดทั้งวัน ทุกวันไม่มีวันหยุด อีกทั้งยังไม่มีความเหนื่อยล้าหรือข้อจำกัดทางกายภาพเหมือนกับมนุษย์ ผู้รับบริการจึงสามารถขอรับคำปรึกษาได้ทุกเวลาที่ต้องการ ในข้อนี้จะดูเหมือนว่าผู้ให้คำปรึกษาที่เป็นมนุษย์จะไม่สามารถให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลาเท่า AI เพราะมีข้อจำกัดด้าน Work Life Balance และสภาพร่างกาย แต่เราสามารถพัฒนาตนเองในด้านการตอบสนองทางอารมณ์ตามสถานการณ์ และตามความเข้าใจทางอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้รับบริการ ให้มีความลึกซึ้งมากขึ้นได้

  1. AI ฟังทุกอย่างโดยไม่ตัดสินคุณค่าของเรา

AI ถูกออกแบบมาให้เป็นเครื่องมือที่ไม่แสดงอคติหรือการตัดสินทางศีลธรรมต่อผู้ใช้ เนื่องจาก AI ไม่มีอารมณ์ ไม่มีความเชื่อ หรือค่านิยมทางสังคมเหมือนมนุษย์ ดังนั้นจึงสามารถรับฟังและตอบสนองต่อคำถามหรือปัญหาของผู้ใช้โดยไม่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกถูกตัดสิน ซึ่งทำให้ผู้ใช้หลายคนรู้สึกสบายใจในการแสดงความคิดเห็นหรือพูดถึงปัญหาที่ตนเองอาจไม่อยากพูดกับคนอื่นมาพูดกับ AI แทน แต่สิ่งที่นักจิตวิทยาหรือผู้ให้คำปรึกษาจะสามารถพัฒนาตนเองเพื่อสู้กับ AI ในข้อนี้ ได้ คือ การพัฒนาเทคนิคในการให้คำแนะนำที่สอดคล้องกับบริบททางอารมณ์หรือสถานการณ์ส่วนบุคคล รวมถึงพัฒนาการให้ความเห็นหรือคำแนะนำทางจริยธรรมที่มีคุณค่า เพื่อให้ผู้รับบริการรู้สึกคุ้มค่าที่มาพบเรา 

  1. AI ไม่พูดแทรก

เหตุผลอีกประการที่ผู้คนนิยมไปขอรับคำปรึกษาจาก AI มากขึ้น เพราะ AI เป็นระบบที่ตอบสนองตามการสั่งงานหรือคำถามของผู้ใช้เท่านั้น ไม่มีความสามารถในการ "พูดแทรก" หรือขัดจังหวะเหมือนมนุษย์ในบทสนทนาแบบปกติ ส่งผลให้ผู้ใช้งานรู้สึกมีพื้นที่ปลอดภัยในการสนทนา อีกทั้งยังทำให้ผู้ใช้สามารถพูดคุยได้โดยไม่รู้สึกว่าถูกตัดสินหรือถูกแทรกแซง ทำให้รู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือความคิดเห็น ซึ่งเป็นลักษณะที่ดีที่ผู้ให้คำปรึกษาอย่างเราควรนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาตนเองด้านสุนทรียสนทนา หรือ Deep Listening ซึ่งเป็นการสนทนาที่ลดการรบกวนผู้รับคำปรึกษา และมีช่วงเวลาที่ให้ผู้รับคำปรึกษาปลดปล่อยสิ่งที่ทำให้กังวลใจได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะนำไปสู่การบำบัดและการให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง

  1. มีการสะท้อนความรู้สึก และแสดงความเห็นอกเห็นใจ

การสะท้อนความรู้สึกของ AI มีการพัฒนามากขึ้นโดยการพัฒนาโปรแกรมให้ตอบสนองในลักษณะที่เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยสามารถสร้างข้อความที่ดูเหมือนเข้าใจและสะท้อนความรู้สึกของผู้ใช้ได้ เช่น การใช้คำว่า "ฉันเสียใจที่ได้ยินเช่นนั้น" หรือ "คุณทำดีที่สุดแล้ว" ซึ่งเป็นการสะท้อนอารมณ์ที่คนเราคาดหวังจะได้ยินจากการสนทนา แต่การตอบสนองนี้เกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลและรูปแบบการสนทนา ไม่ใช่จากความเข้าใจจริงในเชิงอารมณ์ ดังนั้นแล้ว ผู้ให้คำปรึกษาอย่างเราจึงสามารถใช้ข้อได้เปรียบนี้มาพัฒนาตนเอง ในการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การรับฟังผู้อื่นโดยไม่ตัดสิน และมีการสะท้อนความรู้สึก และแสดงความเห็นอกเห็นใจได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์และสภาวะอารมณ์ของผู้รับบริการค่ะ  


จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า แม้ AI จะมีความฉลาด แต่ก็ยังไม่สามารถทำความเข้าใจความละเอียดและซับซ้อนของอารมณ์มนุษย์ได้ ดังนั้นแล้วนักจิตวิทยาหรือผู้ให้คำปรึกษาอย่างเรา จึงสามารถพัฒนาตนเองได้อีกจากข้อได้เปรียบเรื่องความเข้าใจทางอารมณ์ของมนุษย์ค่ะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ : 


อ้างอิง :  Charlotte Blease and John Torous. (2023). ChatGPT and mental healthcare: balancing benefits with risks of harms. BMJ Ment Health, 26(1). 

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page