3 วิธี สร้างความเชื่อใหม่ เปลี่ยนชีวิตตลอดไป
ความเชื่อส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพ รวมไปถึงการใช้ชีวิตของเราเป็นอย่างมาก บทความนี้ จะนำเสนอ 4 ความเชื่อด้านลบที่พบเจอในผู้คนทั่วไป รวมถึงวิธีจัดการ
ความเชื่อหลัก (core beliefs) เป็นเสมือนหลักการในการดำเนินชีวิตของเรา ซึ่งความเชื่อหลัก สามารถเป็นได้ทั้งทางบวก และทางลบ ซึ่งความเชื่อทั้งทางบวกและทางลบก็ส่งผลกับชีวิตของเรา โดยเฉพาะความเชื่อทางลบจะส่งผลเสียกับเรา ไม่ว่าจะเป็น ข้อจำกัดของความสามารถของตัวเอง การมองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น
ความเชื่อหลักด้านลบต่อไปนี้ เป็นความเชื่อในด้านลบที่คนส่วนมากมี ได้แก่
1. ฉันไม่ได้รับการยอมรับ
การถูกปฏิเสธจากกลุ่มเพื่อน หรือแม้แต่ครอบครัวในวัยเด็ก ส่งผลต่อตัวตน และ ความเชื่อของคนคนหนึ่งได้เมื่อเขาโตขึ้น คนกลุ่มนี้มักหลีกเลี่ยงความสันพันธ์ เนื่องจากพวกเขากลัวการถูกปฏิเสธ หรือในอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ พวกเขาแสดงความพยายามอย่างมาก เพื่อที่จะได้รับการยอมรับจากกลุ่ม เป็นต้น
2. โลกน่ากลัว ไม่ปลอดภัย
ความเชื่อในด้านลบอีกความเชื่อหนึ่งที่ส่งผลให้เรารู้สึกวิตกกังวล และ พยายามหลีกหนีความเสี่ยง นั่นก็คือ ความเชื่อที่ว่าโลกมันน่ากลัว และไม่ปลอดภัย คนกลุ่มนี้จะไม่กล้าทำอะไรที่พวกเขารู้สึกว่ามีความเสี่ยง ต้องการคำยืนยันจากคนรอบตัวเสมอๆ เมื่อจะทำอะไรสักอย่าง และมักคิดถึงผลลัพธ์ในเรื่องต่างๆ ในด้านลบเกินความเป็นจริง รวมไปถึง ประเมินความสามารถของตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง
บทความแนะนำ “10 เทคนิคจัดการความรู้สึกด้านลบให้อยู่หมัด”
3. ฉันคือคนที่ล้มเหลว และไม่ดีพอ
คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าพวกเขาไม่เก่งพอ ไม่ดีพอ ซึ่งมักมาจากการที่พวกเขาถูกตำหนิจากคนเลี้ยง หรือจากการถูกรังแกในวัยเด็ก หรือ แม้แต่การถูกเปรียบเทียบกับคนอื่น ความเชื่อที่ว่าพวกเขาไม่ดีพอ พวกเขาคือความล้มเหลว จะทำให้คนกลุ่มนี้พยายามอย่างมาก เพื่อที่จะซ่อนแผลในใจของพวกเขา ในบางครั้งความเชื่อนี้ทำให้พวกเขาคิดว่า พวกเขาไม่คู่ควรกับความสำเร็จ พวกเขาไม่ได้ฉลาดหรือมีความสามารถแบบที่คนอื่นคิด แม้พวกเขาจะทำอะไรบางอย่างสำเร็จก็ตาม คนกลุ่มนี้มักจะชอบผัดวันประกันพรุ่ง เพราะพวกเขามีความกลัว และคิดว่า การที่ไม่ลงมือทำ พวกเขาแค่ไม่ได้ทำ แต่ไม่ได้ล้มเหลวแต่อย่างใด
4. ฉันต้องสมบูรณ์แบบ
ความเชื่อนี้มีความคล้ายคลึงกับความเชื่อในข้อ 3 ส่งผลอย่างมากต่อสุขภาพจิต รวมไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบตัวของพวกเขา คนที่มีความเชื่อว่าพวกเขาต้องสมบูรณ์แบบ มักจะมีความคาดหวังที่เกินจริง และมักที่จะมองจุดที่ผิดพลาด หรือ ไม่สมบูรณ์แบบที่เกิดขึ้น พวกเขาไม่รู้จักปล่อยวาง และ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีเวลาอยู่บ่อยๆ
หากคุณเป็นหนึ่งคนที่มีความเชื่อหลักที่ได้กล่าวมา บทความนี้มี 3 วิธีการที่จะช่วยสร้างความเชื่อใหม่ที่จะทำให้ชีวิตของคุณดีขึ้นมาฝากด้วยค่ะ
1. ค้นหาสาเหตุของความเชื่อจากเหตุการณ์ในอดีต
โดยส่วนมากแล้วความเชื่อของเรามักจะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในอดีต แม้ว่าพ่อกับแม่ของเราจะพยายามอย่างดีที่สุดตามความรู้ ความสามารถของพวกเขาในขณะนั้นแล้ว แต่บางครั้งการกระทำบางอย่างของพวกเขาก็อาจสร้างบาดแผลในใจของเราได้ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้จากคนอื่นๆ รอบตัวที่เราพบเจอเมื่อเติบโตขึ้นเช่นกัน ซึ่งบาดแผลนั้น กลายเป็นปมความเชื่อด้านลบที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของคุณอย่างมีความสุข และใช้ศักยภาพของคุณได้อย่างเต็มที่
วิธีการแก้ไข : พิจารณาความเชื่อด้านลบที่คุณมีอยู่ แล้วลองตรวจสอบว่า มันมาจากเหตุการณ์ใดในอดีจของเรา ตัวอย่างเช่น แม่ไปเคยไปงานโรงเรียนกับเราเลยในตอนเด็ก ทำให้เรารู้สึกว่า “เราไม่สำคัญ” ไม่ว่าแม่จะเคยพูดคำพูดนี้หรือไม่ก็ตาม หรือ พ่อแม่แยกทางกันตอนที่เรายังเด็ก และพ่อก็ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับเราอีกต่อไป ทำให้เรารู้สึกว่า “เราไม่คู่ควรกับความรัก” เป็นต้น
2. หาหลักฐาน
เราจะเชื่ออะไรได้ มักจะมีหลักฐานเพื่อยืนยันความเชื่อนั้นของเรา เช่น ถ้าเราเชื่อว่า “เราไม่ดีพอ” ให้เราลองพยามพูดกับตัวเองใหม่ในสิ่งตรงข้ามว่า “เราดีพอ” และหาเหตุผลว่าทำไมเราถึง “ดีพอ”
มาสนับสนุนความเชื่อในด้านบวกนั้นๆ ของเรา และในไม่ช้าคุณจะค่อยๆ ทำลายความเชื่อในด้านลบ และสร้างความเชื่อใหม่ในด้านบวกที่เข้มแข็งของคุณแทน
บทความแนะนำ “3 วิธีรักษาโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง"
3. มองโลกในแง่บวก
แน่นอน มนุษย์มีอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย บ่อยครั้งที่เราพยายามใช้เหตุและผลกับความเชื่อของเรา แต่ว่าไม่ได้ผลแต่อย่างใด เนื่องจากเรากำลังรู้สึกแย่ ให้พยายามมองโลกในแง่บวก
เมื่อเราเริ่มรู้สึกแย่ คิดถึงตอนที่เรารู้สึกดี แล้วเชื่อในความเชื่อด้านบวกของเรา และรู้สึกดีกับมัน
ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีความเชื่อด้านลบว่า “ฉันไม่ดีพอ” ให้คิดถึงช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่า “ตัวเราดีพอ” แล้วจินตนาการว่าเรารู้สึกดีแบบนั้นสักครู่หนึ่ง และบอกกับตัวเองว่า เราจะสามารถรู้สึกดีแบบนี้ได้อีก
อนุญาตให้ตัวเองเชื่อหลักฐานใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนความเชื่อในด้านบวก ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะได้เลือกเข้าสัมภาษณ์งานที่คุณอยากได้มากๆ แต่คุณรู้สึกว่า ที่คุณได้รับเลือกเป็นเพียงแค่ความบังเอิญเท่านั้น เขาคงไม่จ้างฉันหรอก เป็นต้น ให้คุณเปลี่ยนความคิดมาขอบคุณ และ ชื่นชมตัวเอง เช่น ขอบคุณโอกาสดีๆ ที่เกิดขึ้น ขอบคุณที่บริษัทมองเห็นความสามารถของเรา และต้องการที่จะคุยกับเรา แทนเป็นต้น
นอกจากนี้คุณยังสามารถเปลี่ยนความเชื่อโดยการลองวิธีการดังต่อไปนี้
- สร้าง vision board เพื่อสนับสนุนความเชื่อในด้านบวกของคุณที่คุณกำลังพยายามสร้างมันขึ้นมา
- รายล้อมตัวเองด้วยเพื่อน และ ครอบครัวที่ช่วยสนับสนุนให้คุณมีความเชื่อเชิงบวก เพื่อทำให้คุณใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ และมีชีวิตที่มีความสุข
- พิจารณาข้อมูล ข่าวสารที่ตัวเองเสพว่า มีส่วนทำให้เรามีความเชื่อในด้านลบหรือไม่ เช่น หากเรารู้สึกว่าโลกนี้ไม่ปลอดภัย เราก็ควรที่จะเลิกดูข่าวอาชญากรรม เป็นต้น
ความเชื่อมีผลสำคัญอย่างมากกับตัวเรา การพัฒนาศักยภาพ และ ความสุขในชีวิต แพรหวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้คุณสามารถกลับไปสำรวจความเชื่อของตัวเอง และปรับให้มันเป็นไปในแง่บวก อย่างไรก็ดีหากคุณไม่แน่ใจว่า คุณมีความเชื่อด้านลบอะไรที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของคุณอยู่ การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือ ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยคุณได้มากนะคะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
ประวัติผู้เขียน : อังคณา เกิดทองมี
ศึกษาด้านศิลปศาศตรมหาบัณฑิต (M.A.) สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (B.Eng.) สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยศิลปากร, และ Diploma of International E-Business, Hove College, Brighton, UK
มีประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งวิศวกรในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขั้นนำของโลกมากกว่า 5 ปี ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัทด้าน Data Science และเขียนบทความด้านจิตวิทยาให้กับบริษัท iStrong
Comments